Sunday, June 12, 2016

Tagged Under:

ธนาคารโลกปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจโลกเหลือ 2.4% หลังเศรษฐกิจใหญ่ไม่กระเตื้อง

By: news media On: 6:16 PM
  • Share The Gag
  • ธนาคารโลกปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจโลกเหลือ 2.4% หลังเศรษฐกิจใหญ่ไม่กระเตื้อง

    Prev1 of 1Next
    คลิกภาพเพื่อขยาย
    updated: 10 มิ.ย. 2559 เวลา 20:05:00 น.
    ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

    ธนาคารโลก (World Bank) ประกาศปรับตัวเลขการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2016 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.9% เมื่อเดือนช่วงต้นปี เหลือเพียง 2.4% หลังเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวช้ากว่าที่คาด ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังตกต่ำ และการค้าและการเคลื่อนตัวของทุนในระดับโลกยังซบเซา

    โดยจากการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ พบว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนม.ค. ที่ 1.2% ซึ่งในการปรับตัวเลขใหม่ธนาคารโลกเชื่อว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเหล่านี้น่าจะขยายตัวเพียง 0.4%

    ขณะที่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ธนาคารโลกคาดว่าจะมีการชะลอตัวในการเติบโตทางเศรษฐกิจเล็กน้อย และปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 5.9% เป็น 5.8%

    สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าจับตามอง World Bank คาดว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้น่าจะขยายตัวราว 6.7% อินเดีย 7.6% แอฟริกาใต้ 0.6% ขณะที่ประเทศอย่างบราซิล และรัสเซีย น่าจะยังอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อไป ขณะที่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ การตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำได้ส่งผลเกิดการก่อหนี้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย

    ขณะที่ภาพรวมในระดับภูมิภาค

    ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก: คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะขยายตัว 6.3% โดยเศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 4.8% ในช่วงที่จีนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของกระบวนการปฏิรูปเชิงนโยบายและการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ในหลายประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะได้รับแรงผลักดันจากการลงทุนอย่างต่อเนื่อง (เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย) และการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง (เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม)

    ยุโรปและเอเชียกลาง: การหดตัวของเศรษฐกิจรัสเซียน่าจะยังเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ชะลอตัวอยู่ที่ราว 1.2% โดยเหตุการณ์ความรุนแรงในยูเครน ตะวันออกกลางและตุรกี อาจมีผลกระทบกับเศรษฐกิจบางส่วน ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน เหล็ก และสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำยังทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต และต้องอาศัยอานิสงส์จากการบริโภคในประเทศ และการขยายตัวจากเศรษฐกิจในกลุ่มยูโร โดยหากไม่พิจารณารัสเซีย เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้น่าจะขยายตัวราว 2.9%

    ละตินอเมริกาและแคริบเบียน: เศรษฐกิจน่าจะหดตัว 1.3% และขยายตัวอีกครั้งในช่วงปีหน้า และอาจจะกลับมาโตได้ที่ราว 2% ในปี 2018 โดยภูมิภาคอเมริกาใต้เศรษฐกิจน่าจะหดตัวถึง 2.8% ขณะที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งมีสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐ น่าจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกและเศรษฐกิจขยายตัวราว 2.7% ในปีนี้และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับในภูมิภาคนี้ เศรษฐกิจบราซิลน่าเป็นห่วงสุดและน่าจะหดตัวถึง 4% จนถึงปีหน้า

    ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ: การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคน่าจะเพิ่มขึ้นราว 2.9% ลดลงจากที่คาดไว้ราว 1.1% หลังจากที่ราคาน้ำมันไม่ถีบตัวสูงขึ้นตามที่คาด อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการคว่ำบาตรจากนานาประเทศต่ออิหร่านน่าจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยหากราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้น น่าจะทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ขยายตัวถึง 3.5% ในปี 2017

    เอเชียใต้: ธนาคารโลกคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้น่าจะขยายตัว 7.1% โดยการบริโภคในประเทศยังคงคึกคักอยู่ โดยเฉพาะในอินเดีย ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับปากีสถาน บังกลาเทศ และภูฐาน ซึ่งหลายประเทศได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงและการเคลื่อนย้ายเงินทุน

    กลุ่มประเทศแอฟริกาซับซาฮารา: การเติบโตในภูมิภาคนี้ในปี 2016 น่าจะขยายตัว 2.5% สืบเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการบริโภคในระดับโลกที่ยังซบเซา อย่างไรก็ตาม ปัญหาเงินเฟ้อจากการขาดแคลนอาหารหลังสภาวะอากาศแล้ง อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากการลดค่าเงินอาจส่งผลเสียกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การลงทุนยังมีแนวโน้มจะลดลง หลังจากที่หลายรัฐบาลพยายามจำกัดค่าใช้จ่าย

    ที่มา: prachachat

    0 comments:

    Post a Comment