1. ประชาชนคิดว่าการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ณ วันนี้ มีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด ? อันดับ 1 ค่อนข้างก้าวหน้า 35.63% เพราะมีผลงานบางอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นการทำงานตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามโรดแมป มีคณะทำงานที่รับผิดชอบ ฯลฯ อันดับ 2 ยังไม่ค่อยก้าวหน้า 29.81% เพราะมีปัญหาที่จะต้องปฏิรูปหลายเรื่องปัญหาสะสมมาหลายสิบปี ต้องใช้เวลาในการดำเนินการแก้ไข ฯลฯ อันดับ 3 ก้าวหน้า 17.70% เพราะนายกฯ ให้ความสำคัญ มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา มีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ฯลฯ อันดับ 4 ไม่ก้าวหน้า 16.86% เพราะเป็นไปได้ยาก ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ยังมีความขัดแย้ง ประชาชนยังลำบาก ชีวิตความเป็นอยู่ยังไม่ดีขึ้น ฯลฯ
2. ประชาชนคิดว่า การปฏิรูปประเทศมีความเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือไม่ ? อย่างไร ? อันดับ 1 เกี่ยวข้อง 71.08% เพราะการปฏิรูปประเทศช่วยให้ระบบการเลือกตั้งมีความโปร่งใส เป็นธรรม มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด การซื้อสิทธิขายเสียงอาจน้อยลง ฯลฯอันดับ 2 ไม่เกี่ยวข้อง 28.92% เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะมีมาตรการป้องกัน แต่ก็ยังมีการทุจริต การเลือกตั้งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของนักการเมือง ฯลฯ
3. ระหว่างการเลือกตั้ง กับการปฏิรูปประเทศ ประชาชนคิดว่า รัฐบาลควรดำเนินการอย่างไร ? อันดับ 1 ปฏิรูปประเทศก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง 41.19% เพราะบ้านเมืองมีปัญหาหลายด้าน ควรจะแก้ปัญหาต่างๆ ให้เสร็จก่อน จะได้มีความพร้อมและไม่เกิดปัญหาขัดแย้งภายหลัง บ้านเมืองจะได้เดินหน้าอย่างมั่นคง มีเสถียรภาพ ฯลฯ อันดับ 2 เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูปประเทศ 38.06% เพราะจะได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนของประชาชน เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพ ได้รับการยอมรับ ฯลฯ อันดับ 3 เลือกตั้งและปฏิรูปประเทศไปพร้อมกัน 20.75% เพราะการปฏิรูปประเทศต้องใช้เวลานาน การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ ฯลฯ
4. ประชาชนคิดว่าสถานการณ์บ้านเมือง ณ วันนี้ พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งหรือไม่ ? อันดับ 1 ยังไม่พร้อม 51.23% เพราะ ยังมีความขัดแย้ง กังวลว่าบ้านเมืองจะไม่สงบ อาจเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหว ปัญหาการเมืองไทยแก้ไขได้ยาก สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ยังไม่พร้อม จะมีพระราชพิธีสำคัญ ฯลฯ อันดับ 2 พร้อมแล้ว 48.77% เพราะ เป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้ อยากให้บ้านเมืองเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งที่มาจากความต้องการของประชาชน ประชาชนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ฯลฯ
5. ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร ? ถ้าการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปเป็นปี 2561 อันดับ 1 เห็นด้วย 36.99% เพราะ ปี 2560 จะมีพระราชพิธีสำคัญ ยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ นักการเมือง พรรคการเมือง และ กกต. ได้มีเวลาเตรียมความพร้อมให้มากขึ้น ฯลฯ อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 32.21% เพราะอยากให้เป็นไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้ หากเลื่อนออกไปอาจมีปัญหาต่างๆ ตามมา อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ จะได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 30.80% เพราะสถานการณ์บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับการบริหารประเทศของรัฐบาล กังวลว่าบ้านเมืองจะไม่สงบสุข สนใจเรื่องปากท้องชีวิตความเป็นอยู่มากกว่า ฯลฯ
นั่นเป็นผลสำรวจความเห็นของประชาชนล่าสุดของ “สวนดุสิตโพล” ที่เพิ่งเปิดเผยออกมา ซึ่งเป็นการสะท้อนความรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่า พวกเขามีความต้องการแบบไหน อีกด้านหนึ่งยังเหมือนกับเป็นการตบหน้าพวก “นักการเมือง” บางพวก ที่ออกมากดดันให้รัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการเลือกตั้งตามกำหนด ตามโรดแมป
ทั้งนี้ ตามกำหนดในโรดแมปจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปี 2560 หรือราวๆ เดือนธันวาคม แต่ที่ผ่านมา มีเสียงท้วงติงออกมาว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจไม่ทัน โดยเฉพาะความเห็นของ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่หนึ่ง ที่ระบุว่า อาจติดเงื่อนไขในเรื่องกฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายที่เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.
และ การเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ทันตามกำหนด
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นตามมาว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่จะมี “พระราชพิธีสำคัญ” คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เป็นช่วงที่คนไทยอยู่ในอาการโศกเศร้า ไม่สมควรที่จะมีบรรยากาศของการหาเสียงของพวกนักการเมือง สมควรเลื่อนเวลาการเลือกตั้งออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมามีตัวแทนพรรคการเมือง โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย ออกมาโวยวายกล่าวว่าทำนองว่า เป็นแผนยื้ออำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมไปถึงมีการข่มขู่ถึงขั้นที่ว่า อาจมีการลุกฮือของชาวบ้านที่ไม่พอใจ
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาบุคคลที่ถือว่าทรงอำนาจมากที่สุดที่กำหนดทิศทางในบ้านเมืองนี้ ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า “ไม่เลื่อน” การเลือกตั้ง ไม่ขยายเวลาโรดแมป ทุกอย่างยังเป็นไปตามกำหนดเดิมทุกประการ ทำให้เสียงโวยวายดังกล่าวค่อยๆ เงียบเสียงลงไป
แม้ว่าในคำยืนยันดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นการยืนยันในหลักการ ตามกำหนดเงื่อนไขเวลาตามรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร ที่เพิ่งผ่านประชามติไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ก็ตาม อย่างไรก็ดี เขาก็มี “แต่” ปนมาด้วย นั่นคือ ทุกอย่างขึ้นอยู่การการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติ ว่า จะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายลูกสำคัญทั้ง 4 ฉบับได้ทันตามกำหนดเวลาหรือไม่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
หากให้สรุปในเวลานี้ ถือว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป นั่นคือ การเลือกตั้งน่าเป็นไปตามกำหนด คือ ปลายปี 2560 หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณากฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับ ได้ทันเวลา
แต่สิ่งที่น่าพิจารณากัน ก็คือ ผลสำรวจความเห็นของชาวบ้านล่าสุดของสวนดุสิตโพล ที่ระบุว่า ยังไม่อยากให้มีการเลือกตั้งในช่วงเวลาตามโรดแมป นั่นคือ ไม่อยากให้เลือกตั้งในปลายปีนี้ โดยชาวบ้านต้องการให้มีการปฏิรูปแล้วค่อยจัดให้มีการเลือกตั้ง และที่สำคัญ มีความเห็นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่จะมีพระราชพิธีสำคัญ เป็นช่วงไว้อาลัย ไม่สมควรที่จะมีการหาเสียงเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจดังกล่าวยังเป็นเสมือนการ “ตบหน้า” พวกนักการเมืองที่มีความพยายามเร่งรัดให้มีการเลือกตั้ง เท่ากับว่า เป็นการ “สวนทาง” กับความรู้สึกของชาวบ้าน ว่า มีความต้องการไปอีกทางหนึ่ง เป็นสะท้อนให้เห็นความรู้สึกของชาวบ้านกับนักการเมืองมันยังต่างกันสุดขั้ว คนละเรื่องอย่างชัดเจน !!
ที่มา: manager
0 comments:
Post a Comment