ท่ามกลางวิสัยทัศน์มากมายที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ประกาศในงานประชุมนักพัฒนาประจำปีของตัวเอง Facebook F8 ประเด็นที่น่าสนใจ และสำคัญที่สุด หนีไม่พ้นเรื่องการประกาศลุยควบทั้งตลาด VR และ AR ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้สามารถรับประสบการณ์เสมือนจริงได้แบบสามมิติ
ขณะเดียวกัน ก็ชูความสามารถของระบบทำงานร่วมกันออนไลน์บนความหวังว่า จะตอบโจทย์องค์กรทั่วโลก รวมถึงระบบรับส่งข้อความ “Facebook Messenger” ที่เพิ่มเขี้ยวเล็บให้ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารได้ลื่นไหลกว่าเดิม
***เหมาหมดทั้ง VR และ AR
AR หรือออกเมนต์เต็ท เรียลลิตี้ (Augmented reality) นั้น เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ภาพดิจิตอลสามารถฉายทับภาพวิวจริง ความเก๋ไก๋ของ AR นั้น ทำให้หลายแบรนด์พร้อมชักธงรบในสมรภูมินี้ ล่าสุด เฟซบุ๊กจึงหวังสร้างความแตกต่างด้วยการแจ้งเกิด “เออาร์สตูดิโอ” (AR Studio) บนเวที F8
ทุกไฮไลท์ต้องรู้ “Facebook F8”
AR หรือออกเมนต์เต็ท เรียลลิตี้ (Augmented reality) นั้นเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ภาพดิจิตอลสามารถฉายทับภาพวิวจริง
สิ่งที่เฟซบุ๊กทำ คือ การเปิดกว้างแพลตฟอร์ม AR ให้นักพัฒนาสามารถใช้เครื่องมือของบริษัทในการพัฒนาโปรแกรม AR การเปิดกว้างนี้จะทำให้นักพัฒนาไม่ต้องลงทุนกับการพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่มด้วยตัวเอง ซึ่งซับซ้อน และใช้ทุนสูง เช่น เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพที่ใช้กันมากในแอปตระกูล AR
มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ได้เปิดตัว “คาเมราเอฟเฟ็กต์แพลตฟอร์ม” (Camera Effects Platform) เครื่องมือสำหรับนักพัฒนาภายนอกในการสร้างแอปพลิเคชันด้าน AR ที่สามารถเข้าถึงได้จากกล้องในแอปพลิเคชันของเฟซบุ๊ก ซึ่งการพัฒนาชิ้นนี้จะทำให้เฟซบุ๊กสามารถเป็นโฮสต์ของคอนเทนต์ในลักษณะเดียวกับเกม “โปเกมอน โก” อันลือลั่นได้เลยทีเดียว นำไปสู่โอกาสสร้างฐานะแหล่งรวมแอปพลิเคชัน AR รายใหญ่ของโลกในอนาคต
ไฮไลท์ที่ 2 ของงาน F8 คือ การประกาศหนุนเทคโนโลยี VR ให้สุดทาง ไฮไลท์นี้เป็นภาคต่อจากการตัดสินใจของ Facebook ในการซื้อบริษัทโอคูลัส (Oculus) ที่เกิดขึ้น เพราะวิสัยทัศน์ว่า VR หรือเวอร์ชวลเรียลิตี้ (Virtual reality) ไม่ได้เหมาะกับการเล่นเกมอย่างเดียว แต่สามารถเพิ่มสีสันให้บริการโซเชียลได้อย่างก้าวกระโดด
งานนี้ Facebook จึงประกาศให้ทุกคนร่วมทดลองบริการใหม่ชื่อ “สเปซซึส” (Facebook Spaces) บริการนี้จะเปิดให้ผู้ใช้ร่วมสร้างการ์ตูนอวาตาร์แทนตัวเอง การ์ตูนอวาตาร์นี้จะสามารถแชร์ภาพ เล่นเกม ถ่ายเซลฟี่ รวมถึงโทรวิดีโอคอลถึงใครก็ได้บนโลกแห่งความจริง
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ VR นี้ แว่นตา Oculus Rift ซึ่งในเวอร์ชันทดสอบนี้ เราจะสามารถเชิญเพื่อนมาอยู่ในโลกเสมือนจริงได้ 3 คนพร้อมกัน มาร่วมดูคลิปวิดีโอ, ถ่ายภาพ หรือทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งหมดนี้ต้องใช้อุปกรณ์สวมศีรษะ Oculus Rift บนคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากพอ
ข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์สวมศีรษะ Oculus Rift ที่ต้องใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์ราคาสูง ทำให้มีการคาดการณ์ว่า Facebook อาจกำลังพัฒนาอุปกรณ์สวมศีรษะไร้สายที่ไม่ต้องทำงานร่วมกับพีซี และเมื่อ Facebook Spaces พร้อมเปิดให้บริการ เมื่อนั้น ราคาของอุปกรณ์สวมศีรษะเทคโนโลยี VR ก็อาจลดต่ำลงเหลือไม่เกิน 500 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 15,000 บาท
***เน้นธุรกิจ+ทำงาน
ไฮไลท์ที่ 3 อยู่ที่ เดวิด มาร์คัส (David Marcus) ประธานฝ่ายบริการรับส่งข้อความสนทนา “เมสเซนเจอร์” (Messenger) ระบุว่า Messenger จะมีความสามารถมากขึ้น โดยเฉพาะการตอบโจทย์องค์กรเรื่องระบบตอบข้อความอัตโนมัติ หรือบอต (bot)
ทุกไฮไลท์ต้องรู้ “Facebook F8”
เรื่องใหม่ของ Messenger คือการเปิดบริการแท็บค้นหาใหม่และบริการสแกนคิวอาร์โค้ด
เรื่องใหม่ของ Messenger คือ การเปิดบริการแท็บค้นหาใหม่ และบริการสแกนคิวอาร์โค้ด ที่เมื่อผู้ใช้เปิดกล้องใน Messenger เพื่อสแกน ก็จะสามารถเชื่อมต่อกับบอตของแบรนด์ต่างๆ ได้ วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ Facebook Messenger ติดต่อสื่อสารกับระบบบอตองค์กรที่มีอยู่มากกว่า 1 แสนระบบบนเฟซบุ๊กได้ง่ายขึ้น
บริการนี้ถูกมองว่า สร้างมาเพื่อแก้ทางวีแชต แอปพลิเคชันแชตจากจีนที่ทำให้ผู้ใช้สามารถซื้อตั๋ว จองร้านอาหาร หรือเรียกรถร่วมเดินทางโดยไม่ต้องออกจากแอป ขณะเดียวกัน Messenger ยังถูกอัปเกรดด้วยการรองรับบริการเพลงออนไลน์อย่างสปอติไฟ (Spotify) ทำให้ทุกคนสามารถวางเพลงลงในกลุ่มเพื่อให้ทุกคนร่วมฟังในเวลาเดียวกัน
ไฮไลท์ที่ 4 คือ บริการเวิร์กเพลส (Facebook Workplace) ที่จะมีพันธมิตรมากขึ้น ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเปิดให้บริการ Workplace แบบฟรีตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยจะเริ่มให้บริการแบบเก็บค่าบริการในปลายปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มเครื่องมือ และพื้นที่สำหรับส่งไฟล์ที่มากขึ้น
วันนี้ Workplace มีพันธมิตรมากขึ้นทั้งไมโครซอฟท์, บ็อกซ์ (Box), ควิบ (Quip) และเซลส์ฟอร์ซ (Salesforce) ทำให้ผู้ใช้สามารถส่งต่อ และจัดการไฟล์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ Workplace ยังเปิดกว้างให้นักพัฒนาสามารถสร้างบอตพิเศษบนแพลตฟอร์ม ตามความต้องการของธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ
***มือไม่ต้อง สมองพิมพ์เอง
เรจินา ดูแกน (Regina Dugan) ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ระบุว่า ในอนาคต เราจะสามารถคิดเป็นภาษาจีนแมนดาริน และฟังเข้าใจเป็นภาษาสเปน โดยขณะนี้เฟซบุ๊ก ประกาศว่า กำลังลุยสร้างเทคโนโลยีที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยสมอง ซึ่งขณะนี้สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ “พิมพ์ด้วยความคิด” สำเร็จแล้ว
จากการทดลองล่าสุด ซอฟต์แวร์นี้ทำให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์ด้วยความเร็ว 100 คำต่อนาที อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ระบุว่า โครงการนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เป้าหมายในอนาคต คือ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถนำคลื่นสมองมาประมวลผลโดยไม่ต้องมีการผ่าตัดใดๆ
ทุกไฮไลท์ต้องรู้ “Facebook F8”
เรจินา ดูแกน (Regina Dugan) ผู้บริหารเฟซบุ๊กระบุว่าในอนาคต เราจะสามารถคิดเป็นภาษาจีนแมนดาริน และฟังเข้าใจเป็นภาษาสเปน
ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ยืนยันว่า เทคโนโลยีของเฟซบุ๊กไม่ได้ถอดรหัสความคิดแบบสุ่ม แต่ผู้ใช้สามารถเลือกความคิดที่มีอยู่หลายอย่างในสมองออกมาแชร์ได้ในรูปคำ หรือ word จุดนี้ทำให้เฟซบุ๊กเรียกอินเทอร์เฟซใหม่ว่า “silent speech interface” เรียกว่าแทนที่จะพูดออกมาเป็นประโยคในแต่ละภาษา ชาวเฟซบุ๊กในอนาคตจะสามารถคิดประโยคนั้น เพื่อให้รีบพิมพ์ออกมาอย่างรวดเร็วทันใจ
ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานจากหน่วย Building 8 ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านฮาร์ดแวร์ของเฟซบุ๊ก จุดนี้เฟซบุ๊ก เผยว่า ตั้งใจพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะนี้ทั้งทีมมีนักวิทยาศาสตร์ และนักวิชาการกว่า 60 ชีวิตร่วมโครงการ
ประเด็นนี้ ซีอีโอมาร์ก ระบุว่า สมองของมนุษย์สามารถสร้างข้อมูลขนาดเท่าภาพยนตร์ HD 4 เรื่องต่อวินาที แต่ที่ผ่านมา มนุษย์ถูกจำกัดให้ต้องสื่อสารผ่านวลี หรือการพูด ทำให้ความคิดนั้น ถูกย่อยเป็นข้อมูลปริมาณน้อยเหมือนที่โมเดมในยุคปี 80 ทำได้ แนวคิดนี้ทำให้เฟซบุ๊กตั้งใจสร้างระบบที่จะทำให้ผู้ใช้สามารถพิมพ์ข้อความจากสมองโดยตรง ซึ่งจะทำให้การพิมพ์ทำได้เร็วขึ้น 5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับการพิมพ์บนโทรศัพท์ในทุกวันนี้
ในอนาคต เฟซบุ๊กอาจพัฒนาระบบนี้ในรูปแบบสินค้าที่สวมใส่ได้ หรือ wearable ซึ่งสามารถขึ้นสายพานการผลิตในจำนวนมาก เมื่อถึงวันนั้น เทคโนโลยีรอบด้านทั้ง AR และ VR จะมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น
เฟซบุ๊กไม่ใช่รายแรกที่ลงมือพัฒนาเทคโนโลยีอ่านคลื่นสมอง ขณะนี้เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นที่รู้จักในท้องตลาดแล้วในชื่อ อีอีจี (Electroencephalogram : EEG) แต่เทคโนโลยียังทำงานในขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้ใช้สามารถเคลื่อนจุดขึ้น หรือลงบนคอมพิวเตอร์ได้เท่านั้นเอง.
ที่มา: manager
0 comments:
Post a Comment