Wednesday, September 13, 2017

Tagged Under:

โรฮิงญา ชนชาติที่ถูกสาป

By: news media On: 7:36 PM
  • Share The Gag
  • เป็นปัญหาที่ยาวนานและเป็นเรื่องที่ชาวโลกจับตามอง กับกรณีความขัดแย้งใน เมียนมา ระหว่าง “รัฐบาลพม่า” กับกลุ่มชนชาว “โรฮิงญา” (“โรฮีนจา” หรือที่ทางการเมียนมาพยายามให้เรียกว่า “เบงกาลี”) ที่ปรากฏเป็นข่าวเสมอว่ารัฐบาลเมียนมามีนโยบายค่อนข้างรุนแรง เพื่อกดดันให้กลุ่มชนดังกล่าวออกไปจากประเทศ ทำให้เกิด “คลื่นผู้อพยพ” เข้าไปยังบังกลาเทศบ้าง หรือเป็น “มนุษย์เรือ” /ฝ่าคลื่นลมทะเลมาแวะใน “ประเทศไทย” ก่อนเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือไปไกลถึงออสเตรเลีย

    ชนชาวโรฮิงญาที่เป็นรู้จักของสังคมไทย เมื่อปรากฏหลุมศพขนาดใหญ่ของชาวโรฮิงญาในจังหวัดทางภาคใต้ของไทยนำไปสู่การสืบสวนจับกุมในข้อหาค้ามนุษย์กับผู้ต้องหาหลายราย อาทิ พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตนายทหารสังกัด กองอำนวยการรักษาความสงบภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งศาลได้อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ไปเมื่อ 19 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ทว่ารัฐบาลไทย ฝ่ายความมั่นคงไทย และสังคมไทย ต้องกลับมาอยู่ในภาวะกังวลกับผู้อพยพโรฮิงญาอีกครั้ง หลังรัฐบาลพม่าดำเนินการปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรง ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2560

    บ่ายวันที่ 13 ก.ย. 2560 ที่งานเสวนาเรื่อง “โรฮิงญา : เรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาคนหนึ่งของไทยอย่าง รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ บอกเล่าประวัติศาสตร์ที่ฟังแล้วคงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่าชาวโรฮิงญานั้นเป็น “ชนชาติที่ถูกสาป” เพราะอยู่ในดินแดนที่ไม่มีใครต้องการ และไปที่ไหนก็ไม่ค่อยจะมีใครอยากอ้าแขนรับ


    รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

    อาจารย์สุเนตร เล่าถึง “ประวัติศาสตร์กระแสหลัก” ของเมียนมา ที่มองว่าชาวโรฮิงญาเป็น “คนนอก” (Foreigner) เป็นชาวต่างด้าวต่างชาติ ไม่ใช่ “ชนดั้งเดิม” ในแผ่นดินเมียนมาอย่างกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อาทิ มอญ ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ว้า ฯลฯ ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่ชาวโรฮิงญาอยู่อาศัยนั้น เรียกว่า “อาระกัน” (Arakan) หรือ “ยะไข่” เดิมก็เป็นรัฐอิสระเช่นกัน กระทั่งในปี 2327 (ค.ศ.1784) อาณาจักรพม่าจึงสามารถยึดครองดินแดนอาระกันได้สำเร็จ ซึ่งก็มีเรื่องเล่าว่า ชาวอาระกันที่นับถือศาสนาอิสลาม “หนีตาย” ออกจากเมืองไปเป็นจำนวนมาก

    แผนที่ดินแดน “อาระกัน” (Arakan) หรือ “ยะไข่” (Rakhine)

    ภาพจากเว็บไซต์ https://joshuaproject.net/people_groups/13207/BM

    แต่นั่นก็ตามมาซึ่ง “ปัญหาใหม่” นั่นคือกลายเป็นว่าพม่ามีพรมแดนติดกับ “เอเชียใต้” ซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลของ “อังกฤษ” มหาอำนาจโลกตะวันตกขณะนั้น และเมื่อเกิดเหตุกระทบกระทั่งจนพม่ากับอังกฤษทำสงครามกันในปี 2367 - 2368 (ค.ศ.1824 - 1825) ผลคือพม่าเป็นฝ่ายแพ้ และต้อง “เสียอาระกัน” ให้กับอังกฤษ โดยถูกผนวกรวมเข้ากับอินเดียและบังกลาเทศ ซึ่งช่วงนี้เองที่การโยกย้ายถิ่นฐานไปมาของผู้คนระหว่างบังกลาเทศกับอาระกันเกิดขึ้นทั่วไป

    “ช่วงที่เข้ามากันมาก คือช่วงต้นคริสตศวรรษที่ 20 (ค.ศ.1900 หรือ พ.ศ.2443 เป็นต้นมา) อังกฤษต้องการใช้แรงงานคนแขกซึ่งก็มีหลายเผ่า แต่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จึงมีการนำคนจากฝั่งโน้น (บังกลาเทศ) เข้ามาจำนวนมาก จะรู้ได้อย่างไรว่าโรฮิงญากลุ่มไหนอยู่เก่าแก่ หรือกลุ่มไหนอังกฤษนำเข้ามา แต่รัฐบาลพม่าเหมาเอาทั้งหมดว่าเข้ามาหลัง ค.ศ.1824” อาจารย์สุเนตร ระบุ

    นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เมียนมาท่านนี้ เล่าต่อไปว่า เมื่ออังกฤษนำคนแขกมุสลิมเข้ามา ก็มีปัญหาระหองระแหงกระทบกระทั่งกันบ้างกับชาวพื้นถิ่นที่เป็น “ชาวพุทธ” แต่เหตุการณ์ที่เป็น “รอยร้าว” ระหว่างชน 2 กลุ่ม อยู่ในช่วง “สงครามโลกครั้งที่ 2” เมื่อพม่าที่ขณะนั้นตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ “ขบวนการกู้เอกราชพม่า” ได้จับมือกับ “ญี่ปุ่น” เพื่อหวังให้กองทัพลูกพระอาทิตย์มาขับไล่มหาอำนาจตะวันตกออกไป ในทางตรงกันข้าม กองทัพอังกฤษก็ได้ทิ้งอาวุธจำนวนมากไว้ให้ชาวโรฮิงญาในอาระกัน เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่นเช่นกัน

    “อังกฤษทิ้งอาวุธให้โรฮิงญา เพื่อจะเอาไว้เป็นกันชนไม่ให้ญี่ปุ่นตามเข้าไปถึงอินเดีย สถานการณ์นี้เป็นรอยแผลสำคัญเลยที่เกิดขึ้น ส่วนรอยแผลอันที่ 2 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีปรากฏการณ์การแยกประเทศ เช่นมีปากีสถานตะวันตก ปากีสถานตะวันออก (ปัจจุบันคือบังกลาเทศ) โรฮิงญาก็มีกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อแยกประเทศเช่นกัน อย่างที่มีชื่อออกมาคือ Arakanistan ในช่วงนั้น ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายที่รัฐบาลพม่าจะยอมให้เกิด” อาจารย์สุเนตร กล่าว

    “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” ทางรถไฟที่สร้างขึ้นจากชีวิตเชลยศึกในกองทัพญี่ปุ่น มุ่งให้เป็นเส้นทางเดินทัพเข้าสู่พม่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

    ท่าทีของพม่าหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษใหม่ๆ ในปี 2491 (ค.ศ.1948) รัฐบาลพม่าในขณะนั้น “แม้จะยังไม่ยอมรับชาวโรฮิงญาเป็นชนเผ่าหนึ่งของประเทศ แต่ก็ได้ให้สิทธิเสรีภาพพอสมควร” ชาวโรฮิงญาตั้งสมาคม ชมรมต่างๆ อย่างเปิดเผย ถึงขนาดมีสถานีวิทยุเป็นของตนเอง ทว่าทุกอย่างได้เปลี่ยนไป เมื่อเกิดการยึดอำนาจในปี 2505 (ค.ศ.1962) โดยผู้นำฝ่ายทหาร นายพล “เน วิน” (Ne Win) จากนั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่า แผ่นดินพม่าได้เข้าสู่ “ยุคมืด” เพราะมีการ “ปิดประเทศ” และเปิดฉากสมัยแห่ง “ระบอบเผด็จการ” ยาวนานนับทศวรรษ



    นายพล “เน วิน” (Ne Win) ผู้นำพม่าเข้าสู่ยุคเผด็จการปิดประเทศ

    อาจารย์สุเนตร กล่าวว่า เมื่อ เน วิน ขึ้นครองอำนาจ ท่าทีของรัฐบาลพม่าต่อชนชาวโรฮิงญาได้เปลี่ยนไปแบบ “จากยืดหยุ่นสู่กวาดล้าง” โดยเฉพาะในปี 2521 (ค.ศ.1978) รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้นโยบาย Operation Nagamin เข้าควบคุมพื้นที่อาระกัน โดยอ้างว่า “เพื่อรักษาความสงบ” หรือก่อนหน้านั้น ในปี 2517 (ค.ศ.1974) มีการออกกฎหมาย “ยกเลิกบัตรประชาชน” ของชาวโรฮิงญา และในปี 2525 (ค.ศ.1982) ได้ยกระดับสู่การ “ยกเลิกทุกสิทธิ” ที่ชาวโรฮิงญาเคยมีเหมื่อนชนกลุ่มอื่นๆ หรือก็คือการไม่ยอมรับ “การมีตัวตน” ของโรฮิงญาบนแผ่นดินพม่าอีกต่อไป

    นั่นคือเรื่องราวในอดีต แต่ในวันนี้ที่ประชาคมโลกถามหา “อองซานซูจี” (Aung San Suu Kyi) ว่าหายไปไหน? ทำไมไม่พูดอะไรเกี่ยวกับวิกฤติโรฮิงญาบ้าง ทั้งที่เคยถูกยกย่องเป็น “วีรสตรีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” จนได้รับ “รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ” (Nobel Peace Prize) ในปี 2534 (ค.ศ.1991) ในขณะที่ถูกรัฐบาลทหาร SLORC และ SPDC สั่งจองจำในบ้านพักของเธอเอง กระทั่งในเวลาต่อมาถูกปล่อยตัวและกลับมามีบทบาทสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อพม่าปฏิรูปการเมืองสู่ประชาธิปไตย และพรรค NLD ของเธอชนะเลือกตั้งในปี 2558 (ค.ศ.2015)

    “อองซานซูจี” (Aung San Suu Kyi)

    นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เมียนมาท่านนี้ อธิบายสภาพสังคมเมียนมาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ คือ “2 พรรคใหญ่” ในการเมืองเมียนมา คือ พรรค NLD ของนางอองซานซูจี กับ พรรค USDP หรือพรรคการเมืองของ “ฝ่ายทหาร” ซึ่งถือเป็น “คู่แข่ง” ของพรรค NLD โดยตรง แน่นอนว่าในสังคมประชาธิปไตย “ฐานเสียง” จากประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ทว่านั่นคือ “โชคร้าย” เพราะชนชาวพม่า “ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และไม่ชอบโรฮิงญา” ประเด็นโรฮิงญาจึงเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” ที่นักการเมืองทุกรายไม่ควรเอ่ยปากพูดถึง

    “ไม่ว่าจะ NLD หรือ USDP ต่างคาดหวังว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นพุทธ ดังนั้นถ้ารัฐบาลแสดงทีท่าเห็นอกเห็นใจมุสลิมโรฮิงญา ก็จะถูกต่อต้านจากประชาชน หมวกที่อองซานซูจีสวมอยู่ขณะนี้คือหมวกนักการเมือง ไม่ใช่หมวกของผู้ชนะรางวัลโนเบลสันติภาพ ฉะนั้นเขาก็ต้องระวัง ถ้าไปทำอะไรมากคะแนนเสียงจะเสีย” อาจารย์สุเนตร กล่าว

    นอกจากพรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติแล้ว ยังมี “ตัวแปร” อื่นๆ เช่น พรรคการเมืองท้องถิ่นรัฐอาระกัน แน่นอนว่ามีแนวทางแบบ “พุทธหัวรุนแรง” ไม่ต่างจากชนชาวพม่าส่วนใหญ่ที่มองโรฮิงญาเป็นคนนอก ความสำคัญของพรรคการเมืองนี้ต่อรัฐบาลกลางเมียนมา คือ “พรรครัฐบาลเอาชนะเลือกตั้งที่อาระกันไม่ได้” ทำให้ขั้วการเมืองรัฐบาลต้องให้ความใส่ใจอย่างมาก หรือแม้แต่ “ภาคประชาชน” ในรัฐอาระกัน ที่จำนวนมากก็เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของชาวพุทธที่ไม่เอาชาวโรฮิงญา แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ และยังมีกลุ่มย่อยอื่นๆ ออกไปอีก

    “โรฮิงญายังเป็นปัญหาเรื่องสีผิว เพราะมีสีผิวต่างจากคนพม่าชัดเจน ภาษาก็คนละภาษา แถมศาสนายังแตกต่าง ปัญหาของโรฮิงญาจึงเห็นภาพว่ามีกลุ่มยะไข่พุทธกับโรฮิงญาที่ขัดแย้งกัน ทั้งๆ ที่ในอาระกันไม่ได้มีแค่ 2 ชาติพันธุ์ แต่กลุ่มที่เด่นๆ คือยะไข่พุทธกับมุสลิมโรฮิงญา พอเป็นแบบนี้รัฐก็วางตัวยาก จะเอนเอียงสนับสนุนไปทางไหน? แน่นอนก็ต้องทางพุทธ แล้วพอเป็นแบบนี้มันก็ข้ามพรมแดนแล้ว ไม่ได้อยู่แต่ในรัฐยะไข่เท่านั้น แต่กระจายไปพม่าส่วนอื่นๆ ที่เป็นชาวพุทธด้วยกัน ก็มีความเคลื่อนไหวต่อต้านโรฮิงญา” อาจารย์สุเนตร กล่าวย้ำ

    สุดท้ายเมื่อถามหา “กลไกระหว่างประเทศ” เช่น ประชาคมอาเซียน อาจารย์สุเนตร ระบุว่า รัฐบาลพม่ายืนยันเสมอว่า “นี่คือเรื่องภายในของฉัน คนอื่นอย่าเข้ามายุ่ง” ดังนั้นแล้ว ชะตากรรมของชาวโรฮิงญา จึงต้อง

    “เคว้งคว้าง” อย่างไม่รู้ที่สิ้นสุด!!!



    ที่มา:  naewna

    0 comments:

    Post a Comment