Wednesday, June 15, 2016

Tagged Under:

ดีเอสไอ หลังพิงฝาต้องจับ"ธัมมชโย"สถานเดียว !!

By: news media On: 5:45 PM
  • Share The Gag
  • ในที่สุดก็เป็นความชัดเจนแล้วว่า ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ต้องหาทางจับกุม พระเทพญาณมหามุณี หรือ ธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับในข้อหาร่วมสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร เพื่อนำตัวมาส่งฟ้องต่อศาล หลังจากเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้ส่งสำนวนไปให้อัยการทั้งหมด 13 แฟ้มจำนวนกว่าหมื่นหน้า โดยทางอัยการสูงสุดได้ขอเวลาในการพิจารณาสำนวนหนึ่งเดือนเต็มซึ่งมีกำหนดสรุปความเห็นในวันที่ 13 กรกฎาคมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นั่นคือมีสามทาง คือให้สอบเพิ่ม สองสำนวนสมบูรณ์ส่งฟ้องเลย และสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งทุกทางเป็นไปได้ทั้งนั้น
         
           หากพิจารณาเฉพาะกรณีที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้ส่งสำนวนคดีดังกล่าวถึงมืออัยการโดยไม่มีผู้ต้องหาจำนวน 2 คน(คนหนึ่งหนีไปต่างประเทศ ส่วนอีกคนหนึ่งคือธัมมชโยยังดื้อแพ่งไม่ยอมให้จับกุม) ส่วนสามคนที่เหลือถูกจำคุกหนึ่งส่วนที่เหลือได้ประกันตัวชั่วคราว ก็ต้องมาโฟกัสกันเฉพาะกรณีของธัมมชโย ที่ตามขั้นตอนแล้วดีเดสไอจะต้องหาทางนำตัวไปปรากฏตัวต่อศาลในวันส่งฟ้อง หากไม่ได้ตัวก็ต้องเลื่อนฟ้องเฉพาะบุคคลออกไปก่อนจนกว่าจะได้ตัวมาเหมือนกับเป็นการจำหน่ายคดีชั่วคราว
         
           น่าสนใจก็คือทางดีเอสไอได้ส่งสำนวนคดีต่ออัยการสูงสุดพิจารณาตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน ก่อนที่จะถึงกำหนดนัดหารือ สามฝ่าย คือดีเอสไอ พระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีในฐานะผู้บังคับบัญชาทางสงฆ์โดยตรง สมศักดิ์ โตรักษาทนายความวัดปากน้ำภาษีเจริญในฐานะตัวแทนผู้ประาานงานวัดพระธรรมกาย และ สมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสมาคม โดยการประชุมสามฝ่ายดังกล่าวมีขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายคือ"ไม่ได้เรื่องได้ราว"อะไร
         
           เพราะหากจำกันได้เมื่อสัปดาห์ก่อนก็มีการนัดหมายประชุมมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุป มีการตั้งเงื่อนไขจากฝ่ายผู้ต้องหา และฝ่ายเจ้าคณะจังหวัดก็อ้างว่าไม่เกี่ยวกับทางสงฆ์ จนต้องเลื่อนมาวันที่ 14 มิถุนายนดังกล่าว
         
           อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางฝ่ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ที่ตีดสินใจส่งสำนวนฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 รายต่ออัยการสูงสุดไปก่อนโดยที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหาสองราย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ธัมมชโย คงอ่านเกมขาดแล้วว่า หากรอผลการเจรจาก็คง"เสียเวลาเปล่า"มองออกว่าการเจรจาดังกล่าวเป็นเพียงการยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ
         
           แต่ขณะเดียวกันการยื้อเวลาออกไปดังกล่าว โดยที่ทางฝ่ายดีเอสไอย่อมผ่อนปรนออกไปเรื่อยๆมันก็ยิ่งทำให้ดีเอสไอเสียหาย โดยเฉพาะการถูกสังคมมองว่า "ไร้น้ำยา"ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมาย และยังเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีเสียเอง"ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่"และยังส่งผลกระทบลามไปถึงรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)อีกด้วย
         
           มองอีกด้านหนึ่งก็ชัดเจนเช่นกันว่าทางฝ่าย ธัมมชโย ไม่มีทางมอบตัวแน่นอน มีแต่การหาทางยื้อคดีออกไปเรื่อยๆ โดยอ้างอาพาธ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธให้คณะแพทย์จากภายนอกเข้าไปตรวจอาการ

         
           ดังนั้นถ้าให้สรุปนาทีนี้ก็คือ ถึงเวลาที่ทางฝ่ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่เสียที หากฟังจากคำพูดของ พตท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ต่อจากนี้ก็เหลือเพียงการเข้ามอบตัว โดยต้องประสานงานกับอัยการไปมอบตัวที่ศาล กับอีกทางหนึ่งคือถูกจับกุม ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติปกติของหมายจับและหมายจับก็ยังจะมีผลบังคับใช้อยู่ถึง 15 ปี ซึ่งเงื่อนไขการมอบตัวแล้วจะได้รับการประกันตัวไม่มีอยู่อีกแล้ว การทำหน้าที่ของคณะทำงานชุดนี้เป็นการทำหน้าที่เกี่ยวกับการเจรจาเพื่อให้พระธัมมชโยเข้ามอบตัวรับทราบข้อกล่าวหา สำหรับการบังคับตามหมายจับจะเป็นคนทำหน้าที่คนละส่วนกัน
         
           "สำนวนพ้นจากชั้นพนักงานสอบสวนไปแล้ว ขณะนี้รอแต่เพียงว่าทางอัยการจะมีความเห็นทางคดีอย่างไร หากมีความเห็นสั่งฟ้อง อัยการจะฟ้องเฉพาะผู้ที่มีตัวอยู่เท่านั้น ส่วนผู้ต้องหาตามหมายจับที่ยังไม่ได้ตัวไป ทางอัยการจะยังไม่ฟ้องต่อศาล หรือหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องครบทั้งหมด 5 ราย ก็จะสั่งการให้ทางดีเอสไอส่งตัวผู้ต้องหาไปให้"
         
           ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า หลังจากนี้จะดำเนินการตามมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การทำแผนปฏิบัติการตามหมายจับ 2.มอบหมายจับขยายอำนาจให้ตำรวจและฝ่ายปกครอง ช่วยจับกุม 3.ทำหนังสือถึงฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับ 4.ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 189 เอาผิดกับผู้ให้ที่พักพิงหรือช่วยเหลือก็จะถูกดำเนินคดี และ 5.เร่งรัดการดำเนินคดีให้เสร็จโดยเร็ว
         
           "การดำเนินการตามหมายจับ ดีเอสไอจะดำเนินการไปตามสถานการณ์ ส่วนกรณีที่สงฆ์ไม่สามารถนำตัวพระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทราบว่ามีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ในส่วนการประสานงานทางสงฆ์ สำหรับดีเอสไอถือว่ายุติลงแล้วเช่นกัน"
         
           จากคำพูดของ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและรองอธิบดีดังกล่าวทำให้เกิดความชัดเจนว่าต่อไปนี้ดีเอสไอจะทำตามหน้าที่ตามกฎหมาย และธัมมชโยที่เป็นต้องหาตามหมายจับมีทางเลือกแค่สองทางคือ หนึ่งจะมอบตัว หรือถูกจับกุม และยังแสดงให้เห็นอีกว่าต่อไปนี้หากใครขัดขวางหรือช่วยเหลือให้ที่พักพิงผู้ต้องหาจะมีความผิดตามกฎหมายอีกด้วย
         
           ท่าทีแบบนี้ถือว่าชัดเจนและเข้มข้นแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และฝ่ายที่จะ"หนาว"ในเวลานี้น่าจะเป็น "ธัมมชโย" เพราะต้องอยู่อย่างหวาดผวา ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เจ้าหน้าที่จะบุกเข้ามาจับกุมเมื่อไหร่ ส่วนวิธีการใช้"โล่ห์มนุษย์"นั้นก็อาจจะทำได้ แต่คนพวกนี้ก็มีความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีอาญาตามมาในหลายข้อหาอีก และที่สำคัญคำพูดของอธิบดีดีเอสไอที่บอกใบ้ว่าจะมีการ"มอบหมายจับขยายอำนาจ"ให้ตำรวจและฝ่ายปกครองช่วยจับกุม"จึงเป็นที่มาของการได้เห็นความเคลื่อนไหวที่มีการประชุมร่วมกันกับฝ่ายตำรวจที่มี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพียงแค่นี้มันก็ผวานอนสะดุ้งทั้งคืนแล้ว
         
           นอกจากนี้ยังมีการส่งสัญญาณออกมาอีกว่าในส่วนของทางฝ่ายสงฆ์ที่ไม่ยอมร่วมมือก็แาจถูกดำเนินคดีฐานละเว้นฯเนื่องจากขณะนี้มีผู้ไปร้องเรียนแล้ว
         
           ดังนั้นถ้าบอกว่าทั้งสองฝ่ายมาถึงจุดที่ต้องเดินไปข้างหน้าแล้วจะประวิงเวลาออกไปอีกไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายธัมมชโย ยิ่งยื้อยิ่งเสียหาย ขณะที่ฝ่ายดีเอสไอก็ต้องถือว่าหลังพิงฝา หากไม่จับกุมก็มีความเสี่ยงทั้งต่อสถานะตัวเอง และยังกระทบไปถึงรัฐบาล คณะรักษาความสงบอีกทางหนึ่งด้วย ถูกมองในทางลบ ซึ่งฝ่ายหลังก็ไม่มีทางเลือกเหมือนกันต้องลุย !!

    ที่มา: manager

    0 comments:

    Post a Comment