Sunday, August 30, 2015

Tagged Under:

ทรัพย์แห่งภูพาน

By: news media On: 1:03 AM
  • Share The Gag

  • ห็ดที่ว่านี่เป็นเห็ดป่า อย่างเช่น เห็ดระโงก เห็ดน้ำหมาก ฯลฯ กำลังออกกันพรึบพรับเต็มป่าภูพาน ถนนสายนี้เป็นถนนสายเดียวที่ตัดผ่านกลางป่าภูพานที่เชื่อมสกลนครและกาฬสินธุ์ไว้ด้วยกัน ถนนสายคดโค้งจนขึ้นชื่อนี้ นำพาเราไปให้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวที่ชวนค้นหา และเคยซุกซ่อนอยู่ในป่าใหญ่ผืนนี้อย่างมากมาย นี่จึงเป็นเป้าหมายที่ผมมาตามหาบนเส้นทางสายนี้ อย่างน้อยป่าเต็งรังในป่าภูพานตอนนี้ก็กลายเป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นสินจากป่าที่อยู่ใกล้บ้าน เพราะเห็ดป่าที่หาได้ตอนนี้ เอามาใส่ใบตองตึง วางกองข้างทาง กิโลกรัมละนับร้อยบาททีเดียว


    เห็ดป่าพวกนี้ โดยปกติถ้าเป็นช่วงสิงหาคมต้องโรยไปแล้ว แต่ปีนี้ฝนมาช้าไปสองเดือน เพิ่งจะมาหนาตาเอาช่วงปลายเดือนกรกฎาคม พอต้นเดือนสิงหาคมจึงมีมหกรรมหาเห็ดดังกล่าว เห็ดเหล่านี้บางคนไม่กล้ากิน กลัวเมา แต่ชาวบ้านที่เขาดูเป็นหามาขาย เอามาล้างดินออก เอามาผัดน้ำมันหอยก็อร่อยเหาะ จะมีเมือกนิดหน่อยเคลือบกระเพาะได้เป็นอย่างดี แต่ชาวบ้านนิยมเอาไปแกงแบบแกงเปอะ ใส่น้ำปลาร้าเข้าไปก็อร่อยได้ ตอนผมเดินป่า แค่เอามาเสียบไม้ย่างไฟ ก็หอมฉุยอร่อยเกินบรรยาย นี่เป็นทรัพย์ในผืนป่าภูพานที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้


    เส้นทางสายนี้ร่มรื่น น่าขี่จักรยานแบบทางไกลมาก เพียงแต่ไหล่ทางแคบและทางคดโค้งแบบพับไปพับมามาก โดยเฉพาะตรงที่เรียกว่าโค้งปิ้งงู มันโค้งเสียจนพาลจะเมารถเอา เมื่อโค้งมากๆ ทางหลวงเขาเลยไปทำหลักกิโลใหญ่ๆ ไว้ให้คนพักรถมาถ่ายรูปกันเล่น กลายเป็นที่เที่ยวระหว่างทางไป
    ส่วนพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์นั้นยังคงเป็นมิ่งขวัญที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนสกลนครได้เป็นอย่างดี ผ้าไหมแพรวาของกาฬสินธุ์ที่เลืองชื่อ ก็ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯครั้งเสด็จประทับทรงงานที่พระตำหนักนี้นี่เอง พื้นที่ป่า ทั้งแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติภูพานที่แม้ไม่ติดอุทยานฯทำเงิน แต่ผมรับรองว่าเป็นอุทยานที่ติดอันดับความร่มรื่นอย่างมาก มีโอกาสผ่านไปทางนี้ทีไรเป็นต้องขอเข้าไปกางเต็นท์นอนทุกที สงบ เงียบ และน่าประทับใจ


    ป่าเต็งรังเป็นป่าหลักๆ ของที่นี่ ลานหินทราย ดอกไม้ดินหน้าฝนเป็นสิ่งที่พานพบได้ ด้านหลังลานกางเต็นท์ของอุทยานฯภูพานคือ ผานางเมิน ผาหินทรายที่สามารถมองเห็นความอุดมสมบูรณ์ของป่าภูพานได้สุดตา ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปไม่มากจะเป็นทางเข้าไปยังถ้ำเสรีไท ซึ่งต้องเดินเท้าไปอีกนับกิโลเมตรกว่าจะถึง ซ้ำไม่ค่อยสื่ออะไรด้วย หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของร่องรอยประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองบนป่าผืนนี้เท่านั้น แต่กับสะพานผีผ่าน ที่เป็นโค้งสะพานหินยาวร่วม 10 เมตร นั่นต่างหากที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนสนใจเรื่องทางธรณี และหน้าฝนแบบนี้ น้ำตกคำหอม ที่เป็นน้ำตกเล็กๆ แต่พอน้ำมาก มันก็เลยกลายเป็นแก่งน้ำที่น่าสนใจ อาจเผลอไผลลงแช่เล่นไม่รู้ตัว นี่คือทรัพย์จากรูปลักษณ์ของภูพาน


    ในป่าใหญ่ผืนนี้ซ่อน อ.กุดบาก เขตสกลนครไว้ภายใน โดยเฉพาะที่ตำบลกุดบาก ที่นี่มีทรัพย์ทางภูมิปัญญา เพราะที่นี่สำนักงานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(องค์กรมหาชน)หรือภาษาอังกฤษเขาย่อว่า BEDO เข้ามารวบรวมองค์ความรู้จากชาวบ้านที่ใช้ครามในการย้อมผ้า เป็นภูมิปัญญาที่แทบจะติดอยู่ในสายเลือดของผู้คนแถบนี้ BEDO เข้ามารวมกลุ่ม ให้เป็นระบบระเบียบ เอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ลงมาสู่ชาวบ้าน แล้วผลักดันให้ผ้าครามสกลขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเป็นเหมือนเครื่องการันตรีว่าถ้าผ้าครามจากสกลนี่แหละคุณภาพของจริง แล้วไปให้ชาวบ้านที่บ้านอุนดงเป็นทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามที่ตลาดต้องการมีแบรนด์ของตัวเองคือยี่ห้ออุนดงนี่แหละ แล้วส่งต่อให้ร้านครามสกล ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการทำตลาดนำพาผ้าครามสกลนครออกสู่สายตาคนทั้งโลก แม้กระทั่งหนังดังเรื่อง ทรอยส์ ยังใช้ผ้าครามจากสกลนครตัดเย็บให้เป็นเครื่องแต่งกายของนักแสดงในเรื่องมาแล้ว เอาความรู้และภูมิปัญญาพื้นๆ ที่แทบจะมองไม่เห็นมูลค่าเป็นตัวเงิน ออกมาให้เป็นมูลค่าที่แม้แต่ต่างชาติยังยอมรับ


    ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณเวลาเดินป่า มักเห็นต้นหมากเม่าออกผล เห็นก็เด็ดมากินให้ชุ่มคอเล่น แต่ที่บ้านโพธิ์ชัยพัฒนา ต.สร้างค้อ เขต อ.ภูพาน อดีตครูวัยเกษียณอย่างอาจารย์คณพ กลับใช้พื้นที่ในบ้านตัวเอง ไร่วรรณวงศ์” รวบรวมพันธุ์หมากเม่า โดยร่วมกับเทคโนโลยี่ราชมงคลสกลนคร คัดพันธุ์ แต่งพันธุ์ จนกระทั่งจากหมากเม่าพื้นเมืองกลายเป็นหมากเม่าพันธุ์ที่ให้ผลใหญ่ มีน้ำมาก มีรสหวานบางสายพันธุ์มีกลิ่นหอม พันธุ์ที่ได้รับความนิยมคือฟ้าประทาน สร้างค้อ 1 และ สร้างค้อ 2 แล้วเขาเอาหมากเม่าที่คัดสรรพันธุ์แล้วนี่เองมาทำไวน์หมากเม่า ยี่ห้อ Sang Kho Wine รวมทั้งน้ำหมากเม่าวรรณวงศ์ ซึ่งมีคุณค่าทางอาหารอย่างมาก


    สิ่งที่ผมจะบอกคือ เราสามารถแวะเข้าไปเที่ยวชม แล้วเดินชิมหมากเม่าสดๆ ในสวน (ออกผลราว ก.ค.-ก.ย.) เด็ดชิมแต่ละพันธุ์ได้เหมือนเราไปเที่ยวสวนเงาะ สวนทุเรียน แล้วจะทึ่งแบบผมว่า แม้แต่ผลไม้พื้นเมืองที่ดูไร้ค่าอย่างหมากเม่า เมื่อนำมาปรับแต่งและแปรรูป กลับกลายเป็นของมีมูลค่า ผมถามเกษตรกรที่เอาหมากเม่ามาขายให้ที่นี่ว่าไร่ต่อไร่กับการทำนา ปรากฏว่าหมากเม่าให้มูลค่าดีกว่า ก็ชนิดที่สุกเต็มร้อย กิโลกรัมละ 80 บาท แบบนี้ขี้เหร่ซะที่ไหน เพราะมีความต้องการผลผลิตมาก (ปีหนึ่งต้องการ 600 ตัน แต่ปลูกในบ้านเราได้แค่ 300 ตัน นอกนั้นต้องสั่งเข้าจากลาว) จึงมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูก


    นอกจากจะเป็นรายได้แล้วยังเพิ่มพื้นที่ป่าให้ป่าภูพานอีกด้วย ฟังแล้วก็เหลือเชื่อ แต่พอไปเห็นต้องเชื่อจริงๆ ทั้งครามทั้งหมากเม่าจึงเป็นทรัพย์สินในป่าที่คิดไม่ถึงว่าจะมีมูลค่าขนาดนี้ ยิ่งพอ BEDO เข้ามาช่วยในการจด GI ด้วยแล้ว จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าภายใต้หลักประกัน GI ป่าภูพานให้อาหาร(เห็ดป่า) ให้แหล่งท่องเที่ยว ยังให้สินทรัพย์ที่คาดไม่ถึงอีกด้วย ผ่านถนนสายนี้แวะไปชิมหมากเม่าได้ โดยโทรไปที่ 0 4216 3529 นอกจากให้ชิมฟรี บางทีอาจารย์คณพยังพาชมสวนอีกด้วย


    แม้ผมจะคิดว่าตัวเองรู้จักป่าภูพาน แต่ก็เป็นเพียงแง่มุม บางสถานที่ ป่าผืนนี้มีอะไรมากกว่าที่คาดไว้อีกเยอะ คราวหน้ายังมีอะไรของป่าภูพานที่ผมเพิ่งจะรู้ น่าสนใจ และไปตามดูเพื่อมาบอกท่านผู้อ่าน ภูพานยังมีของดีอีกเยอะครับ

    ที่มา,http://www.bangkokbiznews.com/

    0 comments:

    Post a Comment