"เพจทนายคู่ใจ" จี้ สคบ. เป็นตัวแทนประชาชนฟ้อง "กสิกร" ข้อหายักยอกทรัพย์ อายุความ 3 เดือนนับจากนี้ หลังหักค่าบัตรชิปการ์ดซ้ำซ้อน ชี้แม้จะคืนเงินภายหลังก็ไม่ได้เพราะความผิดสำเร็จแล้ว ลั่นธนาคารหรือกรรมการธนาคารต้องรับผิดชอบทั้งแพ่ง - อาญา ซึ่งมีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากกรณี วานนี้ (12 มิ.ย.) ในช่วงเวลาประมาณ 02.00 น. มีลูกค้าบัตรเดบิตชิปการ์ดของธนาคารกสิกรไทยจำนวนหลายราย ถูกตัดเงินออกจากบัญชีตั้งแต่ 200 - 850 บาท โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า และเป็นการหักค่าธรรมเนียมรายปีซ้ำซ้อน ทั้งที่เก็บเงินจากผู้ใช้บัตรไปแล้วตั้งแต่วันทำบัตร
ซึ่งภายหลังทางธนาคารกสิกรได้ตอบกระทู้ทางเว็บไซต์พันทิป ว่า ระบบขัดข้องเกี่ยวกับการหักค่าธรรมเนียมรายปีซ้ำซ้อน ธนาคารจะคืนเงินเข้าบัญชีลูกค้าทุกรายภายในวันที่ 12 มิ.ย.
ทางด้านแฟนเพจเฟซบุ๊ก "ทนายคู่ใจ" ซึ่งได้เกาะติดกรณีนี้ได้โพสต์ว่า การหักเงินโดยอำเภอใจเป็นข้อหายักยอกทรัพย์ ถึงจะโอนเงินคืนภายหลังแต่ทางคดีอาญาเมื่อเบียดบังเอาไปโดยทุจริตก็ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 พัน หรือทั้งจำทั้งปรับ
"หักโดยอำเภอใจ...เดี๋ยวนะข้อหายักยอกทรัพย์ (เงินฝาก) ลูกค้าหรือเปล่า ถึงจะโอนคืนลูกค้าแต่ทางคดีอาญาเมื่อเบียดบังเอาไปโดยทุจริตก็ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว คดียักยอกทรัพย์โทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 พัน หรือทั้งจำทั้งปรับ เรื่องนี้ต้องมีคำตอบให้ลูกค้าตาดำ ๆ" เพจทนายคู่ใจระบุ
จากนั้นเพจทนายคู่ใจยังโพสต์อีกว่า ดูดเงินไปแล้ว โดยไม่มีสิทธิใดๆหรือพันธสัญญาใดๆให้หักเงิน ตอนหลังจะมาอ้างเข้าใจผิดมันไม่ใช่นะ ก็ทรัพย์ (เงินฝาก) เอาไปแล้วนี่ สคบ.โปรดนำเรื่องนี้ฟ้องคดียักยอกทรัพย์เอาผิดกับธนาคารแทนประชาชนตาดำ ๆ ด้วย ส่วนธนาคารจะอ้างอะไรให้ไปอ้างที่ศาลเอาเถอะ คุณคิดดูวันหนึ่งตื่นมาเงินหาย จะบอกโอนกลับมาคืนแล้วๆกันไปมันไม่ได้เว้ย ความผิดมันสำเร็จแล้ว อายุความนับจากนี้ไปอีก 3 เดือนต้องไปแจ้งความ เรื่องนี้ต้องมีมาตรฐานของสังคมว่าธนาคารถ้าหักเงินลูกค้าไม่ถูกกฎหมาย ตัวธนาคารหรือกรรมการธนาคารต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญา
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ โทษจำคุก 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การคืนเงินให้ลูกค้าเป็นแค่เหตุบรรเทาโทษไม่ต้องติดคุกเท่านั้นเองเวลาพิจารณาคดีในศาล #ทวงคืนสิทธิผู้บริโภค #สคบอย่านิ่งเฉย ใครจะเอาเรื่องธนาคารกสิกรให้เก็บหลักฐานไว้นะ
ที่มา: manager
0 comments:
Post a Comment