กิจกรรมจากวัดพระธรรมกายเริ่มถูกคนต่อต้าน โดยผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ชาวระนองกว่า 200 คนรวมตัวกันบริเวณด้านหน้ามูลนิธิสหระนองสงเคราะห์ ถนนเฉลิมพระเกียรติ ต.บางริ้น อ.เมืองระนอง คัดค้านพระศูนย์ปฏิบัติธรรมกัลยาณมิตรสายวัดธรรมกาย จัดกิจกรรมตักบาตรมิตรภาพไทย-พม่า พระ 1,000 รูป ที่จะจัดขึ้นเวลา 06.00 น. วันที่ 1 มี.ค. เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์วัด 4 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากไม่พอใจเจ้าหน้าที่ปิดการจราจรบริเวณปากซอยระนองพัฒนา 1 ถึงปากซอยระนองพัฒนา 3 ระยะทางกว่า 400 เมตร เพื่อให้ฝ่ายผู้จัดงานจัดเตรียมพื้นที่ นำเต็นท์ เก้าอี้มาตั้งเตรียมจัดกิจกรรมในตอนเช้า เป็นเหตุให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้เส้นทาง ส่งผลถึงการจราจรติดขัดอย่างหนัก
อย่างไรก็ดี ภายหลังกลุ่มชาวบ้านเข้ารื้อแผงกั้นจราจร และเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลาย โดยสมาชิกเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังเหตุ จ.ระนอง และเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 เข้าตรวจสอบกลุ่มชายชาวพม่าที่เตรียมอุปกรณ์บริเวณพื้นที่จัดงาน พบชาวพม่าที่ไม่มีบัตรพาสปอร์ต และบัตรหมดอายุจำนวนหนึ่ง คุมตัวส่ง ร้อย ร.2521 ตรวจสอบ และต่อมา พ.ต.อ.อนุสรณ์ แช่มชื่น รอง ผบก.ภ.จ.ระนอง เชิญตัวแทนชาวบ้านและตัวแทนผู้จัดงานเจรจาหาข้อยุติที่ สภ.เมืองระนอง ซึ่งตัวแทนชาวบ้านยืนกรานไม่ให้จัดงานในพื้นที่ จ.ระนองเพราะหมดศรัทธาต่อพฤติกรรมการบอกบุญเรี่ยไรที่กำหนดให้ทำบุญเป็นชุด เรียกว่า กองบุญอุปถัมภ์กองละ 2,500-10,000 บาท และไม่พอใจในการปิดถนนสายเศรษฐกิจ ซึ่งการเจรจาต่อรองดำเนินไปนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดชาวบ้านยอมให้จัดงานได้ แต่ให้ย้ายไปจัดงานที่วัดวารีบรรพตหรือวัดบางนอน ต.บางนอน อ.เมืองระนอง ห่างจากจุดเดิมราว 5 กม. ซึ่งเมื่อถึงเวลาจัดงาน ก็มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและพม่ามาร่วมทำบุญตักบาตรอย่างเนืองแน่น ท่ามกลางตำรวจและทหารคุ้มกันเข้มงวดตั้งแต่ประตูทางเข้าวัด โดยไม่มีกลุ่มคัดค้านเข้ามาก่อเหตุตามที่ตกลง กันไว้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า งานในปีนี้ ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 4 กลับไม่พบหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมงานเหมือนทุกปี
ต่อมาเวลา 14.55 น. เฟซบุ๊ก Psanitwong Wuttiwangso และ sanitwong @Dham makaya ของพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ฝ่ายประชาสัมพันธ์ วัดพระธรรมกาย ได้โพสต์ภาพการตักบาตรพระไทย-พม่า 1,000 รูปที่ จ.ระนอง พร้อมข้อความว่า สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่ “สถานที่” ตักบาตรว่า เป็นถนน หรือ เป็นวัด หรือที่ไหน...สาระสำคัญ คือ ตรงไหนก็ได้ ให้ประชาชนทราบว่า ระนองมีการตักบาตรจะได้มาสั่งสมบุญกัน...ขอบคุณที่ช่วยกระพือข่าว “ตักบาตรระนอง” จนดังไปทั่วประเทศ เมื่อมีคนเห็นต่าง ก็ต้องมีคน “เห็นด้วย” คนจึงหลั่งไหลกันมา และเราได้สั่งสมบุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ คือ ทำทาน รักษาศีล 5 เจริญภาวนา...ได้ทำบุญครบแล้ว...ปีหน้า ให้เริ่มต้นที่ถนนเหมือนเดิม เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมงานในโค้งสุดท้าย และเฟซบุ๊กดังกล่าว ยังโพสต์ภาพการนำข้าวสารอาหารแห้งที่ได้จากโครงการตักบาตรทั่วไทย ที่จะนำไปมอบให้กับประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ครู ในพื้นที่ จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ด้วย
ส่วนการปฏิรูปพระพุทธศาสนา โดยคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ที่มีทั้งสงฆ์และองค์กรพุทธออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยนั้น พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีองค์กรทางพระพุทธศาสนาหลายแห่งแสดงจุดยืนเดียวกับ สนพ.ในการเรียกร้องให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา เห็นได้ชัดเจนว่าองค์กรทางพระพุทธศาสนาแต่ละแห่งต่างพร้อมใจกันออกมาแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องพระศาสนา ขอยืนยันว่าการที่ตนและองค์กรทางพระพุทธศาสนาต่างๆ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ไม่ใช่เพื่อวัดใดวัดหนึ่ง แต่เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา และตามที่ทาง สนพ.เรียกร้องให้มีการยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนาภายใน 15 วันนั้น หากพบว่ารัฐบาลและ สปช.ยังคงนิ่งเฉย ยืนยันได้เลยว่าจะมีกิจกรรมจากองค์กรทางพระพุทธศาสนาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญจะมีพระสงฆ์จำนวนมากมาร่วมเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อดลใจให้รัฐบาลมาร่วมแก้ไขปัญหากับคณะสงฆ์ ในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ซึ่งครบกำหนดวันตามคำเรียกร้องของ สนพ.แน่นอน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดสถานที่ ที่ชัดเจน เพื่อรอดูท่าทีของรัฐบาลและ สปช.ก่อน
พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวด้วยว่า อยากชี้แจงไปยังพระสงฆ์ทั่วประเทศว่าสิ่งที่ สนพ.และองค์กรทางพระพุทธศาสนาต่างๆ กำลังทำในขณะนี้ไม่ได้ปกป้องวัดใดวัดหนึ่ง แต่เพื่อปกป้องพระศาสนาและสังคมสงฆ์ เพราะวันนี้พระพุทธศาสนามีภัย อยากให้ออกมาร่วมกันปกป้องพระพุทธศาสนากับ สนพ. โดยยืนยันว่าจะไม่มีการทำอะไรนอกรีต ไม่มีการทำอะไรที่ผิดพระธรรมวินัยแน่นอน
ขณะที่คณะกรรมการสโมสรนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น และคณะกรรมการสภานิสิต มจร. วิทยาเขตขอนแก่น ก็ได้ออกแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปฯพระพุทธศาสนาเช่นกัน โดยระบุว่า ไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูป แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ที่เหมือนกับมีวาระซ่อนเร้นที่จ้องจะทำลายคณะสงฆ์ และการปฏิบัติของประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯพระพุทธศาสนา ก็ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่เคารพต่อพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า จึงกลัวว่าปัญหานี้บานปลาย และคณะสงฆ์แตกแยกยิ่งไปกว่านี้อีก
อีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะศิษยานุศิษย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ทำหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เรียกร้องให้ดำเนินการต่อไปนี้ 1.ในการร่างรัฐธรรมนูญ ขอเรียกร้องให้บัญญัติว่า “การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” และขอให้แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตราอื่น ให้บัญญัติตามพระธรรมวินัยว่า “ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา” มิใช่ “ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” 2.คัดค้านการออกกฎหมายปกครองสงฆ์ที่ขัดต่อพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ดีแล้ว เพื่อมิให้เกิดสังฆเภทอันเป็นกรรมหนักที่สุดในพระพุทธศาสนา โดยหากมีการถวายคืนพระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นของพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์แล้ว การวิ่งเต้นเพื่อต้องการได้ “ยศช้างขุนนางพระ” จะลดน้อยลงไป การจะตั้งองค์กรใดมาควบคุมย่อมไม่สำคัญเท่ากับได้คนดีมาปกครองประเทศ ได้พระดีมาปกครองสังฆมณฑล เพราะเราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่สามารถทำให้พระทุกรูปเป็นพระดีได้ ประเทศ ไทยมีองค์กรจำนวนมากทั้ง ปปง. ป.ป.ช. สตง. ก็ยังไม่สามารถปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันของนัก การเมืองและข้าราชการได้ ดังนั้น การเอาองค์กรประเภทนี้เข้ามาก้าวล่วงเรื่องของสงฆ์ ซึ่งมีพระธรรมวินัยเป็นองค์แทนของพระศาสดาก็ย่อมสุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาใหม่ที่บานปลายหนักยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การที่จะบัญญัติกฎหมายให้เข้าไปตรวจสอบเงินของวัดนั้น ขัดต่อพระธรรมวินัยชัดเจน แม้พระพุทธเจ้าจะบัญญัติมิให้พระภิกษุมีความยินดีในสมบัติเงินทอง แต่ก็บัญญัติให้พระสงฆ์ปกครองกันเอง เช่น สมบัติของสงฆ์ในแต่ละวัดไม่ว่าจะเป็นลหุภัณฑ์หรือครุภัณฑ์ ให้เป็นหน้าที่และเป็นอำนาจของพระวัดนั้น มีสมภารเป็นหัวหน้าเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยข้อนี้ หากพระรูปใดได้ทรัพย์นั้นมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถูกดำเนินคดีได้ในทันที ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการเข้าไปแทรกแซงทุกวัด ซึ่งเท่ากับก้าวล่วงพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง การจะฉกฉวยจากปัญหาวิกฤตการณ์ในสังฆมณฑล ตั้งฆราวาสมาปกครองสงฆ์นั้น เริ่มต้นแม้จะเป็นความปรารถนาดี แต่เป็นการเปิดช่องให้พระพุทธศาสนาถึงแก่กาลอวสาน คณะศิษยานุศิษย์ขององค์หลวงตาพระมหาบัว จึงขอยืนยันการคัดค้านดังกล่าว
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนา สปช.กล่าวว่า ขอยืนยันการออกมาเปิดประเด็นตรวจสอบสถาบันสงฆ์เพราะเป็นห่วงสถาบันพระสงฆ์และกิจการพระพุทธศาสนา ขนาดพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชและมติของเถรสมาคม ที่ระบุชัดว่ากรณีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเข้าข่ายปาราชิกแล้ว แต่เจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะจังหวัดกลับขัดพระลิขิตดังกล่าว หากเป็นเรื่องทางโลกก็เหมือนกับผู้ว่าราชการและนายอำเภอขัดคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและ ครม. จะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อยากให้สังคมร่วมกันตรวจสอบ โดยเฉพาะคนที่ออกมาบิดเบือนข้อมูล ถ้าไม่ผิดก็ออกมาให้ตรวจสอบเลยไม่ต้องกลัว ส่วนการกล่าวหาว่าพวกตนทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองแน่นอน แต่ทำตามหน้าที่อย่างจริงใจ และจะทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป ไม่หวั่นไหว อยากถามกลับไปว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้ทำลายศาสนาเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็ดูออก
อย่างไรก็ดี วันเดียวกัน สถาบันบัณฑิตพัฒน– บริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพลล์” เรื่อง “การปฏิรูปพุทธศาสนา” กรณีศึกษาจากประชาชนชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธทั่วประเทศจำนวน 1,249 ตัวอย่าง โดยความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการปฏิรูปพุทธศาสนาทั้งระบบ พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.60 ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน รองลงมา ร้อยละ 24.34 ระบุว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ แต่ไม่เร่งด่วน ร้อยละ 19.30 ระบุว่า ไม่มีความจำเป็นในการปฏิรูปพุทธศาสนาเลย
ขณะที่ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานของมหาเถรสมาคมเพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและปกครองคณะสงฆ์ พบว่าร้อยละ 10.49 ระบุว่า มหาเถรสมาคมดำเนินงานเพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและปกครองคณะสงฆ์มีประสิทธิภาพสูง ร้อยละ 25.30 ระบุว่า ดำเนินงานค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 33.87 ระบุว่าดำเนินงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และร้อยละ 19.13 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพเลย
ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการธุดงค์ในเมือง หรือการเดินธุดงค์ธรรมชัยของวัดพระธรรมกาย พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.50 ระบุว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะจัดงานเอิกเกริกเกินไป ไม่ควรเดินธุดงค์ในเมือง ควรเดินในป่าหรือที่ไม่ใช่ในเมือง อีกทั้งยังมีเรื่องของการบริจาคเงินเข้ามาจนกลายเป็นพุทธพาณิชย์ และไม่แน่ใจว่าต้องการอะไรจากสังคม บางครั้งการแสดงออกหรือการกระทำบางอย่างค่อนข้างบิดเบือนไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ขณะที่ร้อยละ 13.77 ระบุว่าเป็นกิจกรรมที่เหมาะสม เพราะมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย และถือเป็นสิทธิที่จะทำได้ ไม่น่าจะขัดหลักของศาสนา ร้อยละ 2.88 ระบุว่า เฉยๆเป็นเรื่องของวัด/พระสงฆ์ แล้วแต่จะทำกิจกรรมใดๆ
ที่มา,http://www.thairath.co.th/
0 comments:
Post a Comment