Tuesday, June 28, 2016

Tagged Under:

สัปดาห์แห่งความตื่นเต้นกับสหราชอาณาจักร....สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ "ฉบับที่ 41"

By: news media On: 2:16 AM
  • Share The Gag
  •  มาถึงวันนี้ ขณะที่ท่านผู้อ่านกำลังใช้สายตาจับจ้องบทความชิ้นนี้ เชื่อว่า ผลของการลงประชามติของชาวสหราชอาณาจักรทั้งประเทศ ต่อการลงประชามติว่า จะออกหรือไม่ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป คงจะทราบกันหมดแล้ว แต่ขณะที่ผมกำลังปั่นต้นฉบับให้กับท่านผู้ฟังอยู่ในวันนี้ ยังมิทราบผล ทั่วทั้งโลกต่างยังระทึกกันอยู่ว่า ผลการลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนนั้นจะออกมาอย่างไร
          นายจอร์จ โซรอส เจ้าของฉายาพ่อมดการเงิน อันเป็นนักลงทุนรายใหญ่ชื่อดังของโลก ผู้เคยขย่มประเทศไทยจนเกิดภาวะวิกฤติ ส่งสัญญาณด้วยการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนออกมาในขณะที่ผมกำลังปั่นต้นฉบับอยู่ว่า หากผลการลงประชามติระบุว่า สหราชอาณาจักรต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ค่าเงินปอนด์ สเตอริง ของสหราชอาณาจักรจะอ่อนค่าลงถึง 20%  เชื่อว่า ขณะนี้ ท่านผู้อ่านคงจะทราบแล้วว่า ลดลงอย่างแรงเช่นนั้น จริงหรือไม่ หรือว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เนื่องจากสหราชอาณาจักรยังคงอยู่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป
          ทั่วทั้งโลกต่างกังวลกับเหตุการณ์นี้มาก เนื่องจากเชื่อว่า หากสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่ทำการค้าขายเป็นจำนวนมากกับสหราชอาณาจักรและยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เราต่างรู้จักกันดี อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งทุกประเทศในยุโรป ทั้งที่อยู่ในสหภาพยุโรปและมิได้อยู่ในยุโรป และรวมถึงประเทศในอาเซี่ยนของเราเอง มิว่าจะเป็นมาเลเซีย หรือสิงคโปร์
          ภาพที่ยืนยันถึงสิ่งเหล่านี้ก็คือ การประชุมของคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาหรือ เฟด เมื่อวันที่ 14-16 มิถุนายน หรือสัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการลงประชามติเพียงสัปดาห์เดียว คณะกรรมการ FOMC หรือคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ที่ระดับเดิม ด้วยเหตุผลสำคัญที่ระบุว่า เพื่อรอดูผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะออกมาเช่นไร
          ในขณะที่การประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางของญี่ปุ่น(BOJ)ในวันที่ 17 มิถุนายน หรือหลังจากการประชุมของเฟดเพียงวันเดียว คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด ด้วยการไม่ลดดอกเบี้ย ไม่ออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในการประชุมรอบนี้ ทั้งๆที่ตลาดคาดการณ์กันว่า BOJ หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินออกมา ตามคำขู่ของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า ปัญหาค่าเงินเยนที่แข็งค่ามากเกินไป จากการเข้าซื้อด้านเดียวของนักลงทุนทั่วโลก กำลังส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะที่อ่อนแอ ผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางของญี่ปุ่น ที่ออกมาในลักษณะที่ไม่เคลื่อนไหวใดๆเช่นนี้ ก็เนื่องจากว่า ต้องการรอดูผลการลงประชามติของชาว
    สหราชอาณาจักร เช่นกัน และเช่นเดียวกันกับธนาคารกลางสวิส และธนาคารกลางอังกฤษ ที่มีการประชุมกันในช่วงดังกล่าว ต่างรอคอยความชัดเจน จากผลการลงประชามติครั้งนี้ทั้งหมด
          ดังนั้น ผมจึงบอกอยู่เสมอว่า การลงประชามติของสหราชอาณาจักรรอบนี้ สำคัญกับโลก สำหรับประเทศไทยมีการค้ากับสหราชอาณาจักรค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการค้าต่างประเทศทั้งหมดของไทย โดยประเทศไทยมีการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรแค่เพียง 1.3% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของไทยเท่านั้น ดังนั้น ผลกระทบจากการส่งออกคาดว่าไม่มาก
          อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบในทางอ้อม นั่นก็คือ เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรตกต่ำจนถึงกับเผชิญกับภาวะถดถอย และเศรษฐกิจของยุโรปทรุดฮวบกลับไปอยู่ในภาวะที่หดตัวอีกครั้ง ดังที่คาดการณ์กันก่อนหน้านี้ จะส่งผลกระทบอย่างแรงต่อจีนซึ่งมีสหภาพยุโรปเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของตนเอง เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยทั้งสิ้น เหมือนดั่งที่เราเห็นเศรษฐกิจของจีน และญี่ปุ่น ชะลอตัวในทุกวันนี้ ถึงกับทำให้ยอดการส่งออกของไทยติดลบมานานนับกว่า 2 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว
         ดังนั้น ประเทศไทยจึงมิอาจจับตาสถานการณ์ Brexit นี้ได้เช่นกัน รวมทั้งผู้ประกอบการของไทยที่ทำการค้าอยู่กับสหราชอาณาจักร หากเป็นการทำการค้ากันด้วยเงินปอนด์สเตอริง น่ากังวลอย่างมาก เนื่องจากหาก ค่าเงินปอนด์สเตอริงของสหราชอาณาจักรอ่อนค่าลงถึง 20% ดั่งที่นายจอร์จ โซรอส ว่า ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการของไทยเสียหายอย่างหนัก ถึงขนาดล้มทั้งยืนได้
         ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการลงทุนโดยตรง(หมายถึงการลงทุนเพื่อการผลิตและทำธุรกิจ มิใช่การลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้)จากสหภาพยุโรป ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบแน่ เนื่องจากสหภาพยุโรปมีการลงทุนโดยตรงในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนราวๆ 17% เป็นระดับเดียวกับกลุ่มประเทศอาเซียน หากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอีกครั้ง การลงทุนด้วยมูลค่าเหล่านี้จะหดลดลง ซึ่งส่งผลค่อนข้างมากกับประเทศไทย ซึ่งในยามนี้ การลงทุนภาคเอกชนเผชิญกับการหดตัวอยู่แล้ว
           ส่วนทางด้านการท่องเที่ยว ทั้งสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร รวมกันแล้วจะมีสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 20% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ถ้าสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป จะส่งผลให้ทั้งเงินปอนด์และยูโร อ่อนค่าลงราว 15-20 % ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวแน่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวในประเทศไทยจะแพงขึ้น เหมือนเช่นดั่งที่รัสเซียเคยเผชิญก่อนหน้านี้ คงจะจำกันได้ว่า สกุลเงินของรัสเซียอ่อนค่าลงถึง 70% นักท่องเที่ยวรัสเซีย หายเกลี้ยง!


    ที่มา: siamrath

    0 comments:

    Post a Comment