Tuesday, June 7, 2016

Tagged Under:

หมายจับ “ธัมมชโย” สังคมอึดอัดยุติธรรม-กฎหมายไร้มาตรฐาน !?

By: news media On: 7:08 PM
  • Share The Gag
  •  เมืองไทย 460 องศา
         
           “เกิดอะไรขึ้น” หลายคนในสังคมนี้คงตั้งคำถามแบบเซ็ง ๆ กับคดีของ พระเทพญาณมหามุณี (ไชยบูลย์ สุทธิผล) หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหาความผิดสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร จากการรับเช็กจาก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น หลังจากที่ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับไปแล้ว ซึ่งจนถึงวันนี้วันพุธที่ 8 มิถุนายน 59 เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ยังไม่อาจเข้าไปจับกุมผู้ต้องหาได้ แม้ว่าศาลอาญา (ย้ำว่าศาล) ได้อนุมัติหมายจับไปตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 59 โดยผู้ต้องหาแสดงอาการบ่ายเบี่ยง อ้างว่า ป่วยหนักไปไหนไม่ได้ ต่อมาเมื่อมีการนัดหมายมอบตัวก็ไม่ไปอีกอ้างว่าป่วยกะทันหัน ต่อมาก็มีการต่อรองขอให้ใช้แพทย์ที่ตัวเองไว้ใจเข้าไปตรวจอาการ และหากมีการรับทราบข้อกล่าวหาแล้วก็ต้องได้รับการประกันตัวทันที สารพัด
         
           ความหมายที่ชาวบ้านมองจากข้างนอกเข้าไปด้วยความรำคาญ ก็คือ “มันเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมของไทย” รวมทั้งระบบกฎหมายไทย เพราะจากคดีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้กับผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะรู้หรือเชื่อว่าผู้ต้องหาคนดังกล่าวอยู่ที่ใด หรือ “กบดาน” อยู่ที่ใดก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เข้าไปจับกุมตัว อ้างว่าเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” เกรงจะเกิดการปะทะ จะเสียเลือดเนื้อ ทำให้เหตุการณ์อาจลุกลามบานปลาย
         
           แม้ว่าเมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว จากความเคลื่อนไหวที่เป็นอยู่ในวันนี้ เมื่อสังเกตจากภายนอก และความเคลื่อนไหวของมวลชนที่เข้าออกวัดพระธรรมกาย มีการสร้างเครื่องกีดขวาง เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตำรวจ ทหารเข้าไปจับกุมตัว ธัมมชโย ที่อ้างว่ายังอยู่ภายในวัดได้
         
           แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า “ธัมมชโย” อยู่เหนือกฎหมายหรือ เป็นผูัต้องหาสามารถ “ต่อรอง” กับผู้รักษากฎหมายได้หรือ แม้ว่าในความเป็นจริงอาจต้องพิจารณาตามสถานการณ์และการให้เกียรติกับผู้ต้องหาที่มี “สถานะต่าง” ออกไป เช่น พระสงฆ์ที่ยังครองผ้าเหลือง ในบางเรื่องสามารถอะลุ่มอล่วย ได้บ้าง เช่น ในช่วงแรกอาจมีเงื่อนไขให้ประกันตัวหากเข้ามอบตัวตามกำหนด แต่เมื่อผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมาแล้วถือว่าผิดเงื่อนไข ก็ต้องจับกุมส่วนการให้กันตัวหรือไม่ก็ต้องพิจารณากันในภายหลัง
         
           ที่น่าสังเกตก็คือ ในคดีดังกล่าว กลับกลายเป็นว่ามีบรรดาลูกศิษย์ และคนใกล้ชิดกับ “ธัมมชโย” มีความเชื่อว่า เป็น “ผู้บริสุทธิ์” มองว่าถูกดำเนินคดีแบบไม่เป็นธรรม ไม่เชื่อถือกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ พนักงานสอบสวนชุดปัจจุบัน ล่าสุด เริ่มมีการเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนตัว มีการตั้งเงื่อนไขไม่ยอมให้แพทย์จากภายนอกเข้าไปตรวจอาการป่วย ต้องใช้แพทย์ที่ตัวเองมั่นใจ เช่น ร้องขอทีมแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ไม่ไว้ใจทีมแพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจที่ทางดีเอสไอจะนำเข้าไปตรวจอาการ
         
           ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้กลายเป็นว่า ฝ่ายผู้ต้องหากำลังมีอำนาจต่อรอง เหนือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หากไม่ยอมให้จับก็จับไม่ได้ เพราะทางฝ่ายดีเอสไอก็มีการประชุมร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ เช่น ไปร้องขอให้เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ที่ตามฐานะแล้วถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาทางสงฆ์ กับ ธัมมชโย ไปเกลี้ยกล่อมให้ยอมมอบตัว แต่ก็ไม่ได้ผล อีกทั้งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ก็อ้างว่า ไม่อาจไปบังคับได้ ยืนยันว่า ไม่ใช่คดีทางสงฆ์ จนทางดีเอสไอก็มีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาหาทางออกกันอีกครั้งในวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งหากพิจารณาจากอาการที่ผ่านมา ก็พอเดาได้ล่วงหน้าว่า ถึงวันนั้นก็ยังหาทางออกไม่ได้ ต้องนัดประชุมใหม่อีกครั้ง และมีครั้งต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ
         
           ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึง “ความเชื่อ” แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ทุกคนสามารถเชื่อแบบนั้นได้ และสถานะของ ธัมมชโย ในเวลานี้ยังถือว่า “ยังเป็นผู้บริสุทธิ์” จนกว่าศาลจะตัดสิน ซึ่งก็มีทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ต้องใช้เวลานานนับปี เวลานี้เพียงแค่เริ่มต้นคือขั้นตอนรับทราบข้อกล่าวหาเท่านั้น
         
           อย่างที่บอกความเชื่อว่า บริสุทธิ์นั้น ไม่ใช่เรื่องผิด เหมือนกับไปถามคนในครอบครัวของคนที่ทำผิดอื่น ๆ พวกเขาก็เชื่อว่า บริสุทธิ์ ไม่ได้ทำความผิด หรือแม้กระทั่งตัวของผู้ต้องหารายอื่นจำนวนมาก ลองไปสอบถามดูก็มักจะได้คำตอบประเภทที่ว่า “เขาหาว่า” กันทั้งนั้น แต่ทุกคนก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต้องให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามแต่ทุกคนก็ “ต้องยอมรับ”

         
           กรณีของ ธัมมชโย ก็เช่นเดียวกันต้อง “ไม่มีข้อยกเว้น” และใครก็ตามที่ตกเป็นผู้ต้องหา ยิ่งถูกออกหมายจับยิ่งต้องไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ไม่อาจต่อรองตั้งเงื่อนไขจนเกินพอดี ขณะเดียวกัน ในฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหากยังไม่อาจสรุปผลการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ ยิ่งทอดเวลานานออกไปก็ยิ่งทำลายความศรัทธากับสังคม เพราะดูเหมือนว่ากฎหมายไม่ได้บังคับทุกคนได้อย่างเสมอภาค ซึ่งมากกว่าสองมาตรฐาน แต่เป็นลักษณะ “ไร้มาตรฐาน” ซึ่งอันตราย
         
           เวลานี้มีหลายคนถึงกับต้องการรู้ว่าหากมีการเจ้าจับกุม ธัมมชโย หรือลูกศิษย์เรียกร้องว่าต้องให้เกียรติ ให้เรียกว่า “พระ” ธัมมชโย ถึงภายในวัดพระธรรมกายแล้วจะเป็นอย่างไร จะมีการใช้มวลชน หรือมีการใช้กองกำลังที่ซุ่มซ่อนอยู่ข้างในขัดขวางจนเกิดการปะทะจริงหรือไม่ หากเกิดขึ้นจริงมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ ก็มีคนอยากรู้เหมือนกัน และหากเป็นแบบนั้นจริงมันก็จะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ ต้องมีผู้ต้องหาเพิ่ม มีคดีเพิ่ม และหนักขึ้นกว่าเดิมอีก
         
           สำหรับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ หากยังไม่มีวิธีการจัดการตามกฎหมายตามมาตรฐานความเป็นธรรมได้แล้ว โอกาสที่จะบานปลาย ซึ่งเวลานี้สังคมเริ่มรู้สึกอึดอัดมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว !!


    ที่มา: manager

    0 comments:

    Post a Comment