ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดี 707 วันนี้ (5 มี.ค.) ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.2001/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเอกยุทธ อัญชันบุตร อายุ 53 ปี นักธุรกิจการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ กับพวกอีก 2 คือ นายก้องการุณ ศรีประสาน อายุ 33 ปี อาชีพค้าขาย และนายสันติภาพ เพ็งด้วง อายุ 24 ปี อาชีพรับจ้าง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและร่วมกันพกพาอาวุธปืน ไปในเมือง สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, มาตรา 188 และ มาตรา 371
โดยอัยการฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2555 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายบท โดยนายเอกยุทธ จำเลยที่ 1 ได้ยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 2-3 ทำร้ายร่างกายใช้มือตบศีรษะ ชกต่อยที่บริเวณใบหน้า ใช้เท้าถีบลำตัว ล็อกคอ และลากตัวนายจตุพล มังกรทอง รองผู้จัดการร้านคาราโอเกะซิตี้ ย่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม แขวงและเขตลาดพร้าว กทม. นอกจากนี้ นายก้องการุณ จำเลยที่ 2 ได้บังอาจทำร้ายร่างกาย น.ส.เฟื่องฟ้า กันทมูล แคชเชียร์ โดยขว้างขวดน้ำอัดลมใส่ประตูกระจกห้องพนักงานเก็บเงินจนเศษกระจกกระเด็นบาดหน้าแข้งซ้ายของ น.ส.เฟื่องฟ้าได้รับบาดเจ็บ และจำเลยที่ 3 ได้ทำร้ายร่างกายใช้มือผลักกระแทกใบหน้า น.ส.จุฬา เครือวัลย์ ผู้จัดการร้าน จนบาดเจ็บ นอกจากนี้ นายเอกยุทธ จำเลยที่ 1 ยังได้ทำลายเอกสารบันทึกการขายหรือใบสลิปชำระค่าอาหารและเครื่องดื่มจำนวน 34,895 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระด้วยบัตรเครดิต ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ด้วยการขยำทิ้งลงในบ่อน้ำของร้าน ทั้งนี้ จำเลยที่ 2 และ 3 ยังได้พกอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ไม่มีหมายเลขทะเบียน อันเป็นอาวุธตามกฎหมายติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรระหว่างพิจารณาคดีนายเอกยุทธถึงแก่ความตาย
ศาลพิพากษาว่า ข้อเท็จจริงฟังว่านายเอกยุทธ จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายก่อนศาลมีคำพิพากษา คดีอาญาส่วนของนายเอกยุทธ จึงระงับไปตาม ป.วิอาญา มาตรา 39 (1) และพยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2-3 พกพาอาวุธปืน พิพากษายกฟ้องข้อหานี้ ส่วนข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้อันตราย เห็นว่าผลการตรวจของแพทย์ระบุว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตาม มาตรา 391 อีกกระทงหนึ่งด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงความผิด ฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 30 วัน ปรับ 1,000 บาท
ส่วนจำเลยที่ 3 ให้จำคุก 1 เดือน ฐานใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหาย ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มีกำหนด 1 เดือน แต่ให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้างลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 20 วัน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสปรับตัวเป็นคนดี จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปีและบำเพ็ญประโยชน์ 12 ชั่วโมง สำหรับจำเลยที่ 3 ให้นับโทษต่อจากคดีฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร หมายเลขแดงที่ อ.5929/2557 ด้วย
ภายหลังนายก้องการุณ บุตรชายนายเอกยุทธ อัญชันบุตร กล่าวว่า วันนี้นายสันติภาพพบตนก็ไม่ได้แสดงอาการสะทกสะท้าน แต่ทราบว่าเขามีความเป็นอยู่ลำบาก คดีนี้แม้ยังไม่มีการสาวถึงผู้บงการ สังคมก็รู้กันอยู่ว่าใครทำ แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านผู้เสียหายคดีนี้ตนจ่ายค่ารักษาบาดแผลไป 8 หมื่นบาท และซ่อมแซมร้านที่เสียหายจนเป็นที่พอใจแล้ว และศาลลงโทษฐานทำร้ายร่างกายเล็กน้อย จึงไม่คิดอุทธรณ์ ส่วนเรื่องพ่อตอนนี้ย่าเป็นผู้จัดการมรดก บอกไม่ได้ว่ามีทรัพย์มรดกเท่าไหร่ ส่วนตนจะกลับไปทำธุรกิจที่อังกฤษ ไม่คิดเล่นการเมืองแน่นอน
ที่มา,http://manager.co.th/
0 comments:
Post a Comment