สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ที่ประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอสซี) ว่าด้วยเรื่องเกาหลีเหนือ ซึ่งหารือกันมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการลงมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติมในวันจันทร์(11ก.ย.60) โดยที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ 15-0 เห็นชอบมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่รัฐบาลเปียงยาง คือ ระงับการส่งออกสิ่งทอและจำกัดการส่งมอบน้ำมัน เพื่อลงโทษจากการที่ทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ซึ่งถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
มาตรการคว่ำมาตรดังกล่าวร่างโดยสหรัฐ ซึ่งถือเป็นมาตรการคว่ำบาตรครั้งที่ 8 แล้ว นับตั้งแต่เกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อปี 2006 ซึ่งเดิมสหรัฐต้องการให้มีการอายัดทรัพย์สินในต่างแดนของนายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ แต่สุดท้ายสหรัฐก็ยอมถอนออกไป เพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย
มาตรการคว่ำบาตรล่าสุด ประกอบด้วย ห้ามส่งออกสิ่งทอ ตัดขาดการขนส่งก๊าซธรรมชาติไปยังเกาหลีเหนือ กำหนดเพดานการส่งมอบผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่น และตรึงการป้อนน้ำมันดิบไว้ที่ระดับปัจจุบัน โดยภายใต้มาตรการคว่ำบาตรใหม่นี้ ประเทศต่างๆจะมีอำนาจเข้าตรวจเรือต้องสงสัยบรรทุกสินค้าต้องห้ามสำหรับเกาหลีเหนือ แต่ต้องขอความยินยอมจากรัฐเจ้าของธงเสียก่อน ในร่างมติเบื้องต้นถึงขั้นอนุญาตให้ใช้กำลังขึ้นไปบนเรือดังกล่าว แต่สุดท้ายต้องปรับลดระดับความแข็งกร้าวลง หลังการเจรจาเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
มตินี้จำกัดการส่งมอบผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่น 500,000 เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม และจะเพิ่มเป็น 2 ล้านบาร์เรล จากวันที่ 1 มกราคม 2018 ต่อไปอีก 12 เดือน ซึ่งตามข้อมูลของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ(อีไอเอ) ระบุว่า การจำกัดดังกล่าวเทียบเท่ากับเป็นการปรับลดลงราว 10 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์น้ำมันทั้งหมดที่ส่งออกไปยังเกาหลีเหนือ ราวๆเกือบ 2.2 ล้านบาร์เรลในแต่ละปี โดยเกาหลีเหนือนำเข้าเบนซินและดีเซลส่วนใหญ่จากจีน ซึ่งเชื้อเพลิงดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อภาคการเกษตร การขนส่ง และภาคการทหารของ “โสมแดง”
เจ้าหน้าที่สหรัฐ คาดหมายว่าจีนน่าจะยังคงป้อนน้ำมันดิบ ผ่านท่อลำเลียงแก่เกาหลีเหนือราว 4 ล้านบาร์เรลต่อปี แต่มติล่าสุดจะเป็นการจำกัดการส่งมอบไว้ ณ ระดับปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าการแบนส่งออกสิ่งทอจะทำให้เกาหลีเหนือสูญเสียรายได้ต่อปีราว 726 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ยังรวมถึงห้ามออกใบอนุญาตใหม่แก่แรงงานชาวเกาหลีเหนือ ที่ถูกส่งออกไปยังต่างแดน และจะค่อยๆยุติการจ้างงานแรงงานเกาหลีเหนือ โดยร้องขอให้ประเทศต่างๆแจ้งวันหมดอายุของสัญญาจ้างในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานเกาหลีเหนือทำงานอยู่ในต่างแดนราว 93,000 คน กลายเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลเปียงยาง สำหรับใช้เป็นทุนพัฒนาโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์
ทั้งนี้ สหรัฐ และพันธมิตรอ้างว่ามาตรการคว่ำบาตรล่าสุดนี้ จะเพิ่มแรงกดดันแก่รัฐบาลของนายคิม จองอึน ให้ยอมหันหน้าเข้าสู่โต๊ะเจรจา เพื่อยุติการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธ
นางนิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวยืนยันต่อที่ประชุมว่า สหรัฐไม่เคยคิดแสวงหาการทำสงครามกับเกาหลีเหนือ แต่จนถึงตอนนี้รัฐบาลเปียงยางยังไม่ยอมกลับตัว และร่างมติฉบับล่าสุดจะไม่เกิดขึ้น หากปราศจากความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ที่มา: naewna
0 comments:
Post a Comment