Tuesday, August 23, 2016

Tagged Under: ,

เหตุ4ปมใหญ่ไทยแพ้เวียดนาม ส่งออก2ตลาดหลักสหรัฐฯ-อียู

By: news media On: 7:10 PM
  • Share The Gag
  • ส่งออกไทยพ่ายเวียดนามใน 2 ตลาดใหญ่ “สหรัฐฯ-อียู” เอกชนชี้เหตุ ไทย-เทศแห่ลงทุนในเวียดนามจาก 4 แรงจูงใจ ช่วยดันตัวเลข ชูเอฟทีเอเวียดนาม-อียู และทีพีพีไฮไลต์ตัวแม่เหล็ก รัฐ-เอกชนไทย ปรับกลยุทธ์ดึงญวนเป็นพันธมิตรการค้าโตไปด้วยกัน ตั้งเป้าปี 63 ค้าสองฝ่ายพุ่ง 2 หมื่นล้านดอลล์ โชว์สารพัดมาตรการเข็นสุดลิ่ม


    นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการค้า พบที่น่าจับตามองในเวลานี้คือ มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยัง 2 ตลาดหลักและเป็น 2 ตลาดใหญ่ของไทยเช่นกันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป(อียู) พบเวลานี้การส่งออกของเวียดนามได้แซงหน้าไทยไปแล้ว

    ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ www.census.gov ของรัฐบาลสหรัฐฯ พบมูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามไปสหรัฐฯ ได้แซงหน้าไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2557 โดยในปีดังกล่าว เวียดนามส่งออกไปสหรัฐฯได้มากถึง 30,615.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯในปีเดียวกันมูลค่า 27,224.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2558 ล่าสุด เวียดนามส่งออกไปสหรัฐฯได้มากถึง 38,019.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยส่งออกได้ 28,631.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

    “ไทยไม่เคยส่งออกไปสหรัฐฯได้มากกว่าตัวเลขส่งออกในปี 2558 ตั้งแต่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มานานก่อนเวียดนามกว่า 30 ปีแล้ว แต่เรายังทำมูลค่าไม่ได้มากเท่าเวียดนามเลย”


    ส่วนในตลาดอียูจากข้อมูลของ ec.europa.eu ระบุการส่งออกของเวียดนามไปอียูแซงหน้าไทยไปตั้งแต่ปี 2555 โดยเวียดนามส่งออกได้ 1.86 หมื่นล้านยูโร ขณะที่ไทยส่งออกได้ 1.70 หมื่นล้านยูโร และในปี 2558 เวียดนามส่งออกไปอียูได้ 3 หมื่นล้านยูโร ส่วนไทยส่งออกได้เพียง 1.96 หมื่นล้านยูโร เวียดนามส่งออกได้มากกว่าไทย 1.04 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

    “การส่งออกของเวียดนามนับวันเติบโตขึ้นทุกปี แม้มูลค่าการส่งออกโดยรวมของเวียดนามจะยังน้อยกว่าไทย โดยในปี 2558 เวียดนามส่งออกไปทั่วโลก มูลค่า 1.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยส่งออกในปีเดียวกัน 2.14 แสนล้านดอลลารสหรัฐฯ แต่โดยที่ไทยส่งออกลดลงทุกปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้ ขณะที่เวียดนามส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี ภายใน 3 ปีนับจากนี้เราอาจจะได้เห็นมูลค่าการส่งออกโดยรวมของเวียดนามแซงหน้าไทย”นายบัณฑูร กล่าว และว่า

    สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร เช่นข้าว สินค้าประมง เช่น กุ้ง ปลา เป็นต้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากนักลงทุนต่างชาติซึ่งรวมทั้งไทยได้เข้าไปขยายการลงทุนในเวียดนาม จากแรงจูงใจหลายด้าน เช่น เวียดนามมีแรงงานจำนวนมาก และค่าแรงยังไม่สูงมาก ตลาดบริโภคในประเทศมีมากกว่า 90 ล้านคน และที่สำคัญเวียดนามได้บรรลุความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)กับสหภาพยุโรป หรืออียูแล้ว คาดจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี ที่มีสหรัฐฯเป็นแกนนำ และเป็นตลาดใหญ่สุดในกลุ่ม ซึ่งทีพีพีนี้ 12 ประเทศสมาชิกได้ลงนามความตกลงไปแล้ว รอมีผลบังคับใช้

    “แม้ทีพีพีจะยังไม่มีผลบังคับใช้ และส่ออาจมีปัญหาจากคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯทั้งนางฮิลลารี และนายทรัมป์ประกาศหากได้เป็นประธานาธิบดีจะรื้อทีพีพีใหม่เพื่อให้สหรัฐฯได้ประโยชน์มากขึ้น อาจทำให้การมีผลบังคับใช้ช้าออกไป แต่อย่างไรก็ดีการที่เวียดนามเป็นสมาชิกทีพีพีสร้างแรงจูงใจนักลงทุนไทยเทศแห่ไปลงทุนในเวียดนาม และช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก ขณะที่การลงทุนในไทยมีแรงจูงใจน้อยกว่า เพราะเราไม่มีทั้งเอฟทีเอกับยุโรป และไม่ได้เป็นสมาชิกทีพีพี เป็นผลจากการเมืองของเรา”

    สอดรับกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ที่กล่าวว่า ปัจจัยเหตุสำคัญที่จูงใจการลงทุนในเวียดนามมี 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การที่เวียดนามเป็นสมาชิกของทีพีพี ทำให้การส่งออกไปยังสหรัฐฯได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีดีกว่าการส่งออกจากประเทศไทย 2.สินค้าที่ส่งออกไปตลาดอียู ของเวียดนาม ณ ปัจจุบันยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ขณะที่สินค้าไทยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์นี้แล้ว 3.ค่าแรงของเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย และ 4.โลจิสติกส์ของเวียดนามมีศักยภาพในการส่งออกไปยังต่างประเทศ จากมีท่าเรือน้ำลึกที่โฮจิมินห์ และท่าเรือดานัง

    ทั้งนี้จากข้อมูล ณ ปี 2558 การลงทุนโดยตรงของต่างชาติ(FDI)ในเวียดนาม ในส่วนของประเทศไทยอยู่อันดับที่ 11 ด้วยมูลคาการลงทุนสะสม 8,079 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 446 โครงการ ส่วนนักลงทุนอันดับ 1-5 ประกอบด้วย เกาหลีใต้(การลงทุนผลิตโทรศัพท์มือถือของซัมซุงในเวียดนามช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนจากเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างมาก), ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และบริติช เวอร์จิ้น ด้วยมูลค่าการลงทุนสะสม 48,156, 39,168, 36,289, 31,512 และ 19,715 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ และจำนวน 5,213, 3,051, 1,600, 2,512 และ 644 โครงการตามลำดับ

    ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 การลงทุนของไทยในเวียดนามอยู่อันดับที่ 7 ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 537 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 33 โครงการ ส่วนนักลงทุนอันดับ 1-5 ในช่วงเดียวกันของปีนี้ตามลำดับได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เงินลงทุนรวม 4,209, 1,396, 1,375, 1,120 และ1,004 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ และจำนวน 681, 152, 312, 139 และ 109 โครงการตามลำดับ

    “แนวโน้มการลงทุนของไทยในเวียดนามยังแรง ที่อยู่ในแผนเช่น กลุ่มเอสซีจีจะลงทุนปิโตรเคมีมูลค่าแสนกว่าล้านบาท โดยทางการ์ตาจะถือหุ้น 25% แต่จากเศรษฐกิจเขาชะลอตัวจากราคาน้ำมันลดลงเลยถอนดัว ยังต้องเจรจาต่อและอาจดาวน์ไซส์ลง ส่วนกลุ่มปตท. จะไปลงทุนโรงกลั่นน้ำมูลค่าแสนกว่าล้านบาทเช่นกัน ซึ่งทางเวียดนามก็เร่งให้ตัดสินใจ นักลงทุนไทยไปที่ไปลงทุนในเวียดนามมากในเวลานี้คือกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เพราะตามกฎแหล่งกำหนดสินค้าของทีพีพีต้องใช้วัตถุดิบที่ผลิตในเวียดนามหรือจากประเทศสมาชิกจึงจะได้สิทธิประโยชน์ลดภาษี”

    อย่างไรก็ดีนายสนั่นระบุว่า แม้การลงทุน FDI ในไทยขณะนี้จะมีแรงจูงใจน้อยกว่าการไปลงทุนในเวียดนาม แต่ไทยกับเวียดนามก็ถือเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกัน และการค้า 2 ฝ่ายก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ(ดูตารางประกอบ)ทั้งนี้รัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายการค้า(ส่งออกและนำเข้า)ระหว่างกันจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2563 จากปี 2558 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 12,957 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

    ทั้งนี้ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้การค้าไทย-เวียดนามถึงเป้าหมาย 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ อาทิ ได้มีโครงการประชารัฐจัดตั้งทีมไทยแลนด์ พลัส เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-เวียดนาม, คนเวียดนามชอบสินค้าไทย, เพิ่มยอดสินค้าโดยใช้ช่องทางกระจายสินค้าที่นักลงทุนไทยไปลงทุนในเวียดนาม,ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการจัดงาน Top Thai Brand ,สภาธุรกิจไทย-เวีดนามจัดงานบิซิเนสแมชชิ่งให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายพบกัน,สนับสนุนการจัดตั้ง Viet-Thai Commercial Center และรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน และบีโอไอจะตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนในเวียดนามที่ฮานอยในปี 2560 เป็นต้น


    ที่มา: thansettakij

    0 comments:

    Post a Comment