เพิ่งแถลงออกมาจาก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ว่าเวลานี้ได้อายัดทรัพย์สินเงินสดจำนวน 50 ล้านบาท ที่อยู่ในบัญชีของเครือข่ายวัดพระธรรมกาย และบัญชีของบุคคลใกล้ชิดของ ธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันรับของโจร และร่วมกันฟอกเงิน จากสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น และจะตรวจสอบไปเรื่อยๆ ทั้งในทรัพย์สินรูปแบบอื่น เช่น ที่ดิน โดยจะให้ความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อย่างเต็มที่หากมีการร้องขอมาในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม
ความหมายก็คือ เวลานี้ทางการเริ่มใช้อาวุธสำคัญเข้ามาจัดการกับ ธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ยังดื้อแพ่งไม่ยอมให้ความร่วมมือ และไม่ยอมมอบตัวกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเดสไอ) โดยเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ในครั้งนี้ก็คือ การ "อายัดทรัพย์" ที่ดำเนินการโดย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ขณะเดียวกันการเปิดทางให้ ปปง. เข้ามาช่วยในการตรวจสอบเส้นทางการเงินของคดีฟอกเงินและรับของโจร เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่าง ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนียน คลองจั่น ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดียักยอก รับของโจร และฟอกเงิน ซึ่งเกี่ยวพันกับ ธัมมชโย ซึ่งตามอำนาจหน้าที่ ทางปปง. สามารถดำเนินการตรวจสอบจากสถาบันการเงิน มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากกว่า
หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวดังกล่าว การเริ่มอายัดบัญชีเงินสดของเครือข่ายและคนใกล้ชิดของ ธัมมชโย มันก็เหมือนกับการส่งสัญญาณเตือนดังๆ ให้เห็นว่า ทุกอย่างกำลังใกล้ถึงตัวเต็มที อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการกดดันให้เห็นว่า หากยังไม่ออกมาจากที่ซ่อน ไม่ยอมให้ความร่วมมือก็จะมาตรการที่เข้มข้น ซึ่งการอายัดทรัพย์มันก็ไม่ต่างจากการ "ตัดมือตัดเท้า" ขยับได้ลำบาก
อย่างไรก็ดี จะว่าไปแล้วคดีรับของโจรและฟอกเงินของ ธัมมชโย การค้นหาหลักฐาน จะมาจากการตรวจสอบด้านเอกสารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถพิสูจน์ความจริงกันได้ไม่ยาก เพียงแต่ว่าขั้นตอนในการดำเนินคดี หรือการส่งฟ้องจำเลยต้องนำตัวไปปรากฏต่อหน้าศาล ดังนั้นแทคติกที่ทางฝ่ายธัมมชโยนำมาใช้เวลานี้คือ "ยื้อ" เวลาออกไปให้นานที่สุด หรือต่อรองให้นานที่สุด และความหวังเดียวที่มีอยู่ก็คือ ลุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใหม่ นั่นคือเปลี่ยนจากยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไปเป็นรัฐบาลอื่น หากเป็นไปได้ ต้องเป็นรัฐบาลในเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร เหมือนกับที่เคยรอดคดียักยอกทรัพย์ ของวัดพระธรรมกาย เมื่อปี 2549 ในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่มีการถอนฟ้องแบบพิสดารกลางศาลฎีกาก่อนวันพิพากษาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น
ย้อนกลับมาที่ความคืบหน้าของคดีที่อยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่เวลานี้มีการออกหมายเรียกพระใกล้ชิด โดยเฉพาะฝ่ายที่ดูแลด้านการเงินของวัดมาให้ปากคำ ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พระถวัลย์ศักดิ์ ยติสักโก รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรของวัด ก็ได้เข้าให้ปากคำตามหมายเรียก ซึ่งก็จะมีการเรียกอีก สี่ ห้ารูปที่ตัองมาให้ปากคำต่อไปตามกำหนด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของสำนวนที่ทางอัยการสูงสุดสั่งให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับเส้นทางการเงินของวัดพระธรรมกาย ก่อนที่จะมีการสั่งคดี ในวันที่ 11 สิงหาคม นี้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่เดินหน้าตรวจสอบและอายัดบัญชีเงินสด รวมทั้งตรวจสอบทรัพย์สินอื่นๆ ในเครือข่ายวัดพระธรรมกาย และการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบเค้นพระลูกวัดเกี่ยวกับการเงินอีกทางหนึ่ง ทำให้เห็นว่าเริ่มงวดเข้ามาทุกที อย่างน้อยก็เป็นการหาหลักฐานเพิ่มเพื่อมัดตัว ให้อัยการได้ตัดสินใจสั่งคดีในวันที่ 11 สิงหาคม
แม้ว่าไม่อยากคาดเดาล่วงหน้า แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มแล้ว ก็น่าหวาดเสียวกับเรื่องการขอหมายค้นวัดพระธรรมกายครั้งที่สองตามมา และหากย้อนกลับไปพิจารณาจากท่าทีก่อนหน้านี้ของดีเอสไอ ที่เคยแย้มออกมาว่าจะขอหมายค้นสองวัน และเต็มพื้นที่ทั่วทั้งวัด มันก็เป็นการส่งสัญญาณว่า เอาจริง ขณะเดียวกันก็เตรียมจัดการกับโล่ห์มนุษย์ ที่เคยออกมาขัดขวางด้วยแจ้งความดำเนินคดีกราวรูดกันแบบย้อนหลังตามถึงบ้าน ซึ่งก็ได้ผลชะงักกันไปพอสมควร
ดังนั้น หากพิจารณาจากสัญญาณการอายัดบัญชีเงินสดในเครือข่ายวัดพระธรรมกาย 4 บัญชี จำนวน 50 ล้านบาท ก็ต้องถือว่าเริ่มบีบคั้นเข้ามาทุกที เพราะนี่เหมือนกับการตัดแขนขาอีกทางหนึ่ง ค่อยๆ ตัดท่อน้ำเลี้ยงให้ลดน้อยลง อีกด้านหนึ่งเหมือนกับการบีบให้ ธัมมชโย กบดานในจานบินไม่เป็นสุขแน่นอน !!
ที่มา: manager
0 comments:
Post a Comment