สอง-การทำพระธรรมวินัยให้วิปริตที่พบว่ามีสาเหตุมาจากสำนักวัดพระธรรมกายทำลายความน่าเชื่อถือของพระไตรปิฎก การปลอมปนคำสอนในลัทธิของตนลงในพระไตรปิฎก การพยายามยกย่องครูบาอาจารย์ของตน ถึงขนาดที่ใช้ทัศนะอ้างเป็นมาตรฐานเพื่อตัดสินหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนารวมถึงอรรถาธิบายชักจูงให้คนทั่วไปเข้าใจว่าบุญมีฐานะเป็นดุจสินค้าชนิดหนึ่งและเมื่อทำบุญจะให้ผลสัมฤทธิ์อย่างปาฏิหาริย์
สาม-การประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัยเฉพาะประเด็นหลัก ได้แก่ การพยายามนำเอาลัทธิทุนนิยมที่อยู่ในระบบการตลาดเข้ามาผสมผสานกับการบริหารวัด รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์กับบุคคล องค์กรทางธุรกิจ การเมือง ส่งผลให้สำนักวัดพระธรรมกายกลายเป็นสำนักที่มีความเจริญอย่างรวดเร็วทั้งในทางวัตถุทุนทรัพย์ และในทางชื่อเสียง แต่วิธีเหล่านี้เป็นพฤติการณ์ที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับพระพุทธศาสนาที่เน้นความเรียบง่ายและไม่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม
สี่-พฤติการณ์อันสืบเนื่องมาจากสำนักวัดพระธรรมกายทั้งหมดนั้นเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาและต่อสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐานชนิดที่ว่า ถ้าสำนักวัดพระธรรมกายทำสำเร็จตามจุดมุ่งหมายจะส่งผลให้พระพุทธศาสนาในประเทศไทยซึ่งเป็นพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาทต้องสูญสิ้น และสังคมไทยก็อาจกลายเป็นสังคมที่มีค่านิยมหวังผลดลบันดาล มัวเมาอยู่ในอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์.ละถูกหลอกให้เพลินจมอยู่ในสุขอันดื่มด่ำจากสมาธิวิธีที่ ถือว่าเป็นมิจฉาสมาธิและเต็มไปด้วยผู้คนที่ตกเป็นทาสของลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม และวัตถุนิยมอย่างงมงาย ไม่อาจหลุดพ้นเป็นอิสระไปจากการครอบงำของลัทธิเหล่านี้ได้
นั่นคือ 4 ประเด็นสำคัญที่ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต) หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา “ป.อ. ปยุตฺโต” สรุปความจริงของวัดพระธรรมกายเอาไว้อย่างชัดเจนที่สุดในหนังสือ “กรณีธรรมกาย”
แต่ไม่ว่าจะมีความชัดเจนสักเพียงใดก็มิได้มีความหมาย เพราะนับตั้งแต่เกิดเรื่องขึ้นในปี 2542 อาณาจักรธรรมกายที่มี พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เป็นเจ้าอาวาสก็ยังคงยืนหยัดฝ่าฝันปัญหามาได้ แถมยิ่งนานวันก็ทรงอำนาจและบารมี มีเครือข่ายกระจายไปทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ เนื่องจากพรั่งพร้อมไปด้วยฐานสนับสนุนทั้งทางโลกและทางธรรม โดยเฉพาะทางธรรมที่มีมหาเถรสมาคม(มส.) องค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยซึ่งถือว่าเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กของวัดเลยก็ว่าได้
ปัจจุบัน วัดพระธรรมกายมีศูนย์สาขาและศูนย์ปฏิบัติธรรมไปทั่วประเทศกว่า 51 แห่ง และขยายไปต่างประเทศอีกกว่า 80 แห่ง ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลางและแอฟริกานอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมกายแคลิฟอร์เนียที่สหรัฐ (DOU - Dhammakaya Open University) โดยเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เปิดสอนระบบทางไกล ด้วยภาษาไทย อังกฤษ และจีน ปัจจุบันมี 3 หลักสูตร คือ ประกาศนียบัตร หลักสูตร Pre-Degree และสัมฤทธิบัตร ปริญญาตรี หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) เรียน 4 ปี และปริญญาโท หลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) เรียน 2 ปี
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ หลังมีความพยายามที่จะเอาผิดกับพระธมฺมชโยโดยหยิบยกประเด็นเรื่องพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าพระธมฺมชโยต้องอาบัติปาราชิก รวมถึงการที่ “ฝ่ายอาณาจักร” เดินทางตรวจสอบความข้อเกี่ยวของพระธมฺมชโยในคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งปรากฏหลักฐานการสั่งจ่ายเช็คจาก “นายศุภชัย ศรีศุภอักษร” อดีตประธานยักยอกเงินของสหกรณ์ฯ และโอนเข้าบัญชีของพระธมฺมชโยและเครือข่ายวัดพระธรรมกายมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท “เครือข่ายปกป้องนะจ๊ะ” ก็เคลื่อนไหวกันอย่างเอิกเกริก
สังคมไทยจะได้เห็นองค์กรพุทธที่ทั้งเคยได้ยินชื่อและไม่เคยได้ยินชื่อปรากฏตามสื่อต่างๆ มากมาย และบางองค์กรถึงกับต้องหันไปถามกันเลิกลั่กว่า เอ๊ะ...องค์กรเหล่านี้มีด้วยหรือ เช่น องค์กรพระพุทธศาสนาแห่งรัฐอุตรกานด์ ประเทศอินเดีย,เครือข่ายพระธรรมทูตไทยและกลุ่มชาวพุทธไทยในยุโรปและสหราชอาณาจักร ซึ่งมีพระโสภณพุทธิวิเทศ หรือเจ้าคุณเบอร์ลิน พระธรรมทูตไทยที่ปฏิบัติศาสนกิจในประเทศเยอรมนีเป็นตัวตั้งตัวตี,เครือข่ายรวมพลคนพุทธ สมัชชาสงฆ์ไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีพระครูสิริอรรถวิเทศเป็นเลขาธิการ, เครือข่ายพระธรรมทูตอาสา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้,เครือข่ายชาวพุทธแห่งประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ,องค์กรสงฆ์รุ่นใหม่ปกป้องสังฆมณฑล,คณะนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี เป็นต้น
แน่นอน เนื้อใหญ่ใจความขององค์กรเหล่านี้คือ ไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องศาสนา และเรียกร้องให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เป็นประธาน
แถมยังกดดันถึงขนาดที่พระเมธีธรรมาจารย์(ประสาร จันทสาโร)รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา(สนพ.) ประกาศว่า สนพ.ยังคงยืนยันที่จะนิมนต์พระสงฆ์และฆราวาสจำนวนมากมาร่วมชุมนุมในวันที่ 12 มีนาคม 2558 นี้เลยทีเดียว
“เครือข่ายนี้มีความเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองและกลุ่มธรรมกาย หวังจะใช้กรณีนี้ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง ไม่ให้มีการตรวจสอบการกระทำที่เสื่อมเสียต่อกิจการพระพุทธศาสนา การได้มาซึ่งผลประโยชน์ และกระตุ้นโยงความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อคัดค้านรัฐบาลหรือไม่ ผมตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะไม่ใช่แค่การออกมากดดันให้ยุบคณะกรรมการฯ ชุดนี้ แต่จะใช้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อดิสเครดิตฝ่ายการเมืองด้วย เพราะคณะกรรมการชุดผมเพิ่งจะเริ่มดำเนินการและชี้ปัญหาที่มีอยู่เดิมและที่เพิ่งได้รับร้องเรียนเพิ่ม ยังไม่ได้รับฟังความเห็นทั้งจากพุทธบริษัท ฝ่ายดังกล่าวคงกลัวว่าพุทธบริษัททั่วประเทศจะเอาความจริงมาตีแผ่และนำไปสู่การปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยและพุทธปฏิบัติอย่างแท้จริงซึ่งจะทำลายผลประโยชน์ เครือข่าย อำนาจและอิทธิพลที่ฝังลึกในองค์กรรัฐบางแห่งและคณะสงฆ์ จึงขอวิงวอนให้พุทธศาสนิกชนไทยร่วมใจกันจับตาดูการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่อ้างพระพุทธศาสนาว่าพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นใช่และสมควร”
นายไพบูลย์นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาตั้งข้อสังเกต
ไม่เพียงแต่เครือข่ายทางด้านพระเท่านั้น หากแต่ในฝ่ายอาณาจักรก็ชัดเจนว่า เครือข่ายของธรรมกายมีอยู่ดาษดื่น ทว่า ที่เด็ดที่สุดก็คือ “คนเสื้อแดง” และ “พรรคเพื่อไทย” ที่แสดงตัวให้เห็นว่าเป็นพวกเดียวกันผ่านการให้สัมภาษณ์ของ “นพ.เหวง โตจิราการ”
นี่คือความไม่ธรรมดาของพระธมฺมชโยและวัดพระธรรมกาย กระทั่งดูเหมือนว่า จะไม่สามารถจัดการอะไรกับพระธมฺมชโยได้ หรือถ้าจะกล่าวว่า พระธมฺมชโยยังคงยืนเด่นโดยท้าทายก็คงไม่เกินเลยจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
กรณีพระลิขิต เป็นที่ชัดเจนว่า จบ เพราะเจ้าคณะผู้ปกครองไล่เรื่อยมาตั้งแต่เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาคเงียบกริบต่อเรื่องนี้ ขณะที่มหาเถรสมาคม(มส.) ไม่เพียงแต่เพิกเฉยต่อการเข้ามาจัดการปัญหาพระธมฺมชโยเท่านั้น หากยังเข้ามาปกป้องและโอบอุ้มอีกต่างหาก
และในเมื่อเจ้าคณะผู้ปกครองและองค์กรปกครองสูงสุดของสงฆ์อย่าง มส.นิ่งเฉยเลยผ่าน ก็คงไม่มีใครจัดการได้
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิให้ข้อมูลที่น่าสนใจในประเด็นดังกล่าวว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายได้สร้างสัมพันธ์อันดีกับพระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ รวมทั้งกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะฝ่ายมหานิกาย มีการนิมนต์มาร่วมงานสำคัญของวัด และให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นอันมาก ดังนั้นพระผู้ใหญ่และกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นส่วนใหญ่จึงมีความรู้สึกที่ดี กับวัดพระธรรมกาย
นอกจากนั้นยังมีการเมืองในคณะสงฆ์ระหว่างมหานิกายกับธรรมยุตเข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ กรรมการมหาเถรสมาคม รวมทั้งพระผู้ใหญ่โดยเฉพาะฝ่ายมหานิกาย ต้องการเห็นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ฝ่ายมหานิกาย ขึ้นเป็นสังฆราช แต่หากพบว่าผู้นำวัดพระธรรมกายผิดตามข้อกล่าวหา ก็อาจส่งผลให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์พลาดจากตำแหน่งสังฆราชเนื่องจากเป็น ผู้สนับสนุนผู้นำวัดพระธรรมกายมาโดยตลอด ผลที่ตามมาก็คือ ตำแหน่งสังฆราชก็จะตกแก่สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุต (อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม....หน้า 20-21)
ส่วนฝ่ายที่เคลื่อนไหวกดดันให้ฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรเข้ามาชำระสะสางก็ดูเหมือนว่าจะมีเพียงตัวละครหน้าเดิมๆ อย่างนายไพบูลย์ นิติตะวันผสานกับพระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือหลวงปู่พุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐมที่ยังคงเดินหน้าฟาดฟันพระธมฺมชโยอย่างแข็งขันด้วยการเดินหน้าแจ้งความดำเนินคดี พร้อมทั้งกดดันหน่วยงานต่างๆ ให้ขยับเขยื้อน
“ถ้ายังบังคับให้พระธมฺมชโย สึกจากความเป็นพระไม่ได้ จะลาสิกขาทันที เพราะละอายตัวเองที่ไม่สามารถช่วยรักษาพระธรรมวินัยได้ ชีวิตนี้ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อรักษาพระธรรมวินัย และปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”หลวงปู่พุทธะอิสระประกาศ
จะมีก็แต่กรณีคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่พระธมฺมชโยเข้าไปมีส่วนร่วมกับการรับเช็คเงินโกงของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานฯ เท่านั้น ที่อาจจะพอมีความหวังและมีความคืบหน้าในทางคดีอยู่บ้าง เนื่องเพราะมีหลักฐานชัดเจนว่า พระธมฺมชโยรับเงินจริง และหน่วยงานอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ทำงานอย่างขมีขมัน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเส้นทางการยักยอกทรัพย์ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พบว่า มีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการรับโอนเงินผ่านเช็ค 878 ฉบับจำนวน 6 กลุ่มด้วยกันคือ
1.กลุ่มวัดพระธรรมกายและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัด
2.บริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้ง กรุ๊ป(ประเทศไทย) จำกัดและนายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล อดีตเณรและพระที่บวชในวัดพระธรรมกาย รวมทั้งเคยมีตำแหน่งเป็นไวยาวัจกรของวัดพระธรรมกายด้วย
3.กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีที่มีความเชื่อมโยงทางการเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อการทำบุญ และพระธมฺมชโยเคยเข้าเยี่ยมชมกิจการของสหกรณ์แห่งนี้
4.มูลนิธิรัฐประชาทีเกี่ยวข้องกับนายจิรเดช วรเพียรกุล อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ นักธุรกิจ
5. กลุ่มญาติธรรมที่มีเงินจากสหกรณ์ฯ ไหลผ่านจำนวน 50 คน
และ6.กลุ่มผู้รับเงินจากสหกรณ์ฯ โดยมีมูลหนี้ระหว่างกัน
กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีถือว่าน่าสนใจมาก เพราะมีนายศุภชัยเป็นผู้บริหารทั้งสองแห่ง โดยสหกรณ์ฯ คลองจั่นเปิดไว้เพื่อระดมเงินฝาก ให้เงินปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยสถาบันการเงิน จากนั้นจะนำเงินเหล่านี้ไปลงทุนในสหกรณ์ฯมงคลเศรษฐี ซึ่งจะนำเงินมาปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำอีกต่อ หนึ่ง
นอกจากนี้ ยังพบว่า สหกรณ์ฯ มงคลเศรษฐีมีวงเงินปล่อยกู้ให้แก่ลูกศิษย์วัดเพื่อทำบุญกับวัดพระธรรมกาย และจากการตรวจสอบงบดุลพบมีการปล่อยกู้เพื่อการกุศลจริง โดยมีลูกหนี้เกือบ 500 ราย เป็นเงินกว่า 230 ล้านบาท
ดร.นพ.มโน เลาหวนิช หรืออดีตพระเมตตานันโท อดีตกรรมการบริหารอาวุโสและมูลนิธิวัดพระธรรมกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีตั้งในวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปล่อยสินเชื่อเพื่อการกุศล จ่ายปันผลสำหรับหุ้นถึง 8% และจ่ายดอกเบี้ยออมทรัพย์พิเศษสำหรับเงินฝากถึง 3.5-5.25% และปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ต้องการจะกู้เงินเพื่อทำบุญกับวัดพระธรรมกายโดยคิดดอกเบี้ย 12% ต่อปี
และเมื่อข้อมูลชัด ดีเอสไอก็ได้ออก “หมายเรียก” พระธมฺมชโย กลุ่มพระในวัดพระธรรมกาย และนิติบุคคล บริษัท ห้างร้านที่มีรายชื่อรับเช็คจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดี นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนียน คลองจั่นกับพวก 8 คน ยักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนียน มูลค่าความเสียหายกว่า 16,000 ล้านบาท เปิดเผยว่า ได้ออกหมายเรียกพระธมฺมชโย และกลุ่มพระในวัดพระธรรมกายที่มีรายชื่อปรากฏรับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนียน คลองจั่น เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน โดยจัดลำดับการเข้าให้ปากคำ เริ่มจากวันที่ 10 มีนาคมนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังออกหมายเรียกนิติบุคคล บริษัท ห้างร้าน ที่มีชื่อรับเช็คจากสหกรณ์ฯ ในช่วงปี 2552-2555 ที่นายศุภชัยเป็นประธานกรรมการบริหารสหกรณ์ฯและเป็นผู้สั่งจ่ายให้ เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอด้วย
ด้าน พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล หัวหน้าพนักงานสอบสวนชุดตรวจสอบความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกับวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คณะทำงานชุดเดิมเคยเรียกสอบพระธมฺมชโย แล้ว แต่ไม่ได้สอบในส่วนที่พระธมฺมชโย มีชื่อรับเช็คด้วยตนเอง พระธมฺมชโย จึงไม่ได้มาให้ปากคำด้วยตนเองโดยส่งทนายมาแทน แต่ครั้งนี้ พนักงานสอบสวนชุดใหม่ดีเอสไอ ต้องการสอบในส่วนที่พระธมฺมชโย มีชื่อรับเช็คเอง จึงเรียกพระธมฺมชโย เข้าให้ปากคำด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ระบุถึงนายศุภชัยว่ามีการสั่งจ่ายเช็คเพื่อบริจาคให้วัดพระธรรมกายจำนวน15 ฉบับ มูลค่ากว่า 800 ล้านบาท แต่พนักงานสอบสวนดีเอสไอชุดเดิมได้สรุปไว้ว่า พระธมฺมชโย ยอมรับว่ารับเช็คเพียง 13 ฉบับ ทั้งนี้จากการตรวจสอบ ยังพบเช็คบางฉบับมีการสลักหลังและโอนเงินหลักร้อยล้านบาทไปยังบัญชีบุคคลอื่นแทน
ปัญหามีอยู่ว่า คดีสหกรณ์ฯ คลองจั่นจะจบลงอย่างไร ดีเอสไอจะตั้งข้อหาพระธมฺมชโยได้หรือไม่ และถ้าตั้งจะเป็นข้อหาใด “ยักยอกทรัพย์” หรือ “ฉ้อโกง” เพราะทั้งสองข้อหามีผลในทางคดีที่ไม่เหมือนกัน
ที่มา,http://manager.co.th/
0 comments:
Post a Comment