เปรียบเทียบราคากลางงานราดยางผิดถนน
เปรียบเทียบราคากลางงานราดยางผิดถนน
นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ (ภตช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทาง ภตช. ได้รับการร้องเรียนจากชาวสวนยาง ผู้ประกอบการ และวิศวกรว่า กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อาจจะมีการกำหนดราคากลางพาราแอสฟัลท์ (ใช้ยางพาราผสมสัดส่วน 5% ในชั้นผิวแอสฟัลท์คอนกรีตเพื่อสร้างถนน) สูงกว่าความเป็นจริง
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ทั้งประเทศ มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่ผลิต ได้แก่ 1.บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) และ 2.บริษัท โซล่าแอสฟัลท์ จำกัด ซึ่งโดยปกติการกำหนดราคากลางจากทางราชการจะต้องขอราคาขายจากบริษัทเอกชนหรือตัวแทนจำหน่ายของ 2 บริษัทนี้เท่านั้น แต่ที่พบคือมีการตั้งราคากลางขึ้นมาเอง ทำให้ไม่แน่ใจว่าส่วนต่างนี้ตกอยู่กับใคร แต่ไม่ใช่เกษตรกรชาวสวนยางแน่นอน เพราะราคารับซื้อยางพาราในโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ 1 แสนตัน ราคาที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับซื้อจากชาวสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 40-45 บาทเท่านั้น แต่ราคากลางดังกล่าวนี้ (2.8 หมื่นบาทต่อตัน) หากมีการคิดคำนวณออกมาแล้วราคาที่รับซื้อน้ำยางจากชาวสวนต้องสูงถึง 300 บาทต่อกิโลกรัมทีเดียว
นายมงคลกิตติ์ ได้เปรียบเทียบการตั้งราคากลาง ในปี 2556-2557 ยางแอสฟัลท์คอนกรีตเกรด (ผสมยางมะตอย) 60/70 หรือ AC 60/70 ราคากลางตันละ 2.2 หมื่นบาทต่อตัน ขณะที่ยางแอสฟัลท์ที่มีส่วนผสมของยางพารา หรือยาง (NRM) AC ราคากลางตันละ 3.2 หมื่นบาทต่อตัน (ดูตารางประกอบ) ซึ่งราคายางธรรมชาติขณะนั้นราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม ผสมยางพารา 5% เท่ากับ 50 กิโลกรัม รวม 4 พันบาท ค่าจัดการผสม 3 พันบาท ราคาขายควรจะเป็นราคากลางไม่เกินตันละ 2.9 หมื่นบาท แต่ราคาขายก็ยังสูงกว่าความเป็นจริงถึง 3 พันบาทต่อตัน
ส่วนปัจจุบันยาง (ผสมยางมะตอย) AC 60/70 ปี 2559 ราคากลางตันละ 9 พันบาท ราคาลดลงมา เพราะน้ำมันโลกปรับตัวลง แต่ยาง (NRM) AC ใน ปี 2559 ราคากลางกลับสูงถึงตันละ 2.8 หมื่นบาท จากราคายางพาราขณะนี้อยู่ที่ 40-45 บาทต่อกิโลกรัม ผสมยางพารา 5% เท่ากับ 50 กิโลกรัม รวม 2.250 พันบาท ค่าจัดการผสม 3 พันบาท ควรตั้งราคาขายไม่เกิน 1.42 หมื่นบาทต่อตัน แต่กลับพบว่าการตั้งราคากลางของทางราชการและราคาขายตามท้องตลาดของยาง (NRM) AC ปี 2559 อยู่ที่ประมาณราคากลางตันละ 2.8 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่อาจจะสูงเกินกว่าความเป็นจริงถึง 200%
“โดยปกติการกำหนดราคากลางทางราชการจะต้องขอราคาขายจากบริษัทเอกชนทั้งสองบริษัทนี้ ซึ่ง ภตช. เห็นว่า การกำหนดราคากลางดังกล่าวอาจสูงเกินความเป็นจริง ทำให้ราชการเสียประโยชน์ มีแต่เอกชนและกลุ่มการเมืองบางกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ จึงขอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เร่งตรวจสอบ เพราะขณะนี้ทั้ง 3 หน่วยราชการกำลังจะมีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อทำถนนผสมยางพารากันอยู่”
ด้านนายธาวิน อินทร์จำนงค์ รองเลขาธิการ สตง. กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปตรวจสอบ โดยจะเรียกหน่วยงานต่างๆ มาชี้แจงให้ข้อมูล คาดว่าจะใช้เวลาสักระยะเพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยอย่างไรออกมา
ที่มา:thansettakij
0 comments:
Post a Comment