
ชัดเจนแล้วว่า การประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีมติใดๆ เกี่ยวกับ
เรื่องที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ที่ถูกหาว่า ปาราชิก
ฟังจากโฆษกสำนักพระพุทธศาสนาแล้วได้ความว่า ปกติแล้วเมื่อมหาเถรสมาคมได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งและมีมติไปแล้วก็จะไม่นำกลับมาพิจารณาอีก ซึ่งกรณี พระธัมมชโย นั้นมหาเถรสมาคมได้พิจารณาเรื่องนี้ไปแล้วเมื่อปี 2549 การประชุมมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ จึงไม่ได้มีการพิจารณาแล้วลงมติ แต่ก็ไม่ได้ปิดทางที่จะยื่นเรื่องพร้อมหลักฐานใหม่ให้มหาเถรสมาคมได้พิจารณาเพิ่มเติมการพิจารณาของมหาเถรสมาคมเมื่อปี 2549 นั้น มีการลงมติว่า พระธัมมชโย ไม่ต้องอาบัติปาราชิก ภายหลังอัยการสูงสุดได้มีมติถอนฟ้อง พระธัมมชโย เนื่องจากเห็นว่า มีการคืนทรัพย์สินให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว
แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ก็เนื่องจากว่า การคืนทรัพย์สินไปแล้วนั้นเป็นเรื่องทางโลก ที่เมื่อเจ้าทรัพย์ไม่ติดใจเอาความเพราะได้รับทรัพย์สินคืนแล้ว ก็ถือว่าจบกันไป แต่ในทางธรรมนั้น ยังคงเป็นคำถามจากผู้คนทั่วไปว่า จะจบๆ กันไปแบบทางโลกได้หรือไม่ เมื่อพระธรรมวินัยบัญญัติเหตุต้องอาบัติปาราชิกต้องขาดจากความเป็นพระทันทีที่ต้องอาบัติปาราชิก
ผู้ที่เห็นในทางนี้จึงมีความเห็นว่า มหาเถรสมาคมควรจะนำเรื่องมาพิจารณาใหม่ ภายใต้บทบัญญัติของพระธรรมวินัย ไม่ใช่กฎหมายอาญาที่ใช้กับฆราวาสทั่วไป
และที่สำคัญก็คือ มีการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันการฟอกเงิน หรือ ปปง.แล้วพบว่า เงินที่ถูกยักยอกไปจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นกว่าหมื่นล้านบาทนั้น ส่วนหนึ่งจ่ายเป็นเช็คเข้าบัญชีของพระธัมมชโย 348 ล้านบาท ก่อนที่จะถูกโอนไปยังมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ และยังมีการสั่งจ่ายเช็คให้วัดพระธรรมกายอีก 436 ล้านบาท นำเงินไปเป็นค่าก่อสร้างและสิ่งปลูกสร้างของวัด อีกส่วนจ่ายให้ผู้ช่วยของพระธัมมชโย 119 ล้านบาท แต่ถูกถอนออกมาเป็นเงินสดทั้งหมด เส้นทางเงินจึงสิ้นสุดตรงนั้น
ปัญหาก็คือ เมื่อ ปปง.ชี้มาแล้วว่า เงินที่มาจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ที่จ่ายเป็นเช็คให้แก่พระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย และผู้ช่วยพระธัมมชโย นั้น เป็นเงินที่ได้จากการยักยอกจากสหกรณ์ เพียงแต่ยึดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของวัดพระธรรมกายไม่ได้ เพราะมีกฎหมายอื่นห้ามเอาไว้ ก็เลยทำให้มีคำถามว่า วัดพระธรรมกายจะทำอย่างไร ในเมื่อรู้แล้วว่า เงินที่นำมาสร้างนั่นนี่เป็นเงินที่ได้มาจากการยักยอก เป็นเงินผิดกฎหมาย
ปปง.บอกว่า กรณีนี้ไม่ต่างจากกรณีดาราหนุ่มชื่อดัง "บอย"
ปกรณ์ ที่ไปซื้อรถลัมโบกินีราคาถูกจากแก๊งยักยอกเงินของ สจล.เมื่อพิสูจน์แล้วว่า แก๊งยักยอกเอาเงินที่ได้มาซื้อรถหรู แล้วมาขายให้ดาราหนุ่ม จึงได้ยึดรถเอาไว้ และดาราหนุ่มก็ยินยอมให้
ยึดไปตรวจสอบแต่โดยดี เพื่อยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมกับแก๊งยักยอกเงินแก๊งนี้
แต่ถามว่า วัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโย ยอมรับแล้วหรือไม่ว่า ได้รับเงินจากนายศุภชัย แล้วยอมรับแล้วหรือไม่ว่า เงินที่มาในรูปแบบเช็คนั้น นายศุภชัยได้มาด้วยการยักยอก เป็นเงินที่ไม่สุจริต
เมื่อรู้แล้วจะคืนเงินนั้นแก่สหกรณ์หรือไม่ ?
หากต้องการคืน จะมีช่องทางใดคืนทรัพย์สินให้แก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ?
ฟังจาก ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งเดินหน้าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้บอกว่า น่าจะรับรู้แล้ว แต่อาจติดเงื่อนไขบางอย่างจึงยังไม่คืนเงิน ซึ่งตามความจริงแล้วน่าจะรีบคืน
เพราะเงินทั้งหมดนั้นเป็นเงินของประชาชน
ที่น่าสนใจก็คือ เช็คที่สั่งจ่ายไปนั้นออกจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น คนรับคงไม่เอะใจว่าสมาชิกสหกรณ์เขาจะยินยอมพร้อมใจ เพราะอาจได้รับบริจาคเงินมากมายอยู่แล้ว
แต่ก็นั่นแหละ เมื่อรู้แล้วก็ควรเร่งคืนเงินให้แก่สหกรณ์
ที่มา,http://www.komchadluek.net/
0 comments:
Post a Comment