แต่ความเคลื่อนไหวนี้ในทางการเมือง หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นความพยายามก่อหวอดเพื่อหวังผลให้เลื่อนเวลาการเลือกตั้งออกไปมากกว่าการเคลื่อนไหวให้แก้กฎหมายพรรคการเมือง และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นจังหวะจะโคน เหมือนแบ่งงานกันทำ และวางแผนมาเป็นอย่างดี
เริ่มจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน หนึ่งในคณะผู้เตรียมการก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งประกาศชัดถ้อยชัดคำว่าจะสนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯต่อไปอีก 1 สมัย ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ 2 รอบ ทั้งเสนอให้แก้กฎหมายพรรคการเมืองเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองเก่าที่มีสมาชิกอยู่ก่อนแล้วกับพรรคการเมืองที่กำลังจะตั้งขึ้นใหม่ และการเสนอให้ใช้มาตรา 44 สั่งงดเว้นการบังคับใช้บทบัญญัติบางมาตราของกฎหมายพรรคการเมือง ในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำ “ไพรมารีโหวต”
รายต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่ออกตัวสนับสนุน “นายกฯลุงตู่” มาตั้งแต่ก่อนปฏิวัติ ก็ออกมาส่งหนังสือถึง สนช. สนับสนุนให้แก้กฎหมายพรรคการเมือง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคการเมืองเก่าและพรรคที่จะตั้งขึ้นใหม่
ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ได้ออกมาเสนอแนวคิดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเกี่ยวกับที่มาของ ส.ส. ให้ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยให้เป็น ส.ส.อิสระทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง ซึ่งประเด็นนี้นอกจากต้องแก้รัฐธรรมนูญที่เพิ่งบังคับใช้มาเมื่อวันที่ 6 เม.ย.แล้ว ยังต้องแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด ทั้งกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย โดย สมศักดิ์ บอกว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีนับจากนี้ ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อความปรองดอง
กล่าวสำหรับ สมศักดิ์ เทพสุทิน ต้องโฟกัสเขามากเป็นพิเศษ เพราะเขาคือนักการเมืองเจ้าของฉายา “รมต.เรียงหิน” เขาเป็นอดีต ส.ส.สุโขทัย หลายสมัย สถานะในปัจจุบันคือแกนนำกลุ่มมัชฌิมา มีอดีต ส.ส.ในสังกัดอยู่จำนวนหนึ่ง
สัปดาห์หน้า “นายกฯลุงตู่” จะนำคณะรัฐมนตรีไปประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สุโขทัย ทำให้ สมศักดิ์จึงได้จังหวะออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเสนอแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค จนเป็นที่ฮือฮา เพราะการเสนอแก้กฎหมายพรรคการเมือง หากทำในกระบวนการปกติ คือเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะต้องใช้เวลานานหลายเดือน และกระทบกับ “โรดแมพเลือกตั้ง” อย่างแน่นอน แต่หากต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วยตามที่สมศักดิ์เสนอ อาจต้องใช้เวลาอีกเป็นปี
ความเคลื่อนไหวของ “สามเกลอการเมือง” ไพบูลย์ นิติตะวัน, สุเทพ เทือกสุบรรณ และ สมศักดิ์ เทพสุทิน ทำให้คอการเมืองตั้งคำถามว่า คนเหล่านี้มีแผนล้มโรดแมพเลือกตั้งหรือไม่ และยังทำให้มองเห็นภาพการ “จับขั้วการเมือง” ของ คสช. ที่แม้จะปฏิเสธการตั้งพรรคทหาร (ที่เป็นข่าวล่าสุดคือ พรรคประชารัฐ) แต่จริงๆ แล้ว คสช.ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เพราะได้สร้างเครือข่ายทางการเมืองเอาไว้พอสมควร เพื่อเตรียมเสียงสนับสนุนสำหรับโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
แน่นอนว่าในเครือข่ายนี้ ต้องมีพรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ มีกลุ่มนักการเมืองที่เป็นอดีตแกนนำ กปปส.ของสุเทพ มีกลุ่มมัชฌิมาของสมศักดิ์ และอาจรวมไปถึงพรรคชาติไทยพัฒนาที่ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีใน ครม.ประยุทธ์ 5 แล้ว
นี่อาจจะเป็น “ภาพลางๆ” ของรัฐบาลผสมชุดใหม่หลังเลือกตั้ง โดยมีบิ๊กคสช.หวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย
ที่มา: bangkokbiznews
0 comments:
Post a Comment