เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 60 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และกรมราชทัณฑ์ จัดเสวนาหัวข้อ ก้าวที่พลาดกับโอกาสในการแก้ไข มิติใหม่แห่งความร่วมมือ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหลังพ้นโทษเนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปี การรับรองข้อกำหนดกรุงเทพ
นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า แม้โทษจำคุกจะเป็นกลไกสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่ผลกระทบของการจำคุกก็อาจกลายเป็นตราบาปของผู้ต้องขัง ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังหญิงหรือชาย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่สังคมสามารถหยิบยื่นให้ได้ก็คือ โอกาสที่จะทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกในครอบครัว โอกาสที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้งโดยไม่มีตราบาป TIJ จึงพยายามผลักดันให้เรือนจำทั่วประเทศนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู ผู้กระทำผิดผ่านกิจกรรมและโปรแกรมการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพต่างๆ ควบคู่ไปกับการปรับสภาพจิตใจ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ต้องขังให้เป็นคนที่ดีกว่าเดิม เพื่อช่วยสร้างพลังด้านบวกให้พวกเขากลับใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่หวนมากระทำความผิดอีก
นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า เนื่องในวาระการครบรอบ 7 ปีข้อกำหนดกรุงเทพ และจุดเริ่มต้นของ TIJเกิดขึ้นเพื่อรองรับข้อกำหนดกรุงเทพ โดยหนึ่งในภารกิจหลัก คือการส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีต่อผู้ต้องขังทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยโครงการสำคัญที่ TIJ ได้ดำเนินการร่วมกับกรมราชทัณฑ์คือโครงการเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ เพื่อส่งเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการนำเอาข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ และส่งเสริมให้เกิดเรือนจำและทัณฑสถานหญิงที่สามารถนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตในเรือนจำและอนาคตของผู้ต้องขัง นำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีอย่างยั่งยืน
ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่าจากสถิติในรอบ 10 ปีของผู้ต้องขังหญิงจากข้อมูลของกรมฯระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีจำนวนผู้ต้องขัง 42,772 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ซึ่งมีจำนวนผู้ต้องขัง 26,321 คน จำนวนเท่าตัวนอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย และหากเทียบกับประชากร 100,000 คน ถือว่าประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้ต้องขังหญิงเป็นอันดับ 1 ของโลก อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคดีการเสพ และการค้ายาเสพติดในฐานะผู้ค้ารายย่อย ในขณะเดียวกันผู้หญิงในสังคมไทย ก็มีบทบาทเป็นแม่และเป็นลูกที่มีหน้าที่ดูแลบุพการี การกระทำผิดและเข้าสู่เรือนจำของผู้หญิง จึงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ต้องพึ่งพิงอีกหลายคนในครอบครัว และการกลับสู่สังคมโดยไม่ต้องกลับมาอยู่ในวังวนของการกระทำผิดจึงมีความสำคัญยิ่ง
"จากข้อมูลอัตราผู้กระทำความผิดซ้ำโดยกระทรวงยุติธรรม เดือนพฤศจิกายน 2560 พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีผู้พ้นโทษที่กระทำความผิดซ้ำภายใน 1 ปี ประมาณ 14% และภายใน 3 ปี ราว 27% โดยสาเหตุของการกระทำความผิดมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งขาดการยอมรับจากสังคมภายหลังพ้นโทษ ทั้งนี้มีจากผลการวิจัยพบว่า โอกาสในการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เคยต้องโทษเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำ" พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทั้งในงานดังกล่าวได้มีการมอบรางวัลเรือนจำต้นแบบประจำปี 2560 และมอบประกาศนียบัตรเรือนจำต้นแบบเพิ่มอีก 4 แห่งเป็นเรือนจำในภาคเหนือ คือ เรือนจำกลางเชียงราย เรือนจำอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เรือนจำกลางตาก และทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก เพิ่มเติมจากเรือนจำต้นแบบที่มีอยู่เดิม 6 แห่งได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำกลางสมุทรสาคร ทำให้ประเทศไทยมีเรือนจำต้นแบบรวมทั้งสิ้น 10 แห่ง
ที่มา: bangkokbiznews
0 comments:
Post a Comment