สำนักพระราชวังเปิดให้ ปชช.ลงนามถวายพระพร ร.10 เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ พร้อมแจ้งปิดเข้ากราบสักการะพระบรมศพ เบื้องหน้าพระบรมโกศ 1 ม.ค.60 ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติประกอบพิธีเคลื่อนย้ายไม้จันทน์หอมแปรรูป 1,461 แผ่น ส่งมอบสำนักช่างสิบหมู่แล้ว เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ขณะที่ชาวกุยบุรีและประชาชนร่วมส่งตลอดเส้นทาง สุดกลั้นน้ำตาต่างรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ส่วนบรรยากาศที่สนามหลวงและพระบรมมหาราชวังยังมีพสกนิกรหลั่งไหลร่วมสักการะพระบรมศพอย่างต่อเนื่อง
เปิดให้ ปชช.ลงนามถวายพระพร ร.10
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 สำนักพระราชวัง ได้แจ้งว่า เนื่องในวันขึ้นใหม่พุทธศักราช 2560 สำนักพระราชวังเปิดให้ประชาชนลงนามถวายพระพร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ตั้งแต่เวลา 07.30-17.00 น.และของดการถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เป็นเวลา 1 วัน สำหรับเจ้าภาพพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังคงมีตามปกติ
ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเตรียมการสวดมนต์ข้ามปีส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ พ.ศ.2560 ซึ่งกระทรวงวัฒนาธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ ในวันที่ 31 ธ.ค.2559 และวันที่ 1 ม.ค.2560 โดยเป็นการจัดกิจกรรมทั้งในวัด สถานที่ทั่วไป และท้องสนามหลวง กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีอาเซียน 15 จังหวัด ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีในต่างประเทศ โดยขอความร่วมมือไปยังศูนย์ประสานงานที่กำกับดูแลพระธรรมทูตในต่างประเทศ กิจกรรมไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 รัชกาล
พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีฯ จะเริ่มในวันที่ 31 ธ.ค. โดยในเวลา 21.00 น. จะสงบนิ่ง 89 วินาที เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้นในเวลา 23.45 น. จะสวดมนต์ส่งท้ายปีเก่า ส่วนในเวลา 24.00 น.จะร้องเพลงพรปีใหม่ ขณะที่ในวันที่ 1 ม.ค.2560 เวลา 00.09 น.จะจุดเทียนและสวดมนต์รับปีใหม่ บทชัยมงคลคาถา (พาหุง) และเวลา 07.00 น.ทำบุญตักบาตร ไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 รัชกาล ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดราชโอรสาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดสุทัศนเทพวรารามวรมหาวิหาร วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และวัดวชิรธรรมสาธิต เขตบางนา
ชวนโหลด 9 บทเพลงแห่งความอาลัย
ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่หนึ่ง พร้อมด้วยนางเตือนใจ สินธุวณิก ประธานคณะกรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศ แถลงว่าคณะกรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศ ในนาม สปท.ได้ประพันธ์เพลงไพเราะเฉลิมพระเกียรติเพื่อถวายความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมจัดทำเป็นมิวสิควีดีโอจำนวน 9 บทเพลงด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ เพื่อนำออกเผยแพร่ทั้งทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ทั่วประเทศทุกสถานีต่อไป ทั้งนี้มีนายพิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร อดีตนักร้องชื่อดัง ในฐานะกรรมการโครงการเสียงปฏิรูปประเทศ เป็นประพันธ์คำร้องและทำนอง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทั้ง 9 บทเพลง ได้แก่ 1.พ่อมองเราลงมาจากฟ้า 2.บ้านของหัวใจ (เสียงร้องเด็กผู้หญิง) 3.เห็นด้วยหัวใจ 4.ต้นไม้แห่งความรักของพ่อ 5.บ้านของพ่อ 6.พ่อคือบ้านของหัวใจ (เสียงร้องเด็กผู้ชาย) 7.ทำดีเพื่อพ่อลูกขอสัญญา 8.ไม่อยากให้พ่อเหนื่อย 9.ต้นไม้แห่งความรัก โดยจะมีการอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ www.reformvoice.com เพื่อเผยแพร่ให้สื่อทั้งในและต่างประเทศพร้อมให้พสกนิกรชาวไทยทั่วทุกมุมโลกได้ร่วมรับฟัง และช่วยกันเผยแพร่ต่อไปโดยไม่สงวนลิขสิทธิ์
บำเพ็ญกุศลพระบรมศพ
เมื่อเวลา 07.00 น. ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินเป็นวันที่ 68 นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เป็นประธานบำเพ็ญพระกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากนั้นถวายภัตตาหารเช้าแด่พระพิธีธรรม 8 รูป จากวัดอนงคารามวรวิหาร และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ที่สวดพระอภิธรรมมาตั้งแต่ค่ำวันที่ 19 ธ.ค.2559
ในการนี้เป็นวันที่ 14 ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้ราชสกุล องคมนตรี คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และถวายเป็นพระราชกุศล โดยช่วงเช้ามีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ได้แก่ กรรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
เวลา 14.30 น. สมเด็จพระอัยยิกาเกซัง โชเดน วังชุก และสมเด็จพระปิตุจฉาเปมา ลาดน วังชุก ในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏาน รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์วังชุก เสด็จมาทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และลงพระนามในสมุดหลวงแสดงความเสียพระราชหฤทัย ณ อาคารสำนักราชเลขาธิการ ในพระบรมมหาราชวัง
ประชาชนหลั่งไหลสักการะพระบรมศพ
สำนักพระราชวังได้สรุปยอดรวมประชาชน ที่เดินทางมาถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เบื้องหน้าพระบรมโกศ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2559 ตั้งแต่เวลา 04.50-23.02 น. ซึ่งตามกำหนดเดิมจะเปิดถึงเวลา 21.00 น.เท่านั้น แต่เนื่องจากยังมีประชาชนรอเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพอยู่ในสนามหลวงอีกเป็นจำนวนมากจึงได้ขยายเวลา โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 50,583 คน รวม 50 วัน มีจำนวน 1,973,695 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 4,596,651.75 บาท รวม 50 วัน มียอดเงินรวมทั้งสิ้น จำนวน 155,524,090.75 บาท
บรรยากาศการที่พระบรมมหาราชวังและท้องสนามหลวง ประชาชนจำนวนมากต่างแต่งกายไว้ทุกข์สีดำ เดินทางเข้าต่อแถวเพื่อรอเข้ากราบถวายบังคม พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ต่างเดินทางกันมาเป็นกลุ่มคณะและครอบครัว ซึ่งมีทั้งประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ได้เปิดให้ประชาชนชุดแรกเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และมูลนิธิ อาสาสมัครต่างๆ ยังคอยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเต็มที่ และในส่วนของประชาชนที่เข้าแถวปักหลักรอ โดยเจ้าหน้าที่นำอาหารเช้าและน้ำดื่มมาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่นั่งรออยู่ภายในเต็นท์ โดยไม่ต้องลุกออกจากที่นั่ง และหากประชาชนคนใดอยากเข้าห้องน้ำ หรือออกไปทำธุระส่วนตัว ก็สามารถออกมาจากแถวได้ โดยจะมีบัตรคิวให้ประชาชนสำหรับหยิบไปเข้าห้องน้ำ และกลับเข้ามานั่งที่เดิม เพื่อป้องกันการแทรกคิวด้วย แต่จากการสอบถามพบว่าไม่ค่อยพบปัญหาการแทรกคิว
ขณะที่การรักษาความปลอดภัยยังเป็นไปอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัคร ยังคงตรวจตราและคัดกรองบุคคลที่ผ่านเข้าออกตามจุดคัดกรองทั้ง 9 จุด โดยจะต้องแสดงบัตรประชาชน ผ่านการตรวจกระเป๋า สัมภาระที่นำมาติดตัวมา และผ่านการตรวจสิ่งผิดกฎหมายหรืออาวุธตามตัวด้วย
เจ้าหน้าที่สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า ในวันที่ 20 ธ.ค. จะมีประชาชนจาก 4 จังหวัด ประกอบด้วย สุโขทัย ระยอง สุรินทร์ ราชบุรี เดินทางเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รอบที่ 3 โดยจะมีการนำประชาชนมาจังหวัดละประมาณ 750 คน รวมแล้วประมาณ 3,000 คน โดยในการเดินทาง เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองประจำอำเภอ แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ รถตำรวจนำทาง และรถพยาบาล ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนตลอดการเดินทาง
โปรดเกล้าฯ เลี้ยงอาหาร 4 มื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เต็นท์อาหารพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณท้องสนามหลวงฝั่งทิศเหนือ เยื้องกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยรวมอยู่ภายในศูนย์อาหารบริการประชาชน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ฯ นำอาหาร ขนม ของว่าง และน้ำดื่มพระราชทานมาแจกจ่ายให้ประชาชน โดยมื้อเช้าเวลา 07.00 น. ประกอบด้วย ข้าวต้มหมูตุ๋น 1,500 ถ้วย กาแฟสด 2,500 แก้ว นมหนองโพ 2,000 กล่อง ส่วนมื้อกลางวัน เวลา 11.00 น. ข้าวหมกไก่หอมเจียว 1,000 จาน ข้าวแกงคั่วหมูย่างใบชะพลู 1,000 จาน ข้าวกะหล่ำหมูสับผัดน้ำปลา 1,000 จาน ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย 1,000 ชาม ข้าวไก่ผัดพริกขิงถั่วฝักยาว 1,000 จาน สำหรับมื้อบ่าย 16.00 น. ประกอบด้วย ขนมไทย 1,000 กล่อง ข้าวเหนียวหมู-ไก่ทอด 1,000 ห่อ เฉาก๊วย 1,000 ถุง และ มื้อเย็นเวลา 18.00 น. ข้าวราดทอดมันปลากราย 5,000 จาน ข้าวผัดผักรวมกุ้งสด 3,000 จาน พร้อมน้ำดื่มสมุนไพร 700 ลิตร และน้ำดื่มจิตรลดาให้บริการประชาชนตลอดทั้งวัน
เคลื่อนย้ายไม้จันทน์หอม
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 06.39 น. นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธาน ในการประกอบพิธีจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย จุดเทียนที่เครื่องทองน้อยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สรงน้ำที่ไม้จันทน์หอม โปรยดอกไม้โดยรอบบนรถบรรทุกไม้จันทร์หอมจำนวน 3 คัน บริเวณด้านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หมู่ 9 ต.ย่านซื่อ อ.กุยบุรี โดย นายชาตรี จันทร์วีระชัย นายอำเภอกุยบุรี นายเกริกชัย ชาติไทยไตรรงค์ วัฒนธรรมจังหวัด นายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตัวแทน 13 องค์กรเครือข่ายกุยบุรีพาวเวอร์ และ ประชาชนจำนวนมาก
นายศรีสวัสดิ์ บุญมา กำนันตำบลหาดขาม อ.กุยบุรี กล่าวว่าตนรู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้ร่วมในพิธีสำคัญยิ่ง ถือเป็นการทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วยความจงรักและภักดี และถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตที่ตนได้มีโอกาสรับหน้าที่สำคัญในการขับรถบรรทุกไม้จันทน์หอม ร่วมกับชาวบ้านกุยบุรีไปส่งยังสำนักช่างสิบหมู่ สำหรับผืนป่ากุยบุรีถือเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะเรื่องของไม้จันทน์หอมซึ่งถูกนำไปใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สำคัญๆหลายครั้ง ตั้งแต่ครั้งสมเด็จย่า, สมเด็จพระพี่นาง และสมเด็จพระสังฆราช และสำคัญยิ่งในครั้งนี้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สุดกลั้นน้ำตาแห่งความอาลัย
ต่อมาเมื่อ เวลา 06.59 น รถวิทยุตำรวจทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ จากสถานีตำรวจทางหลวง 3 กองกำกับการ 2 จำนวน 3 คัน ได้นำเคลื่อนขบวนรถทั้งหมด พร้อมรถประดับผูกผ้าขาวดำ พร้อมอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่นำขบวน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ประจำบนรถคันละ 6 นาย จากเส้นทางจากอุทยานฯ ผ่านบริเวณสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริถึงสามแยกบ้านหนองหมูระยะทาง 30 กิโลเมตร จากนั้นขบวนรถจะเลี้ยวซ้ายจากแยกหนองหมูขึ้นบนถนนเพชรเกษม ขาเข้า กทม. เพื่อมุ่งหน้าไปยังสำนักช่างสิบหมู่ จ.นครปฐม โดยมีจุดพักรถที่ร้านแม่กิมไล้ ต.ไร่ส้ม อ.เมือง จ.เพชรบุรี ในเวลา 10.39 น. และออกเดินทางเวลา 10.59 น. มุ่งหน้าไปตามถนนเพชรเกษม ผ่าน จ.ราชบุรี ถึง จ.นครปฐมในเวลา 14.09 น. โดยตลอดเส้นทางจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ถึงถนนเพชรเกษม ขบวนเคลื่อนอย่างช้าๆ เนื่องจากมีประชาชนชาวกุยบุรี โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กมานั่งพับเพียบกับพื้นดิน เพื่อรอส่งขบวนไม้จันทน์หอมตลอดเส้นทางโดยได้นำรูปของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ติดอยู่ที่บ้านของตัวเอง พระบรมสาทิสลักษณ์จากปฏิทิน หรือธนบัตรมาร่วมในพิธีและเมื่อขบวนผ่านต่างก้มลงกราบกับพื้นดิน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ด้านนางเตือน ช้างแก้ว อายุ 57 ปี ชาวบ้านกุยบุรี กล่าวทั้งน้ำตาว่า ยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อนึกถึงความดีและสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทำให้กับประชาชนแล้ว ก็รู้สึกน้ำตาไหลและพูดไม่ออก โดยในวันนี้ได้นำรูปของพระองค์ท่านที่ติดอยู่ที่ข้างฝาบ้านมาร่วมส่งขบวนไม้จันทน์หอม เพื่อนำไปส่งมอบให้กับสำนักช่างสิบหมู่ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ส่งมอบไม้จันทน์หอมให้ช่างสิบหมู่
ขบวนรถบรรทุกไม้จันทน์หอมจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาพร้อมกับไม้จันทน์หอมแปรรูป เป็นไม้แผ่น 1,415 แผ่น เป็นไม้ท่อน 46 ท่อน เดินทางมาถึงสำนักช่างสิบหมู่ เวลาประมาณ 14.10 น. ท่ามกลางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และประชาชน เฝ้ารอชื่นชมไม้จันทน์หอม ไม้มงคลที่จะนำมาใช้ในครั้งนี้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้อัญเชิญไม้จันทน์หอมส่วนหนึ่งมาไว้บริเวณแท่นพิธีภายในอาคารกลุ่มประณีตศิลป์ เพื่อทำพิธีสรงน้ำในเวลา 15.09 น. โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ประกอบพิธีรับมอบไม้จันทน์หอม สำหรับนำไปสร้างพระโกศจันทน์ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้บริหาร เป็นผู้ส่งมอบ
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ไม้จันทน์หอมแปรรูปจำนวน 1,461 แผ่นที่ได้รับมอบทั้งหมดจะถูกจะนำไปจัดสร้างพระโกศจันทน์ ฐานรองพระโกศจันทน์ ช่อดอกไม้จันทน์ จำนวน 5 แบบ ฟืนไม้จันทน์ 24 ท่อน และยอดพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศ ซึ่งจะจัดเก็บไว้ที่บริเวณอาคาร 2 ในสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จังหวัดนครปฐม ก่อน เพื่อรอดำเนินการขยายแบบ ฉลุลวดลาย รวมถึงการจัดสร้างโรงสร้างพระโกศที่สนามหลวงยังไม่แล้วเสร็จ
สำหรับไม้จันทน์หอมสำหรับสร้างพระโกศจันทน์ มีจำนวน 1,415 แผ่น เป็นไม้ท่อน 46 ท่อน ซึ่ง กระทรวงวัฒนธรรม จะนำไม้จันทน์แปรรูปดังกล่าวไปจัดทำพระโกศจันทน์และส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งได้ออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว โดยการดำเนินการต้องอาศัยช่างหลายประเภท พร้อมกันนี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรม จะเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาและประชาชนที่มีฝีมือในงานประณีตศิลป์ งานฉลุลาย มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ซึ่งขณะนี้ มีผู้แจ้งความจำนงขอร่วมดำเนินการแล้วกว่า 100 ราย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560 พร้อมกันนี้ จะบันทึกองค์ความรู้เกี่ยวกับการสร้างพระโกศจันทน์เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสน์ของชาติต่อไปด้วย
ที่มา: banmuang
0 comments:
Post a Comment