Monday, August 8, 2016

Tagged Under:

เลือกตั้งปี60ครม.-คสช.ถก9สค.

By: news media On: 6:06 PM
  • Share The Gag
  • เลือกตั้งปี60ครม.-คสช.ถก9สค.
    ยันกองทัพไม่สืบอำนาจ "มีชัย"เร่งทำกม.10ฉบับ
    เล็งหาแนวร่วมตั้งกติกา ปูเหน็บรธน.ไม่เป็นปชต.



    เดินหน้าจัดเลือกตั้ง 60 “บิ๊กตู่” นัด ครม.-คสช.ถก 9 ส.ค.จัดตารางโรดแม็พสู่ถนนเลือกตั้งใหม่ปลายปีหน้า “วิษณุ” ยันกองทัพไม่สืบทอดอำนาจ มั่นใจปั้มกฎหมายลูก 10 ฉบับเสร็จทันปลายปี 60 แน่ ขณะที่ “มีชัย” เดินหน้าผนวกคำถามพ่วงลงบทเฉพาะกาล ให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ได้ เร่งคลอดกฎหมายลูก 10 ฉบับภายใน 8 เดือน เล็งดึงพรรคการเมืองร่วมเสนอแนะกฎ-กติกาเลือกตั้ง ด้าน “มาร์ค” พร้อมลงสนามเลือกตั้ง ปากแข็งไม่หวั่นผลประชามติภาคใต้แพ้ขาด ส่วน “ยิ่งลักษณ์” น้อมรับผลประชามติ ไม่วายเหน็บ รธน.ถอยหลังลงคลอง ขณะที่ “กปปส.” แนะพรรคการเมืองปรับตัว-ฟังเสียง ปชช.หนุนปฏิรูป-ฟันทุจริตคอรัปชั่น


    กกต.ประกาศผลทางการ 10 ส.ค.

    เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายประวิช รัตนเพียร กกต. กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาภาพรวมการจัดการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะยังไม่สามารถรายงานผลอย่างเป็นทางการได้ เพราะยังต้องรอเอกสารยืนยันผลคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วยที่จะสรุปรวบยอดอย่างเป็นทางการ คาดว่าในวันพุธที่ 10 สิงหาคมนี้ จะสามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการได้ ส่วนกรณีปัญหาการฉีกบัตรออกเสียงที่เกิดขึ้น กกต. ก็จะศึกษาไว้เป็นบทเรียน แต่การเลือกตั้งทั่วไป ที่จะเกิดขึ้น ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ จะไม่มีปัญหา เพราะใช้บัตรเพียงใบเดียว แต่ กกต. จะไม่ให้เกิดรอยประ ขึ้นอีก หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของ กรธ. ที่จะไปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ซึ่งในส่วนของ กกต. หลังจากนี้ ที่ประชาชนจะต้องจับตา คือการทำความเห็นประกอบการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้ง 4 ฉบับ ต่อไป


    “บิ๊กตู่” ส่งดอกไม้แสดงยินดี “มีชัย”

    ขณะที่ เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องรับรอง 2 อาคารรัฐสภา 1 นางฐะปาณีย์ อาจารวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ได้เป็นตัวแทน พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางนำแจกันดอกไม้มาแสดงความยินดีต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยนายมีชัย กล่าวว่า ตนต้องขอขอบคุณและยินดีต่อความเอื้อเฟื้อของท่านที่มีต่อ กรธ. ดูแลมาด้วยดีมาคลอด เป็นห่วงใยและติดตามการทำงาน และชี้แนะข้อบกพร่องที่ กรธ.สามารถนำไปปรับใช้จนประสบความสำเร็จ และเราคงต้องทำหน้าที่ต่อไปอีกระยะและคงต้องพึ่งพานายกฯ อีก ขอบคุณท่านอีกครั้ง


    เรียกถก ผบ.เหล่าทัพ

    ต่อมา ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เรียกประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยมี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) และ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เข้าร่วมหารือ คาดว่าเป็นการรายงานสถานการณ์การออกเสียงประชามติ และประเมินสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงที่จะเกิดขึ้นเพื่อปรับแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ โดยใช้เวลาหารือ 1 ชั่วโมง จากนั้น ผู้บัญชาการเหล่าทัพเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล


    จ่อประกาศท่าทีหลังรู้ผลทางการ

    พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่มีการแถลงชี้แจงต่อประชาชนหลังการออกเสียงประชามติในวันนี้ เนื่องจากต้องรอผลการนับคะแนนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างเป็นทางการก่อน ส่วนการประชุมนอกรอบระหว่างนายกฯ กับนายวิษณุ และผู้เกี่ยวข้องนั้น วันนี้คงจะไม่มี เนื่องจากวันที่ 8 ส.ค.ในช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการหารือร่วมกับ คสช.อยู่แล้ว


    “มีชัย” ลุยใส่คำถามพ่วงบทเฉพาะกาล

    นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในการประชุม คสช. วันที่ 9 ส.ค. เพื่อสรุปผลการลงประชามตินั้นตนต้องไปเข้าร่วมในการประชุมด้วยเพราะตนเป็นหนึ่งใน คสช. เมื่อเป็นการประชุม คสช.ก็ต้องไปแต่ว่าไม่ได้ไปในฐานะ กรธ. ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ คสช.ร่วมมือช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนตอนนี้ยังไม่มี เพราะตัว รธน.ยังไม่ประกาศใช้ตนเดาว่า ท่านนายกฯ คงร้อนใจอยากคุยว่า การเดินหน้าเพื่อให้เป็นไปตามโรดแม็พ ตนมองเห็นแล้วว่าทันทีที่ รธน.ประกาศใช้ระยะเวลาจะถูกบีบคั้นมาก เพราะว่าสูงสุดที่ กรธ.จะทำคือ 240 วัน ก่อนที่จะไปถึงตรงนี้ รธน.ก็มีขั้นตอนที่ว่าจะต้องแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงตรงนี้เราก็กำลังรอการประกาศผลอย่างเป็นทางการจาก กกต. เพราะทุกอย่างจะเริ่มนับ 1 ตั้งแต่ กกต.ประกาศผล กรธ.มีเวลา 30 วันที่จะแก้ไข การใส่คำถามพ่วงไปในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องยึดไปตามตัวอักษรที่กำหนดไว้ในคำถาม ซึ่งหาก กรธ.มีอะไรสงสัย ในถ้อยคำถามก็จะต้องไปถาม สนช. จากนั้นเราจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยภายใน 30 วัน ว่าสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเนื้อหาคำถามพ่วงจะใส่ได้เพียงกำหนดให้ ส.ว.มีส่วนร่วมกับ ส.ส.ลงมติเลือกนายกฯ โดยใช้เสียงข้างมาก แต่ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้คือ เมื่อให้อำนาจสมาชิกรัฐสภาร่วมลงมติเลือกนายกฯ แล้วยังทำไม่ได้อีก จะทำอย่างไร ซึ่งตนยังไม่คิดจริงจัง เดี๋ยวจะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก แต่อย่างไรก็ตามเราจะร่างเนื้อหาส่วนนี้ไป แล้วดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความอย่างไร ส่วนข้อห่วงกังวลว่า จะมีการแก้ไข ส.ว. สามารถเสนอชื่ออนายกฯ ได้นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตามตัวอักษรของคำถามพ่วง ส.ว.ไม่มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ


    ย้ำเลือกตั้งตามโรดแม็พปี 60

    เมื่อถามว่า 250 ส.ว.ที่แต่งตั้งจาก คสช. จะมีสิทธิ์ร่วมกับ ส.ส.โหวตนายกฯ กี่ครั้ง นายมีชัย กล่าวว่า ตามตัวหนังสือของคำถามกำหนดแต่เพียง 5 ปี ก็หมายความว่า จะเลือกกี่ครั้งก็ได้ ภายใน 5 ปีข้างหน้า อาจจะมีการเลือกนายกฯ ถึง 3 ครั้งก็ได้ ที่ห่วงกันว่านายกฯ จะมาจากไหนก็ไม่รู้ ตนเชื่อว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะ ส.ว.แม้จะมีสิทธิ์เลือกนายกฯ แต่ก็ไม่ได้ลงไปทำหน้าที่แบบ ส.ส. ที่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้น หากนายกฯ ไม่มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากพอ เชื่อว่าอยู่ไม่นานก็ต้องไป ยืนยันว่าการเลือกตั้งตามโรดแม็พจะเกิดขึ้นในปี 2560 เพราะเวลาในร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็กำหนดไว้ ให้ทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ภายใน 8 เดือน แล้วจะมีการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ก็ต่อเมื่อกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต. แล้วเสร็จ ซึ่งตนคิดว่าจะทำกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับนี้ก่อน โดยขณะนี้ก็ได้ติดต่อเป็นการภายในไปยัง กกต. ในฐานะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลูก 4 ฉบับนี้แล้ว ว่าให้เตรียมจัดทำร่างเหล่านี้เสนอมายัง กรธ. ส่วนข้อห่วงกังวลว่า พ.ร.บ.พรรคการเมือง จะมีการเซตซีโร่พรรคการเมือง หรือไม่นั้น ก็ต้องไปดูตัวข้อบังคับพรรคการเมืองว่า มีข้อไหนที่ขัดกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่มีขัด ก็ไม่ต้องเริ่มใหม่ แต่ถ้ามีขัด ก็ต้องเริ่มใหม่ ซึ่ง กรธ.ยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ ทั้งนี้อยากให้พรรคการเมือง เข้ามามีบทบาทแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะ เราต้องพึ่งพาเขาด้วย เพื่อไม่ให้กติกาที่วางไว้เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ส่วนการขอความเห็นจะทำในนามตัวบุคคลไม่ใช่ในนามพรรค


    “วิษณุ” ยันนายกฯ ไม่สืบทอดอำนาจ

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และพล.ต.วิระ โรจนวาศ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เกี่ยวกับแนวทางและขั้นตอนต่างๆ หลังทราบผลประชามติอย่างไม่เป็นทางการ ว่า หารือกับคนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กระบวนการต่างๆ รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะเสนอต่อที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ทุกฝ่ายทราบดีว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ ใครอยู่ถึงเมื่อไหร่ และอะไรบางอย่างที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวอาจทำไม่ได้เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องปรับตัว ส่วนรายละเอียดกระบวนการ และระยะเวลา อาจเปิดเผยให้ประชาชนทราบหลังการประชุมร่วมในวันที่ 9 ส.ค.ได้ เบื้องต้น กกต.ได้รายงานเข้ามาให้ทราบว่ามีคนออกมาใช้สิทธิ์เกือบร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับการทำประชามติของอังกฤษที่มีประชาชนออกมาใช้สิทธิร้อยละ 70 หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีคนออกมาประมาณ ร้อยละ 50 จำนวนผู้ใช้สิทธิของเราถือว่าน่าพอใจ ส่วนผลประชามติที่ออกมาจะสามารถสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็หวังเช่นเดียวกับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ได้พูดไว้หวังว่าทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปได้ รัฐบาลคงไม่ตีความอะไร ในเมื่อผลประชามติออกมาเช่นนี้เราก็ต้องเดินต่อไปให้ดีที่สุดเพื่อให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจ และมองว่ากรณีที่หลายฝ่ายยอมรับผลประชามติถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนที่บางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลังประชามติผ่านแล้วนั้น ต้องดูอีกที ตนไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้หรือไม่เพราะยังไม่ได้คิดอะไรในเรื่องนี้ และตนก็ไม่ได้มีอำนาจในเรื่องดังกล่าว


    ย้ำเลือกตั้งภายในปี 60

      เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปเป็นปี 2561 เนื่องจากยังมีขั้นตอนต่างๆ อีกจำนวนมาก นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าใช้กำหนดเวลาเต็มที่ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่เกินปี 2560 อยู่แล้ว หลังจากนี้เมื่อทุกอย่างระยะเวลาสั้นลงก็ไปสู่เป้าหมายเลือกตั้งปี 60 ได้ ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็พ เมื่อถามย้ำว่าเหตุใดนายมีชัยถึงพูดว่าอาจขยายเวลาเลือกตั้งช่วงต้นปี 2561 จนทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวล นายวิษณุ กล่าวว่า “มีอะไรบางอย่างที่เราอาจทำของเราจนสุดแล้ว แต่ก็เหนือกระบวนการที่เราจะควบคุมก็ต้องบวกลบเผื่อเวลา แต่ถ้าเราทำให้เร็ว การบวกลบเวลาก็ไม่ควรจะเผื่อไปยาวกว่าปี 60 ถ้าเราเสร็จทุกอย่าง เรื่องของเราก็จบ เป็นเรื่องของคนอื่น เราก็ต้องรักษาคำพูด อย่างอื่นเผื่อเข้าไปก็อาจจะต้องเกิน แต่ถ้าเราทำให้มันเร็ว เผื่ออย่างไรก็ไม่เกิน ผมก็อยากให้มันเร็ว พูดวันนี้ก็ยังเลือกตั้งในปี 60 ไม่เห็นจะต้องมีปัญหาอะไร นายกฯ ก็พูดแล้วว่าไม่สืบทอดอำนาจและเลือกตั้งในปี 60


    “บิ๊กป้อม” ปลื้มประชามติผ่าน

    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า การลงประชามติที่ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเสียงของประชาชน ที่อยากให้มีรัฐธรรมนูญ เพื่อเดินตามโรดแม็พตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ ทั้งนี้ไม่อยากให้พูดว่าเป็นชัยชนะของ คสช. เพราะไม่เกี่ยวกัน แต่เป็นเรื่องความเห็นของประชาชนในภาพรวม ซึ่งประชาชนอาจจะมองว่าบ้านเมืองมีความสงบสามารถทำมาหากินได้ ส่วนกรณีที่ตั้งข้อสงสัยว่าประชาชนต้องการให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกถึงเห็นชอบกับคำถามพ่วงนั้น ตนมองว่าประชาชนไม่อยากเห็นนายกฯคนนอก แต่อยากความเปลี่ยนแปลงในการทำงานของรัฐสภา ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะทำให้การทำงานสะดวกขึ้น ดังนั้นขอย้ำว่าประเด็นนายกฯคนนอกคงไม่เกี่ยว เพราะทั้งหมดต้องมาจากรัฐสภาว่าจะเลือกใครมา สำหรับการเปิดช่องให้นักการเมืองแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ต้องขอพิจารณาก่อนว่าจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร ทุกอย่างเรามีโรดแม็พอยู่แล้ว การร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมาย 4 ฉบับที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ส่วนการประชุมพรรคนั้น ตนคิดว่าคงประชุมได้ในเร็ววัน ไม่ต้องห่วงขอให้ใจเย็น ซึ่งทุกวันนี้ก็ประชุมกันอยู่แล้ว แต่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ และสามารถเดินได้ สำหรับบทบาท คสช.ต่อจากนี้ยังต้องทำงานอีกมากทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่ได้วางรากฐานเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปได้ในอนาคตอย่างไรก็ตามตนมองว่าประชาชนต้อการให้ประเทศเดินไปได้ เพราะไม่อยากให้ประเทศถอยหลัง ผลประชามติจึงออกมาผ่าน


    วอนอย่ามองเป็นชัยชนะของ คสช.

    พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อว่า สำหรับผลประชามติดังกล่าว ตนคิดว่าเป็นการสะท้อนว่า คสช.ทำงานตามความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งขอปฏิเสธว่าไม่มีแนวคิดตั้งพรรคการเมืองแม้ว่าได้รับความนิยมจากประชาชนก็ตาม ส่วนที่มองว่า คสช.ได้คะแนนมากเนื่องจากมีมาตรการควบคุมการแสดงความคิดเห็นนั้น ตนคิดว่าไม่ใช่ ถ้า คสช.ทำไม่ดี ประชาชนก็ไม่เอาด้วย ซึ่งมองว่าพวกเขาต้องพอใจการทำงานของ คสช. อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทราบรัฐธรรมนูญผ่านตนยังไม่ได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และนายกฯ ก็ยืนยันแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็รับได้ทั้งนั้น เพราะเรามีแผนงานอยู่แล้ว ที่ผ่านมา คสช.ก็ทำผลงานไว้เป็นรูปธรรมหลายอย่าง ให้พูดเป็นชั่วโมงไม่หมด เราทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งหลังจากมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาล ทาง คสช.ก็ต้องยุบไป เพราะฉะนั้นขอยืนยันว่าบ้านเมืองเรามีความเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่สิ่งใดที่เป็นความขัดแย้งเราจะไม่ให้ทำ จนกว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งก็ต้องเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ อีกทั้งต้องเป็นเรื่องกฎหมายการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ยังไม่มี ก็ต้องยึดหลักการเดิมไว้ก่อน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ทั้งนี้ขอชื่นชมการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า มีการวางระบบการทำประชามติได้อย่างดี ส่วนกรณีที่มีคนฉีกบัตรนั้นเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจ และอายุคนที่ฉีกก็มาก ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ อีกทั้งตัวเลขคนมาใช้สิทธิ์ถือว่าไม่น้อยในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ก็รับได้ ไม่คิดว่าเสียหายอะไร อย่าไปเรียกว่าชัยชนะ เพราะเป็นเสียง และความต้องการของประชาชน และอย่าไปมองว่าเป็นการแพ้ชนะ เพราะทางนายกฯเองก็ไม่ได้คิด อีกทั้งทำทุกอย่างเพื่อประชาชน และอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้ามีรากฐานที่มั่นคง และการลงประชามติครั้งนี้ก็ไม่ใช้การแข่งขัน แต่เป็นการวัดผลว่าประชาชนต้องการอะไร คงไม่ได้หมายความว่าประชาชนเลือกจะอยู่กับทหารมากกว่านักการเมือง นั่นเป็นการตีความกันเอาเอง เพราะอย่างไรนักการเมืองก็ต้องมี เพราะถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


    “ยิ่งลักษณ์” น้อมรับผลประชามติ

    น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า ประกาศน้อมรับผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นทางการ “ก่อนอื่นดิฉันขอน้อมรับการตัดสินใจของพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับผลประชามติในครั้งนี้ แต่ขอแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า 1. ไม่แปลกใจกับผลประชามติเพราะไม่ได้เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เสมือนเป็นการรับฝ่ายเดียวและต่างจากการทำประชามติครั้งอื่นและที่ประเทศทั่วโลกเขาทำกัน 2. ไม่เสียดายที่ได้ทำหน้าที่พลเมืองคนหนึ่งตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยในการไปใช้สิทธิลงประชามติแม้จะเป็นเสียงส่วนน้อยก็ตาม 3. แต่เสียใจและเสียดายกับประเทศที่กำลังจะก้าวถอยหลังไปใช้รัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยแต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง"


    “จตุพร” ท้าบิ๊กตู่ตั้งพรรคทหาร

    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวผ่าน FB live ว่า เมื่อผลประชามติออกมาเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายเห็นต่างแล้ว พวกตนยอมรับการตัดสินใจของประชาชน แต่จะไม่อยู่การความเสียใจนานนัก ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กันใหม่ แนวโน้มในอนาคตนั้น พรรคการเมืองควรประกาศว่า จะเอานายกรัฐมนตรีคนในหรือคนนอก จึงต้องประกาศออกมาให้ชัดเจนก่อนเลือกตั้ง และต้องจับตาดูว่ารัฐธรรมนูญจะสร้างวิกฤตให้ประเทศ ดังนั้น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ควรเฝ้าดูด้วย รวมทั้ง เมื่อ รัฐธรรมนูญผ่านแล้ว รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรปล่อยตัวผู้ต้องหา ซึ่งเกี่ยวข้องการแสดงความเห็นต่าง พวกเขาต้องได้รับอิสรภาพ “ส่วนการต่อสู้ ของพวกผมยังดำเนินไปเป็นปกติ หากถูกตามมากระทืบอีกคงต้องสู้ และถ้าให้เกิดความเป็นธรรมแล้ว ควรต่อสู้ด้วยกติกาที่เท่ากัน หรือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตั้งพรรคทหารลงเลือกตั้งกันหรือไม่ ทั้งนี้ การแพ้ครั้งนี้ เป็นเพียงยกแรกเท่านั้น ยังเหลืออีกหลายยก แต่เนื้อหารัฐธรรมนูญก็ยังเชื่อว่า จะเกิดวิกฤตให้กับประเทศในอนาคต หากนายมีชัยไม่รีบไปไหนเสียก่อน คงมีโอกาสได้เห็นวิกฤตของบ้านเมืองที่รออยู่เบื้องหน้า”


    “อภิสิทธิ์” ย้ำยอมรับผลประชามติ

    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผลประชามติเมื่อประชาชนตัดสินแล้ว เราต้องยอมรับ พรรคเองต้องมองไปข้างหน้า จากนี้จะมีการแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้เข้ากับคำถามพ่วง รวมถึงต้องร่างกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง จึงต้องรอดูว่า คสช.จะมีนโยบายอย่างไร ส่วนที่ กรธ.เตรียมขอความเห็นในการร่างกฎหมายลูก พรรคพร้อมให้ข้อมูลที่ประชาชนเห็นชอบเพราะต้องการเดินหน้า และไม่ต้องการเห็นความวุ่นวายความขัดแย้งอีก ดังนั้นนักการเมืองทุกพรรคก็ต้องมองย้อนกลับไปแล้วทบทวน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อ คสช.เดินหน้าตามกติกานี้ได้ เพราะปัญหาในอดีตเกิดจากเสียงข้างมาก ไม่ยอมให้พื้นที่หรือรับฟังเสียงข้างน้อย ถือเป็นบทเรียนสำคัญหนึ่งจึงต้องคิดถึงทุกคน เชื่อว่าจะประคับประคองไปได้ ส่วนที่มีกระแสว่าฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรลงเลือกตั้งนั้น เป็นความคิดเห็นของแต่ละคน ที่ผ่านมาตนแสดงจุดยืนก็เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน ห่วงต่อความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในโครงสร้าง และมาตรการการปราบปรามทุจริตคอรัปชัน ไม่มีส่วนใดไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส่วนผลคะแนนเห็นชอบในภาคใต้มากนั้น ก็ไม่กังวล เพราะเคารพและเข้าใจในความรู้สึกของประชาชนที่ตัดสินใจ หากแยกดูในรายจังหวัด จะพบว่าคะแนนต่อคำถามพ่วงจะใกล้เคียงกับการทำประชามติปี 50 จะชัดเจนมาก หากวิเคราะห์ถึงผลคะแนน จึงไม่แปลกอะไร เพราะภาคใต้เองก็มีผลคะแนนคล้ายประชามติ ปี 50 เพียงแต่คะแนนที่รับร่างรัฐธรรมนูญจะลดลงมา มีที่พลิกไปเลยก็ คือ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะเท่าที่ติดตาม ปัญหาในพื้นที่อาจสะท้อนว่า ติดใจในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ชี้ผลประชานิยมคนละเรื่องผลเลือกตั้ง


    ปัดพรรคแตก

    เมื่อถามว่า มีการวิเคราะห์ว่า คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ลดลงน้อยกว่าคะแนนนิยม กปปส. นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้คิดว่าเรื่องการลงคะแนนประชามติ จะเป็นเรื่องของพรรคหรือกลุ่มการเมือง ประชาชนตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานความต้องการ ว่าจะเดินหน้าประเทศอย่างไร หากไปสรุปเช่นนั้น เหมือนกับจะไม่จดจำการทำประชามติปี 50 เดือน ส.ค. ฝ่ายที่รับชนะ 57% ต่อ 43% แต่ในอีก 3 เดือนต่อมาพรรคการเมืองที่ไม่รับก็ชนะการเลือกตั้ง ตนเข้าใจในการตัดสินใจลงคะแนนในแต่ละครั้ง ว่ามีปัจจัยเฉพาะ ซึ่งตนก็รับฟังความรู้สึกและอารมณ์ เพื่อปรับแนวทางของพรรคเช่นกัน ยืนยันว่าอุดมการณ์ของพรรคยังมีจุดยืนเหมือนเดิม เมื่อถามว่า กรณีในพรรคมีความเห็นต่างที่มีสมาชิก กปปส.อยู่ด้วย จะทำให้พรรคแตกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้บอกตลอดว่าเคารพความเห็นของทุกฝ่าย ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองและนักการเมืองจะต้องยึดถืออุดมการณ์ ถ้าเราสนับสนุนพรรค หรือนักการเมืองที่ไม่สนใจอุดมการณ์ใดเลยจะอันตรายมากกว่า ดังนั้นตนจึงเคารพจุดยืนและความเห็นต่าง เพราะเราก็ไม่ได้ขัดแย้งหรือต่อสู้กับใคร และไม่ได้รณรงค์ใดๆ ด้วยซ้ำ แม้ตนจะทราบผลล่วงหน้าก็ต้องแสดงจุดยืนเช่นนี้ และเคารพน้อมรับการตัดสินใจของประชาชน เรื่องในพรรคเป็นเรื่องของผู้บริหารพรรค และสมาชิกพรรคทุกคนต้องช่วยกันทำให้พรรคเป็นที่ยอมรับ เป็นที่พึ่งหวังของประชาชน


    กปปส.เชื่อ ปชช.หนุนปฏิรูป-ฟันทุจริต

    นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้าการลงประชามติก็ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าผลคะแนนจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ผลที่ออกมานั้น กลุ่ม กปปส.พร้อมน้อมรับและพร้อมที่จะผลักดันการปฏิรูปต่อไปเพราะกลุ่ม กปปส.ได้ทำหน้าที่แสดงจุดยืนเรื่องการปฏิรูปมาโดยตลอดเพื่อให้การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า เนื่องจากเชื่อว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ส่วนการที่แต่ละคนออกมาพูดรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยหรือแกนนำกลุ่ม กปปส. แต่สุดท้ายความคิดของประชาชนก็เป็นอิสระ โดยเฉพาะการตัดสินใจต่างจากพรรคการเมือง2พรรค ซึ่งชัดเจนว่าประชาชนตัดสินใจด้วยตัวเอง ทั้งนี้สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศออกมาว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ คนก็ตัดสินใจได้มากขึ้นโดยได้สะท้อนความนิยมในตัวพล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาและคนส่วนใหญ่พร้อมที่จะเดินหน้าการปฏิรูปตามเนื้อหาที่มีในรัฐธรรมนูญ โดยคาดหวังในเรื่องการปราบทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขณะเดียวกันสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยอมรับกลไกที่เป็นประชาธิปไตยแบบยืดหยุ่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้การปฏิรูปเดินหน้าไปได้ ที่สำคัญการโหวตร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้แตกต่างจากปี2550ชัดเจน เพราะในคราวนั้นมีการประกาศว่าให้รับๆไปก่อนแล้วไปแก้ภายหลัง ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญเพราะได้ตัดสินใจบนเงื่อนไขว่า รับเพื่อไปแก้ แต่ต่างจากครั้งนี้ซึ่งทุกคนรู้ว่ารัฐธรรมนูญแก้ได้ยาก ทำให้คนที่ออกมาโหวตรับมีนัยยะสำคัญเพราะเป็นกลุ่มที่ต้องการเห็นชอบจริงๆโดยไม่มีเงื่อนไข


    ที่มา: banmuang

    0 comments:

    Post a Comment