ชัดแจ้งแดงแจ๋กันไปแล้วสำหรับผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมาที่ผลปรากฏออกมาว่าประชาชนทั่วประเทศลงมติเห็นชอบในประเด็นที่ 1 คือร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับร้อยละ 61.40 จำนวน 15,562,027คนไม่เห็นชอบร้อยละ 38.60 จำนวน 9,784,680 คน
ส่วนในประเด็นที่ 2 คือให้ สว.แต่งตั้งร่วมโหวตนายกฯกับ สส.หรือไม่ ผลออกมาว่าเห็นชอบร้อยละ 58.11 จำนวน 13,969,594 คน ไม่เห็นชอบร้อยละ 41.89 จำนวน 10,070,599 คน จากผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่นับคะแนนที่ร้อยละ 94 รวมจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์กว่า 27 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์กว่า 55 ล้านคน
นั่นก็แสดงว่าถึงอย่างไรก็มีคนมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติคราวนี้เกินครึ่ง ก็ถือว่าโอเค ทำให้สามารถสรุปได้ว่าเป็นมติของคนส่วนใหญ่ ทำให้อีกฝ่ายไม่อาจนำไปขยายผลไปอีกทางหนึ่งได้
แม้ว่าผลการลงประชามติที่ออกมาในคราวนี้หากพิจารณาในรายละเอียดเป็นรายภาค และรายจังหวัดจะพบว่าในพื้นที่ภาคเหนือกับภาคอีสานรสมทั้งสามจังหวัดภาคใต้จะมีจำนวนไม่รับสูง นั่นคือในภาคอีสานผลออกมาไม่รับ แต่ก็มีบางจังหวัดที่รับ รวมทั้งภาคเหนือที่แม้ว่าผลออกมาเสียงส่วนใหญ่"เห็นชอบ"แต่พิจารณาในรายจังหวัด เชียงใหม่ เชียงรายและพะเยา กลับไม่เห็นชอบ ซึ่งมันก็พอเข้าใจได้เพราะพื้นที่ดั
งกล่าวเป็นฐานเสียงหลัก เป็นบ้านเกิดของหัวขบวนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ขณะเดียวกันหากพิจารณากันให้ละเอียดไปอีกก็จะพบความจริงเช่นเดียวกัน อย่างในภาคอีสานที่โหวตไม่เห็นชอบทั้งสองประเด็นผลคะแนนที่ออกมาก็ไม่ได้ต่างหรือห่างกันมากนักกับเสียงที่เห็นชอบ ซึ่งถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะหากเทียบสถิติในอดีตพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือ พื้นที่เหล่านี้เปรียบเหมือน"เมืองหลวง"ของพวกเสื้อแดงที่เป็นเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เลือกตั้งที่ผ่านมาสามารถ"ชี้ไม้เป็นนก"ได้ก็แล้วกัน แต่คราวนี้กลายเป็นระยะห่างแคบเข้ามาแบบสูสีอย่างน่าประหลาดใจ ขณะที่มีบางจังหวัดก็โหวตเห็นชอบ
ผลที่ออกมาแบบนี้หากพิจารณากันในภาพรวมๆมันก็เหมือนกับการตบหน้าพวกนักการเมือง พรรคการเมืองฉาดใหญ่ ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เขาไม่เอาด้วย หลังจากที่ประกาศรวมหัวกันคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่กลายเป็นว่าชาวบ้าน"โหวตสวน"แบบนี้มันชัดเจนอยู่แล้ว ว่าชาวบ้านเขารู้สึกอย่างไร นอกจากนี้ยังมีตัวเร่งและเพิ่มจำนวนคนไปโหวตเห็นชอบอีกจำนวนไม่น้อยจากการประกาศออกมาของ จตุพร พรหมพันธุ์ที่ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบเขาจะไม่ลงสมัครรับรับเลือกตั้ง ซึ่งก็น่าจะตีความได้อีกว่าเขาจะไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นด้วยให้สมกับที่รังเกียจร่างฉบับดังกล่าวด้วย ซึ่งพอผลออกมาก็เริ่มมีเสียงทวงสัญญาดังกล่าวออกมาทันที
อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจับตากันก็คือ ผลการลงประชามติคราวนี้จะส่งผลถึงอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร โดยเฉพาะอนาคตของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันว่าจะเป็นอย่างไร ในเมื่อออกตัวชัดเจนว่า"ไม่รับ"แต่เมื่อผลออกมาตรงกันข้าม มันก็เหมือนกับการปฏิเสธแนวทางของเขาอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน นี่ยังไม่นับถึงปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงกันในพรรควันหน้าที่ต้องมีกลุ่มของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แม้ว่าผันตัวเองออกมาเป็นกลุ่ม กปปส.และให้โหวตรับร่าง นาทีนี้ถือว่ามีอิทธิพลภายในพรรคอย่างสูง เชื่อว่าหากมีการเปิดโอกาสให้มีการทำกิจกรรมพรรคได้ก็จะต้อวมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ มีการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งใหม่ มันก็น่าสนใจว่าจะมีความขัดแย้งกันอย่างไร
ดังนั้นหากสรุปแบบห้วนๆว่าผลของประชามติคราวนี้ชาวบ้านต้องการสั่งสอนพวกนักการเมือง ไม่ยอมคล้อยตามคนพวกนี้อีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาได้เจ็บปวดและคับแค้นใจมามากแล้ว ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านยังนิยมศรัทธากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติมากกว่า ยอมรับในภาพของความเป็นเผด็จการ ตราบใดที่ยังอยู่ในกรอบ ไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตมิชอบ ไม่มีเรื่องทุจริตให้เห็นอื้อฉาว ชาวบ้านไม่สนใจเรื่องประชาธิปไตยแบบตะวันตกจ๋าอีกต่อไปแล้ว ชาวบ้านเขาเชื่อในเรื่องประชาธิปไตยในแบบเฉพาะตัวที่คิดว่าเหมาะกับคนไทย และที่สำคัญมีความพอใจที่รัฐธรรมนูญมีการเน้นย้ำเรื่องการปราบโกง ควบคุมนักการเมือง
อย่างไรก็ดีผลการลงคะแนนคราวนี้มันก็ยังส่งเสียงเตือนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติทางอ้อมเหมือนกันว่าที่ชาวบ้านเขาเอาด้วยช่วยสนับสนุนเพราะยังเห็นว่ามีความตั้งใจเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ แต่เมื่อใดก็ตามที่เปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม มันก็จะเหมือนกับ ทักษิณ ชินวัตร และนัการการเมือง ที่เคยได้รับความไว้วางใจ แต่เมื่อทรยศต่อความไว้วางใจก็จะมีชะตากรรมอย่างที่เห็น !!
ที่มา: manager
0 comments:
Post a Comment