Thursday, June 9, 2016

Tagged Under:

หอการค้าไทยเผย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดรอบ 8 เดือน

By: news media On: 6:03 PM
  • Share The Gag
  • หอการค้าไทยเผย ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดรอบ 8 เดือน สาเหตุหลักยังไม่เห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจชัดเจน ชี้ต้องรัฐเร่งลงทุนโครงการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม เร่งเบิกจ่ายการลงทุน เพราะจำเป็นต้องเรียกความเชื่อมั่นฯกลับคืนมาให้ได้ ด้านดร.สมคิด บอกดีใจ ธนาคารโลกปรับเพิ่มจีดีพีไทย เผยหากบ้านเมืองสงบ การลงทุนจะดีขึ้น ยอมรับไม่ประมาท ภาวะตลาดโลกยังผันผวน

    นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนพ.ค. 2559 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อยู่ที่ 72.6 ปรับลดลงจาก 72.7 ในเดือนก่อน เป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 8 เดือน โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน อยู่ที่51.9 ลดลงจาก 53.1 ในเดือนก่อนหน้า และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 80.9 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 80.5 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน แต่ในอนาคตประชาชนมีมุมมองในเชิงบวกเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เพราะเชื่อในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก และราคายางพาราให้ปรับขึ้น

    สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 61.1 ปรับลดลงจาก 61.5 ในเดือนก่อนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 67.7 ปรับลดลงจาก 68.0 ในเดือนก่อน และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 89.0 ปรับเพิ่มจาก 88.5 ในเดือนก่อน เพราะประชาชนเชื่อว่าในอนาคตเศรษฐกิจจะดีขึ้น

    ส่วนภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในการซื้อรถยนต์คันใหม่ การซื้อบ้านหลังใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว และการลงทุนทำธุรกิจ(SMEs) ในปัจจุบัน ยังคงปรับตัวลดลงในทุกดัชนี ขณะที่ภาวการณ์ทางสังคมของผู้บริโภค ทั้งความสุขในการดำเนินชีวิต ภาวะค่าครองชีพ ปัญหายาเสพติด และสถานการณ์ทางการเมือง ก็ปรับลดลงในทุกรายการเช่นกัน โดยความคิดเห็นทางด้านการเมืองยังเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือนด้วย

    ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน พ.ค. 2559 ในส่วนของปัจจัยบวก คือ การที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ขยายตัว2.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ราคายางพาราที่ปรับเพิ่มขึ้น SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 19.67 จุด ความคาดหวังของประชาชนต่อการลงทุนของภาครัฐ และเงินบาทที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย ส่วนปัจจัยลบที่กระทบต่อความเชื่อมั่น คือ การส่งออกของไทยเดือนเม.ย. กลับมาติดลบ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับสูงขึ้น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ภัยแล้งที่กระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ และความกังวลเรื่องค่าครองชีพ รวมถึงราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง

    อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยมองว่ารัฐจำเป็นต้องเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นรูปธรรม ต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไปทุกภาคส่วน และหากรัฐมีมาตรการ หรือโครงการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ควรเร่งดำเนินการในช่วงนี้โดยเร็ว

    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวถึงกรณีธนาคารโลกรายงานภาวะเศรษฐกิจโลกรอบครึ่งปี ปรับค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้น ว่า เศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ 2.5% ในปีนี้ จากที่คาดการณ์เดิม 2% ซึ่งเป็นประเทศเดียวในแถบเอเชียตะวันออก และแปซิฟิกที่ได้คาดการณ์ว่าจีดีพีจะปรับเพิ่มขึ้นจากรายงานเดิมในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ปี 2559 ลงเหลือ 2.4% จากเดิม 2.9%

    “ธนาคารโลกได้ปรับขึ้นจีดีพีของไทยเพียงประเทศเดียว เป็นสิ่งที่เราดีใจ แต่เราก็ไม่ประมาท เพราะธนาคารโลกปรับลดอัตราการเติบโตของโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกยังทรงกับทรุด ในระยะสั้นคงยังไม่ฟื้นตัวเร็ว ต้องยอมรับว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของไทยในอาเซียนอยู่ในอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำมานานหลายปี ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เริ่มปรับตัวขึ้น สวนกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเราจะประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลง หัวใจสำคัญอยู่ที่การวางรากฐานในอนาคต ต้องเน้นเรื่องการผลักดันการปฏิรูป แม้ว่ามีสัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น แต่รายได้ของประชาชนระดับล่างยังน้อย ซึ่งจำเป็นต้องช่วยให้ประชาชนให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น เพราะจะส่งผลดี ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นเรื่อย ๆ และจะมีส่วนช่วยเพิ่มการลงทุนมากขึ้นด้วย” นายสมคิด กล่าว

    นายสมคิดกล่าวว่า ในส่วนของฤดูการผลิตใหม่ของเกษตรกร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
    (คสช.) ตั้งใจช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น เพราะนายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีส่วนสำคัญเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาตกต่ำมาก และในปีนี้ก็ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ธนาคารโลกจะปรับการเติบโตเศรษฐกิจประเทศใดง่ายๆ แต่อย่าพอใจแค่นี้

    “หากบ้านเมืองสงบ เศรษฐกิจจะเจริญเติบโต ต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และถ้าประเทศในกลุ่มอาเซียนมีเศรษฐกิจดี จะยิ่งทำให้ไทยได้รับผลประโยชน์ เพราะถือเป็นศูนย์กลางอาเซียน ขณะเดียวกันเราต้องพึ่งตัวเอง รัฐบาลจึงมีแนวคิดช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ที่ต้องการเม็ดเงินไปพัฒนาธุรกิจ โดยจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป” นายสมคิด กล่าว

    นายสมคิดกล่าวถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจของโลก ว่า สหรัฐคงไม่กล้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2008 เนื่องจากสหรัฐ
    ใช้วิธีอัดฉีดเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว นักธุรกิจสหรัฐเองยังไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของตนเอง เช่นเดียวกับในประเทศแถบยุโรปยังไม่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว กลุ่มที่พอมีความหวังเติบโตทางเศรษฐกิจ คือกลุ่มประเทศเอเชีย โดยเฉพาะจีน ต้องหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่ทรุดตัว

     ที่มา: naewna

    0 comments:

    Post a Comment