
หน้าจอทีวีบ้านเราเวลานี้ คึกคักด้วยรายการ ประกวดร้องเพลง ที่พาเหรดลงจอแบบพร้อมแข่งขัน ฟาดฟัน เพื่อแย่งความนิยมจากคนดูที่รักรายการประเภทนี้ ชนิดใครดี ใครอยู่...
เริ่มต้นด้วย เดอะ วอยซ์ คิดส์ ซีซั่น 3 ทาง ช่อง 3 ในแง่มาตรฐานการผลิตรายการยังน่าดูชม เหมือน 2 ซีซั่นเมื่อไม่ได้ปรับจากของเดิมที่ดีอยู่แล้วมากนัก แต่ต้องยอมรับว่าความรู้สึกที่สัมผัสได้จากการรับชม คือ ยังไม่สนุกเท่าปีก่อนๆ อาจด้วยปีนี้เด็กที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบยังไม่มีใครโดดเด่นมากชนิดให้อ้าปากค้าง และถ้าจำเป็นต้องเทียบกับ เดอะ วอยซ์ ผู้ใหญ่ ก็ยังไม่สนุกและตื่นเต้นเท่า
อีกรายการ เคพีเอ็น อวอร์ด จัดเป็นครั้งที่ 24 ย้ายจากบ้านโมเดิร์นไนน์ ทีวี มาประจำการอยู่ ช่อง 3 ปีนี้ยังควบคุมการผลิตโดย กรณ์ ณรงค์เดช เอ่ยชื่อรายการนี้ แฟนประจำรายการนี้รู้ดีว่า คือ รายการคุณภาพที่ผู้เข้าแข่งขันต้องพลังเสียงสุดยอดจริงๆ ถึงจะผ่านเวทีนี้ได้ โดยรูปร่างหน้าตาไม่ใช่สิ่งสำคัญ
แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นเรื่องเข้าใจได้ ที่รายการจะปรับเปลี่ยน เห็นชัดเจนคือ เคพีเอ็น อวอร์ด มีความทันสมัยขึ้น เช่น แสงสีเสียงบนเวทีที่ทำได้อลังการ เช่นเดียวกับเสื้อผ้าหน้าผมผู้เข้าแข่งขันที่ดีเลิศ ไม่เป็นสองใคร การทำโชว์แต่ละสัปดาห์ก็ไม่ขี้เหร่ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งดี
อย่างการย้ายมาช่อง 3 เห็นความตั้งใจจะทำให้รายการน่าติดตามขึ้น ตั้งแต่รอบคัดเลือก แต่กลับไม่บรรลุนักเมื่อการตัดต่อกลับไม่ทำให้รายการลุ้นหรือตื่นเต้นเท่าที่ควรเป็น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย รวมถึงการเลือก “เนย” โชติกา มาเป็น 1 กรรมการในรอบคัดเลือกที่ทำให้รายการลดความขลัง!
แต่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เวทีอันทรงคุณค่า เคพีเอ็น อวอร์ด สูญเสียเอกลักษณ์และความเป็นตัวเองไป คือ รูปแบบที่ปีนี้ยึดคอนเซ็ปต์ แบทเทิ่ล ซีรีส์ เหมือนที่ใช้ในครั้งที่ 22 และ 23 ซึ่งคัดผู้แข่งขันแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งสีแดง ตัวแทนเสียงดี และ ฝั่งสีน้ำเงิน ตัวแทนหน้าตาดี...รูปแบบการแข่งขันแบบนี้จะว่าไป 2 ครั้งที่ทำมาก็ไม่ใช่จะเปรี้ยงนัก เจอเสียงบ่นเยอะด้วยซ้ำ เมื่อเลือกจะเดินหน้าผลิตรายการโดยเอาการตลาดหรือโหนกระแสเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยลืมจุดแข็งที่เป็นจุดเด่นและภาพจำของคนดู บางครั้งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเอามากๆ
อีกรายการที่แฟนเหนียวแน่น เดอะ สตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว ปีนี้ตามหาดาวปีที่ 11 ย้ายจากโมเดิร์นไนน์ ทีวี มาปักหลักที่ ช่องวัน...ดูตั้งแต่รอบคัดเลือกตามภาคต่างๆ จนถึงคัดจาก 25 คนให้เหลือ 8 คนสุดท้าย ความเปลี่ยนแปลงไม่มาก รูปแบบการนำเสนอค่อนข้างเหมือนเดิม ถึงจะดูสนุกแต่ไม่ค่อยตื่นเต้น เช่นเดียวกับโฉมหน้า 8 คนสุดท้ายที่เดาออกเสียเยอะ...ผู้หญิงอาจเน้นเสียงมาก่อน แต่ต้องมีหน้าตาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ไม่แปลกเราจะเห็นคนเสียงดีต้องตกรอบเยอะ ส่วนผู้เข้ารอบชายไม่ต้องพูดถึง หน้าตามาก่อนเลย ชนิดเลือกมาให้สาวๆ โหวตเป็นหลัก...บางครั้งก็น่าขบคิด มันคือ รายการประกวดร้องเพลง เสียงควรมาก่อนหน้าตาหรือไม่ แล้วส่วนมาก ผู้ผ่านเวทีนี้หลังจบการประกวดจะไปเป็นนักแสดงมากกว่านักร้อง แบบนี้จะจัดแข่งร้องเพลงเพื่อ?
สิ่งที่ต้องเห็นแน่ ในรอบคอนเสิร์ตแต่ละสัปดาห์ คือ การอวยของกรรมการต่อผู้แข่งขันบางคน แบบออกนอกหน้า เกินความจริง และเหนือคนอื่นๆ มีให้เห็นแล้วตั้งแต่รอบคัดเลือก มีให้เห็นทุกปีที่ เสมือนเป็นการผลักเด็กคนๆ นั้นที่คิดว่าขายได้ให้ครองตำแหน่งแชมป์ไปในตัว...ทำให้รายการดูไม่สนุกเอาเสียเลย
ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นทุกปี บนเวทีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง ก็คงดี...เพลงที่ถูกเลือกให้ผู้ประกวด เมื่อถูกจำกัดว่าต้องเป็นเพลงค่ายแกรมมี่ ที่อาจขาดความหลากหลาย อย่างน้อยควรเลือกเพลงให้แตกต่างหน่อย เพราะเห็นมาหลายปี บางเพลงร้องซ้ำๆ ทั้งๆ ที่เพลงแกรมมี่มีมากมายมหาศาล...การอวย(เกินจริง)จากกรรมการมากเกินไป ก็ควรลด การอัด(เกินจริง)แบบแรงๆ เพื่อเรียกคะแนนโหวตก็เช่นกัน การวิจารณ์ดีที่สุดคือ วิจารณ์ตามความเป็นจริง ถึงจะทำให้รายการดูสนุก และถึงกรรมการจะไม่มีส่วนตัดสิน แต่การวิจารณ์ก็เป็นตัวชี้นำชั้นดี ทำอย่างเป็นกลางดีที่สุด...
อีกหนึ่งเป็นรายการประกวดร้องเพลงน้องใหม่ ร้องแลกไลค์ ไทยแลนด์ ทาง ช่อง 8 ขอลงสนามสู้ในสังเวียนรายการแนวนี้ด้วย รายการขับเคลื่อนอย่างลื่นไหลโดยพิธีกรอารมณ์ดี “เสนาหอย”เกียรติศักดิ์ โดยมี 3 คณะกรรมการ “ดร.โด่ง” องอาจ, “เณร”ศุภชัย, “แหม่ม” พัชริดา ที่จะตัดสินผู้เข้าประกวดเพื่อเฟ้นหาดาวเด่น พร้อม 3 คนดนตรี “ตุ๊ก” วิยะดา, “ปู” แบล็กเฮด และ “หนึ่ง” อีทีซี ที่จะมาเป็นเทรนเนอร์ให้ผู้เข้าแข่งขัน
ความน่าสนใจของรายการ คือ รูปแบบที่ให้ผู้เข้าประกวดโชว์พลังเสียงตามที่โค้ชติวเข้มมาอย่างดี เพื่อให้ได้ Like จากคณะกรรมการ
อีกส่วนสำคัญที่ทำให้ตัวรายการน่าสนใจ คือ การเลือกเพลงในการแข่งขันค่อนข้างหลากหลาย คือ มีทั้งเพลงช้า เพลงเร็ว เพลงสากล และเพลงลูกทุ่ง ที่สำคัญไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่เพลงของค่ายอาร์เอส ที่เป็นผู้ผลิตรายการอย่างเดียว นั่นทำให้รายการดูเปิดกว้างขึ้นมา ดูหลากหลาย ไม่จำเจ แม้ในแง่ความยิ่งใหญ่ของโปรดักชั่นในการผลิตอาจสู้ เดอะ สตาร์ หรือ เคพีเอ็น ไม่ได้...
ที่มา,http://www.komchadluek.net/
0 comments:
Post a Comment