Monday, March 14, 2016

Tagged Under:

ไทยพร้อมก้าวสู่มาตรฐานรายงานทางการเงินสากลเต็มรูปแบบ

By: news media On: 8:02 PM
  • Share The Gag
  • 12มี.ค.2559) - ประเทศไทย เยี่ยม!! ก้าวสู่...มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบ เทียบเคียง 140 ประเทศทั่วโลก ยกระดับความน่าเชื่อถือและสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติตัดสินใจหอบเงินลงทุนเข้าไทยง่ายขึ้น ดันเศรษฐกิจพุ่งไปข้างหน้ารับเปิดการค้าเสรี ไม่รอช้า!! “ประธานมาตรฐานบัญชีโลก” บินตรงเข้าไทย ชื่นชมรายงานทางการเงินของไทยมีมาตรฐานที่ดี เอื้อไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นน่าลงทุนลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชีย พร้อมเข้าร่วมงาน Thailand IFRS Conference 2016 การประชุมมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพฯ

    นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ในวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม 2559) กรมฯ ร่วมกับ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และ คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IASB) แถลงทิศทางของประเทศไทยที่จะก้าวสู่...มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS : International Financial Reporting Standards) ที่ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานการรายงานทางการเงินและส่งเสริมให้รายงานทางการเงินของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุนมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ต้อนรับการเปิดการค้าเสรีของโลกที่กำลังเกิดขึ้นใจปัจจุบัน”

    “รายงานทางการเงิน นับเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งนักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการในตลาดทุนล้วนให้ความสนใจในบทวิเคราะห์งบการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการที่ต้องการเข้าร่วมลงทุน ทั้งนี้ “รายงานทางการเงินที่ดี” ต้องมีรูปแบบที่อ่านและเข้าใจได้ง่าย สามารถสะท้อนรายการธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการซื้อ-ขายในแต่ละวัน หรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และต้องมีรูปแบบตรงตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในกิจการนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยจะสามารถก้าวเข้าสู่...มาตรฐานการรายงานทางการเงินสากลอย่างเต็มรูปแบบด้วยความภาคภูมิ”

    “นอกจากนี้ กรมฯ ได้มีการเชื่อมโยงมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ เข้ากับระบบนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมฯ (DBD e-Filing) ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถนำข้อมูลงบการเงินที่ได้มาตรฐานไปทำการวิเคราะห์และประเมินทิศทางแนวโน้มของธุรกิจได้ทันที นับเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ได้เปรียบคู่แข่งขันแบบทวีคูณ ซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์ของโลกธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องการข้อมูลด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างทันท่วงที”

    ในโอกาสนี้ มร.ฮันส์ ฮูเกอร์วอรสท์ (Mr. Hans Hoogervorst) ประธานกรรมการมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ (IASB Chairman) ได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อร่วมแสดงความยินดีในครั้งนี้ด้วย และได้กล่าวว่า “ขอให้การสนับสนุนแก่ประเทศไทยที่จะก้าวสู่มาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) และขอชื่นชมรายงานทางการเงินของประเทศไทยที่มีมาตรฐานที่ดีเทียบเท่ามาตรฐานรายงานทางการเงินสากล ซึ่งรายงานทางการเงินที่ได้มาตรฐานนี้ จะเอื้อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่โดดเด่นน่าลงทุนในลำดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของ IFRS เกิดขึ้นทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละปีด้วย ส่งผลให้งบการเงินที่จัดทำขึ้นตามข้อกำหนดใหม่ของ IFRS อาจเปลี่ยนไป เพื่อให้สะท้อนข้อมูลฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของกิจการที่แท้จริง และจะนำมาซึ่งข้อมูลที่สามารถสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมได้อย่างแท้จริง”

    นายประสัณห์ เชื้อพานิช นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “สภาวิชาชีพบัญชีเป็นองค์กรวิชาชีพบัญชีของประเทศที่เป็นผู้กำหนดและประกาศใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับ IFRS ประเทศไทยมีเป้าหมายในการประกาศใช้ TFRS ช้ากว่า IFRS ไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ใช้กันโดยทั่วไปในสากล และถือว่าประเทศไทยมีทิศทางที่ชัดเจนในการก้าวเข้าสู่มาตรฐานการรายงานทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ”

    “การใช้ IFRS จะทำให้รายงานทางการเงินมีความโปร่งใส เปรียบเทียบกันได้ ให้กรอบในการเปิดเผยข้อมูลที่ผู้ใช้สามารถนำไปตัดสินใจ สร้างความเชื่อมั่น ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของตลาดทุนไทย และนอกเหนือจากตลาดทุนแล้ว สภาวิชาชีพบัญชีก็ยังผลักดันให้บริษัทนอกตลาดทุนมีมาตรฐานการจัดทำรายงานทางการเงินที่ดี เป็นที่ยอมรับ และสามารถอ้างอิงได้ เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ”

    “สภาวิชาชีพบัญชีมีกระบวนการที่เป็นระบบในการพิจารณา ศึกษาผลกระทบ และจัดการสัมมนาพิจารณ์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานฉบับใหม่ๆ รวมถึงการจัดให้มีการอบรมสัมมนาเพื่อให้มั่นใจว่าผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจในการนำมาตรฐานไปใช้”

    นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า “การยกระดับความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงินให้มีมาตรฐานเทียบเคียงกับสากล เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ตลาดทุนไทยพร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีสากล และเนื่องจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินของ International Financial Reporting Standards (IFRS) มีการปรับปรุงอยู่เสมอ บจ.จึงต้องมีความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และจัดทำรายงานทางการเงินที่มีความน่าเชื่อถือและอยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุน”

    และในวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2559 นี้ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ IFRS Foundation สำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาครั้งยิ่งใหญ่ งาน Thailand IFRS Conference 2016 ระหว่างเวลา 09.00 - 17.30 น. ณ โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจการบัญชีและการศึกษา จะได้ทราบถึงทิศทางและแผนการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานการรายงานทางการเงินในอนาคต ตลอดจนทราบถึงประเด็นในทางปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการรายงานทางการเงินสู่หลักการมาตรฐานสากล และการเตรียมความพร้อม โดยได้รับเกียรติจาก มร.ฮันส์ ฮูเกอร์วอรสท์ ประธานกรรมการมาตรฐานบัญชีระหว่างประเทศ (IASB Chairman) และ IASB Member หลายๆ ท่าน นายประสัณห์ เชื้อพานิช นายกสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจชั้นนำของประเทศ เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการ ตลอดจนประเด็นทางด้านบัญชีในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน การจัดสัมมนางาน Thailand IFRS Conference 2016 หรือ การประชุมมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการจัดงานฯ

    ทั้งนี้ IFRS จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standards Board : IASB) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกทวีปทั่วโลก ได้แก่ ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย-โอเชียเนีย ทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ รวมจำนวน 14 คน โดยมีประธานคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศคนปัจจุบัน คือ มร.ฮันส์ ฮูเกอร์วอรสท์


    ที่มา:siamturakij

    0 comments:

    Post a Comment