ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่าเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ7 เดือนครึ่ง ก่อนลดช่วงแข็งค่าท้ายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าทะลุ 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างหนัก หลังผลการประชุมเฟดระบุถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังคงเป็นความเสี่ยงของสหรัฐฯ ประกอบกับมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดที่มีต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็สะท้อนว่า จำนวนครั้งของการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ลดน้อยลงมาอยู่ที่ 2 ครั้ง
นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ (รวม 3.32 หมื่นล้านบาทระหว่างสัปดาห์) อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงแข็งค่าลงบางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรเงินบาท หลังเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือนครึ่งที่ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ
สำหรับในวันศุกร์ (18 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 มี.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.60-34.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง. (23 มี.ค.) และตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนก.พ. ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ. ดัชนี PMI ภาคการผลิตของมาร์กิต (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. รวมถึงจีดีพีไตรมาส 4/2558 (รายงานรอบสุดท้าย) นอกจากนี้ นักลงทุนน่าจะรอติดตามข้อมูล PMI ของอีกหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน
ค่าเงินบาท
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับลดลงจากแรงขายทำกำไร โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,382.96 จุด ลดลง 0.75% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 14.48% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 48,995.24 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 506.43 จุด เพิ่มขึ้น 0.61% จากสัปดาห์ก่อน
ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากแรงซื้อต่างชาติ ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงกลางสัปดาห์ จากแรงขายทำกำไร ก่อนการประชุมเฟด จากนั้น ตลาดปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ หลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้ง ปรับลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันสนับสนุนการฟื้นตัวของหุ้นพลังงาน
set
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,367 และ1,350 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของไทย และการทบทวนอันดับเครดิตของประเทศในยูโรโซน โดย S&P และ Moody’s สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการรายงาน เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ดัชนี PMI ภาคการผลิต และจีดีพี ไตรมาส 4/2558 (รายงานรอบสุดท้าย) สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจเยอรมนี
ที่มา: prachachat
0 comments:
Post a Comment