Sunday, March 20, 2016

Tagged Under:

“ระบบประชานิยม เป็น การเมืองอเมริกัน

By: news media On: 6:09 PM
  • Share The Gag
  • พีร์ พงศ์พัฒนพันธุ์
    หากจะพูดกันตามตรงแล้วถือว่า การเมืองอเมริกันเป็น “ระบบประชานิยม” ที่เด่นชัดและมีลักษณะรูปธรรมอย่างยิ่ง นักการเมืองและคณะผู้บริหารประเทศสามารถทำได้ทุกทางในการเยียวยาบำบัดความทุกข์ของคนอเมริกันเอง โดยเฉพาะการสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาที่สำคัญๆ ของชาติ อย่างเช่นปัญหาเศรษฐกิจ เป็นต้นอเมริกา มีปัญหาไม่น้อยไปกว่าอีกหลายประเทศที่กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์ช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงในช่วงนี้ก็ตาม
           จากประวัติศาสตร์อเมริกัน ในช่วงขาลงของเศรษฐกิจราวๆ ปี 2007-2008 รัฐบาลอเมริกัน (รบ.โอบามาที่เพิ่งรับตำแหน่งใหม่ๆ) เคยร่วมกับคองเกรสเคยพิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรอเมริกัน (IRS) จ่ายเงินคืนไปให้ประชาชน ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ยากเย็นอะไรนัก ผู้ที่ได้รับเงินคืนจากรัฐบาลดังกล่าว มีเงื่อนไขว่า ขอเพียงแค่เป็นผู้ที่จ่ายเงินภาษีในปี 2007 เท่านั้น ด้วยวงเงินอนุมัติตามนโยบายของโอบามาในคราวนั้นจำนวน 600 เหรียญ เงินำจำนวนดังกล่าวถูกส่งมาให้กับคนที่อยู่ในเกณฑ์นี้ถึงบ้าน หรือไม่ก็ทางการอเมริกันอาจโอนเข้าบัญชีธนาคารในกรณีที่ผู้เสียภาษีได้ให้เลขบัญชีแก่ สรรพากรไว้สำหรับโอนเงินที่ได้คืน ( tax refund) ในช่วงการเสียภาษีประจำปี
           นอกจากให้บุคคลธรรมที่เสียภาษีตามหน้าที่แล้ว รัฐบาลอเมริกันในสมัยนั้น ยังเคยมีนโยบายให้เงินกินเปล่าสำหรับผู้ที่ทำรายการ (form) เสียภาษีเป็นคู่(สมรส) คู่ละ 1,200 เหรียญ ขณะที่พ่อแม่ที่ทีลูกเด็กเล็กๆได้เงินคืนหัวละ 300 เหรียญต่อลูก 1 คน นี่เรียกว่านโยบายประชานิยมได้หรือไม่ เพราะเป็นนโยบายที่มีผลทางด้านจิตวิทยาในการซื้อใจมวลชนคนอเมริกันได้ง่ายๆ ซึ่งวิธีการนโยบายแล้วย่อมชัดว่า นโยบายของโอบามานี้เป็น “ประชานิยม”ที่เห็นได้ชัด เพราะเหมือนกับรัฐบาลนำเงินมาแจก ซึ่งในขณะนี้ก็ยังแจกกันไม่เสร็จเลย
           คนไทยส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในอเมริกาก็จัดอยู่ในพวกผู้มีรายได้น้อยกับเขาเหมือนกัน ในเวลานั้นต่างก็ได้รับอานิสงส์กันจำนวนไม่น้อยทีเดียว แม่ด้วยเงินเพียง 600 เหรียญก็ตาม การจ่ายเงินก้อนเล็กๆ ก้อนนี้ ในเวลานั้น รัฐบาลโอบามาจ่ายเรียงลำดับตามเลขสองตัวท้ายสุดของหมายเลขบัตรประกันสังคม (social card) จากจำนวนตัว เลขทั้งหมด 10 หลัก คนอเมริกันจะได้รับเงินในรูปแบบเพย์เช็ค (pay3 check) ที่ส่งมาให้ถึงบ้าน
           มองกันตามจริงแล้ว เรื่องนี้ย่อมถือเป็นการแจกเงินโดยรัฐบาลในช่วงที่ประชาชนกำลังประสบชะตากรรมด้าน เศรษฐกิจในขณะนั้น ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฝ่ายค้านคือ คองเกรสรีพับลิกันเห็นชัดว่า เป็นประชานิยม แต่ก็ค้านนโยบายนี้ของโอบามาไม่ไหว ในแง่ของจิตวิทยามวลชนคนรายได้น้อย อย่างน้อย แม้ 300 เหรียญหรือ 600 เหรียญ ก็ยังดีกว่ารัฐไม่ได้ช่วยอะไรเลย รัฐบาลอเมริกันในเวลานั้นไม่ได้แจกเงินให้กับผู้เสียภาษีทุกคน คนที่รายได้สูงเหนือเกณฑ์ ไม่อยู่ในเงื่อนไขการแจกคืนเงินจำนวนนี้ ซึ่งต้องผ่านการอนุมัติจากคองเกรส
           ตอนนั้นสถานการณ์วิกฤตซับไพรม์ หรือปัญหาอันหนักหน่วงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกากลายเป็นไฟที่ไหม้ลามออกไปแทบทุกรัฐ ผมจำได้ว่า วันหนึ่งเพื่อนจากเมืองซานฟรานซิสโก (แคลิฟอร์เนีย) โทรมาเล่าให้ฟังว่า เจ้าของบ้านในเขตเบย์ แอเรีย หรือเมืองรอบๆเมืองซานฟรานฯ อยู่ในอาการที่ย่ำแย่ ราคาบ้านตกยวบลงไปหลายเปอร์เซ็นต์ จนเจ้าของที่ซื้อต้องเดินออก ไม่สามารถผ่อนส่งต่อได้ (Foreclosure) หรือบางรายก็ไม่อยากเสียเงินผ่อนเปล่าในขณะที่ราคาผ่อนแพงเหมือนเดิม แต่ราคาจริงกลับลดลง เช่น บ้านซื้อมาและทำเรื่องกู้กับแบงก์ในราคา 6 แสนเหรียญ แต่ราคาตกเหลือแค่ 4 แสน คนซื้อขาดทุนทันที 2 แสนเหรียญ เป็นต้น
         ความเป็นจริงแล้ว บ้านในเขตซานฟรานฯ เบย์เอเรีย ราคาจะไม่ค่อยตก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ค่าครองชีพสูง (เทียบเท่าเมืองนิวยอร์ค) แต่ตอนนั้นสถานการณ์เปลี่ยนไปเกินคาด หลังจากที่ราคาบ้านในโซนเก็งกำไรอย่างรัฐเนวาดา รัฐอริโซน่า รัฐฟลอริดา และอีกหลายรัฐกำลังตก ราคาบ้านในเขตซานฟรานฯกลับตกบ้างเช่นกัน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ยากที่จะเกิดขึ้นในเขตนี้ กล่าวสำหรับในเรื่องของนโยบายประชานิยมแล้ว ทั้ง 2 พรรคการเมืองหลักของอเมริกันกำหนดกันไปคนละแบบ
          เป็นที่รู้กันว่า นโยบายของพรรคเดโมแครต มักกำหนดออกมาในรูปของการให้สวัสดิการต่างๆ กับคนรายได้น้อย หรือคนจนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น ในด้านสังคม ด้านสาธารณสุข การศึกษา เป็นต้น ขณะที่พรรครีพับลิกันเน้นการปลดปล่อยหรือเน้นการจัดให้มีการแข่งขันที่เข้มข้นกว่า เช่น การปล่อยเสรีด้านภาษี และด้านอื่นๆเพื่อให้การแข่งขันกันเป็นไปอย่างสมบูรณ์ (เสรี) มากขึ้น หรืออีกนัยพรรครีพับลิกันเน้นบทบาทของเอกชนมากกว่า พรรคเดโมแครต ซึ่งพยายามเพิ่มบทบาทการสนับสนุนและแทรกแซงจากรัฐให้มากขึ้น
          แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น หากจะว่าไปแล้วทั้ง 2 พรรคก็มีลักษณะ “ประชานิยม” เช่นเดียวกัน หากเป็นไปคนละแนวเท่านั้น แถมยังเป็นประชานิยมแบบตรงๆอีกด้วย ที่เห็นกันจะๆ ได้แก่ ฟู๊ดแสตมป์ (Food stamps) หรือคูปองอาหารฟรีสำหรับคนมีรายได้น้อย และที่ทางพรรครีพับลิกันเคยทำในสมัยแรกของ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (ต่อจากประธานาธิบดี บิล คลินตัน) คือ การคืนเงินภาษีมาให้ประชาชนเหมือนกัน ดูเหมือนคราวนั้น บุช อ้างว่าเขาต้องการลดอัตราการจัดเก็บภาษีเพื่อความก้าวหน้าในการแข่งขันของธุรกิจอเมริกันอย่างสมบูรณ์
         นอกจากนี้ยังมี นโยบายอื่นๆ อีก เช่น นโยบายให้คนอเมริกันกู้เงินจากกองทุนของรัฐบาลเพื่อซื้อบ้าน นโยบายดังกล่าวมีเงื่อนไขที่ไม่เข้มงวดมากนักกับผู้กู้ หรืออาจเรียกว่าได้ว่า เป็นโครงการเงินกู้สำหรับผู้ซื้อบ้านเงื่อนไขผ่อนปรน
           นโยบายประชานิยมของรัฐบาลอเมริกันที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ การแจกเงินให้กับคนมีรายได้น้อย เพื่อขวัญและกำลังใจ เป็นการแจกแบบมีเงื่อนไข เช่น ผู้รับแจก ต้องมีประวัติในการพลเมืองที่ดี (เสียภาษี) เป็นต้น น่าแปลกว่าการแจก (คืน) เงินให้กับชาวบ้านอเมริกัน รัฐบาลอเมริกันทั้ง 2 พรรคต่างสามัคคีกันอนุมัติร่วมกับสมาชิกคองเกรสทั้งสภาล่างและสภาบน ซึ่งต่างก็อ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกำลังเสื่อมถอย ข้อเสนอของโอบามาได้รับการขานรับแทบจะทันทีจากคองเกรสรีพับลิกัน
           ตอนนั้นถึงขนาดทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ กันไปว่า หากใครได้เงินนี้ไปแล้ว เอาเก็บออมไว้ในแบงก์หรือที่บ้านเฉยๆ ไม่นำไปจับจ่ายซื้อของใดๆ คนๆ นั้น ได้ทำเรื่องที่ไม่ค่อยถูกต้องตามครรลองที่ควรจะเป็นมากนัก ประมาณว่า ไม่ค่อยรักชาติเท่าใดนัก พวกเรา คนไทยหลายคนคิดว่าเงินที่ได้รับจากรัฐบาลครั้งนั้น แม้เป็นจำนวนไม่มาก แต่ก็พอได้นำจ่ายไปจ่ายบิลล์ (ค่าน้ำค่าไฟ) ประจำเดือนได้อยู่บ้าง ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
           ดังนั้น อาจอนุมานเอาได้ว่า คนอเมริกันมองว่านโยบายประชานิยม เป็นเรื่องปกติและมองว่า พรรคการเมืองสมควรทำได้ด้วยซ้ำ ตราบเท่าที่ชาวบ้านได้ประโยชน์และตอบสนองต่อการดำเนินการตามนโยบายของพรรคนั้นๆ หาไม่แล้วก็อาศัยเพียงวาทกรรม “ประชารัฐ” ที่กินและเห็นผลอย่างรูปธรรมไม่ได้เท่านั้นเอง.

    ที่มา: siamrath

    0 comments:

    Post a Comment