
ข้ามฟ้ามาอุ้มรัก’ : คอลัมน์ เขยฝรั่ง..สะใภ้อินเตอร์ เรื่อง... กวินทรา ใจซื่อ เรียบเรียง... เสาวลักษ์ คงภัคพูน
ชีวิตในแต่ละวันของ "คณิตา (แนน) พนมสุข" สาวเมืองกรุง ไม่ต่างกับคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตไปกับการเรียน ทำงาน สนุกสนานกับเพื่อนและครอบครัว เวลาว่างดูหนัง ฟังเพลงและอ่านหนังสือ โดยเฉพาะนิยายรักที่เกี่ยวกับพรหมลิขิต แอบฝันหวานว่า สักวันจะได้เจอชายหนุ่มในฝันแบบในนิยาย แล้ววันหนึ่งความคิดสมัยวัยรุ่นก็กลายเป็นเรื่องจริง เธอได้พบชายในฝันขณะเรียนต่อปริญญาโท ได้พบกับ "ทิม โยฮันเซ่น" ฝรั่งผมทอง ตาสีฟ้า รูปร่างสูงเพรียว หนุ่มนอร์เวย์ เป็นชายในฝันที่เคยวาดไว้
การพบเจอกันด้วยความบังเอิญ เริ่มจาก คณิตารู้จักกับเพื่อนชื่อ ไมเคิล ชาวไอซ์แลนด์ ครูสอนภาษาอังกฤษที่เมืองไทย ด้วยความบังเอิญที่ป้ายรถเมล์ เขามาถามทาง ได้พูดคุยถูกคอ จึงมีการติดต่อกันตลอดมา และทั้งคู่ก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน
ขณะเดียวกัน ไมเคิลก็มีทิมเป็นเพื่อนสนิท ทุกปีทิมเดินทางมาเยี่ยมพ่อที่อาศัยในเมืองไทยมานานกว่า 10 ปี แต่เขาจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในต่างจังหวัด ไม่เคยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สักครั้ง วันนั้นทิมชวนเขามาร่วมงานวันเกิด ตอนแรกปฏิเสธ เพราะไม่ชอบงานสังสรรค์ แต่จู่ๆ เกิดเปลี่ยนใจกะทันหัน ทำให้ ทิม-คณิตา บังเอิญได้มาพบกัน โดยการแนะนำของเพื่อนสนิท จากนั้นพรหมลิขิตความรักของคณิตาและทิมก็เริ่มต้น
คณิตาเชื่อว่าความรักของเธอเหมือนพรหมลิขิตไว้แล้วว่าต้องมาเจอกับหนุ่มนอร์เวย์คนนี้ เพราะคนในโลกนี้กว่าพันล้านคนแต่ทั้งคู่ก็มาเจอกันได้ พ่อของทิมทำงานเป็นวิศวกรบนเรือ ต้องเดินทางรอบโลก พบเจอกับประเทศสวยงามมากมาย แต่พอเกษียณตัดสินใจมาอยู่เมืองไทย ทำให้ทิมแวะมาเยี่ยมพ่อเขาที่เมืองไทยหลายครั้ง
“ตั้งใจไปแป๊บเดียวแล้วขอตัวกลับ เพราะไม่รู้จักใครในงาน ช่วงจะขอตัวกลับอยู่ๆ มีฝรั่งผมทอง ตาฟ้า ตัวสูงเดินเข้ามาทักทาย ตอนแรกไม่อยากคุยด้วย แต่เขาเป็นคนที่ร่าเริง อัธยาศัยดี เขาก็จีบเราด้วยการพยายามพูดภาษาไทย ร้องเพลงไทยให้ฟัง แต่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เลยได้นั่งคุยกันทั้งคืนจนงานเลิก จากนั้นเราทั้งคู่ก็แยกย้ายกัน คุณทิมเดินทางไป จ.อุดรธานี กับพ่อของเขา ก่อนกลับนอร์เวย์เจอกันทุกวัน รู้สึกดีกับเขามาก”
สองปีแรกทิมเป็นฝ่ายเดินทางมาหาที่เมืองไทยปีละครั้ง ได้ใช้เวลาด้วยกันนาน 2-3 เดือน คบหาพร้อมกับเรียนรู้นิสัยใจคอ ถึงวันที่ขอแต่งงานช่วงนั้นอยู่นอร์เวย์ ทั้งคู่อยู่ในอพาร์ตเมนต์ ทิมมีท่าทีลุกลี้ลุกลนเข้ามานั่งใกล้ๆลูบหัว ลูบหลัง ยิ้มไม่หุบ
“ช่วงที่เป็นแฟนกันผมศึกษานิสัยใจคอเราคุยกันได้ทุกเรื่อง ชอบหาหัวข้อน่าสนใจมาถกกัน เห็นด้วยบ้าง เถียงกันบ้าง วันที่ขอแต่งงานผมถามว่าเราคบกันมาสองสามปีแล้ว คุณมีความสุขไหม คุณคณิตาเขาว่ามีความสุข ถามว่าอยากจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอดไปไหมแล้วก็หยิบกล่องแหวนขึ้นมาเปิดออกขอเขาแต่งงาน ตอนนั้นดีใจมากที่เขาตกลงแต่งงานด้วย”
หลังจากทั้งคู่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน คณิตาเพียงมาดูลาดเลาว่าจะมาใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศได้หรือไม่ ระยะแรกยังไม่สนใจภาษานอร์วีเจียน เพราะใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ดี เมื่อตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตอยู่กับสามีที่นอร์เวย์ คณิตาเริ่มจากวางแผนเรียนภาษานอร์วีเจียน ภาษาที่เรียนยาก หลักไวยากรณ์คล้ายภาษาเยอรมัน มีการผันเพศ ผันตามกาลเวลา และคำในประโยคสลับที่กันได้
ช่วงปีแรกที่มาอยู่ เป็นช่วงที่วัดความอดทน เพราะต้องอยู่ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม สภาพอากาศที่หนาวเย็นยาวนาน 8-9 เดือน ยิ่งทำให้รู้สึกเหงา เศร้าสร้อย และท้อถอยและการใช้ชีวิตปัญหาเรื่องภาษา ความคิดและวัฒนธรรมที่ต่างกัน บ่อยครั้งสื่อสารกันไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้เข้าใจผิดกันไปคนละเรื่อง จนทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยครั้งเป็นช่วงเวลาที่ต้องอดทนและกดดันที่สุด ถึงแม้พื้นฐานความรักของทั้งสองคนมีแนวการใช้ชีวิต มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน แต่ความกดดันจากนอกบ้าน และไม่ต้องการอยู่เฉยๆ อยากจะมีอาชีพ ทำงานมีรายได้เพื่อใช้จ่ายส่วนตัว จึงเป็นแรงกดดันที่ทำให้คณิตาเกือบตัดสินใจเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทย
“เรามาจับเข่าคุย สามีบอกว่า หากไม่ไหวจะกลับบ้านเมืองไทยเขาไม่ว่า ตอนนั้นครอบครัวของดิฉันและพ่อแม่ของสามีเป็นกำลังใจให้ ทำให้มีกำลังใจลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ตั้งใจเรียนภาษานอร์วีเจียนอย่างเต็มขั้น จนเรียนจบหลักสูตร 4 ระดับได้ภายใน 8 เดือน จากที่ปกติตามกฎหมายของที่นี่จะให้เวลาเรียนได้ถึง 3 ปี ปัจจุบันนี้เรียนต่อสาขาการบริหารจัดการงานสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล พร้อมกับทำงานเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ ทั้งทำความสะอาดออฟฟิศ งานบริการในโรงอาหาร พี่เลี้ยงเด็กอนุบาล งานเสิร์ฟตามร้านอาหาร เป็นล่ามภาษาไทย-นอร์วีเจียนให้บริษัทนอร์วีเจียนที่ให้บริการด้านการแปลภาษาทั่วประเทศ เวลาว่างจากที่เคยหมกมุ่นอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ก็ปรับมาทำให้เกิดประโยชน์โดยการชักชวนคนไทยที่อยากเรียนรู้แกรมม่าภาษานอร์วีเจียน มาเรียนด้วยกัน ที่สำคัญคือ รื้อฟื้นทักษะด้านการเขียน จนมีผลงานตีพิมพ์อีกครั้ง พร้อมเปิดเว็บเพจส่วนตัวใช้นามปากกาว่า “แบนศรี ณ นอร์เวย์” เขียนเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตในต่างแดน มีทั้งเรื่องสนุกสนานเฮฮา เศร้าซึ้งกินใจ และสาระในประเทศนอร์เวย์ รวมทั้งเขียนนิยายรักเรื่องข้ามฟ้ามาอุ้มรัก สมมุติตัวเองและทิมเป็นนางเอกพระเอกของเรื่องการพบเจอกันด้วยความบังเอิญ”
การได้มีโอกาสทำงานเป็นล่ามอาสาสมัครให้โครงการช่วยเหลือคนไทยในนอร์เวย์ จึงเห็นความลำบากของคนไทยที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงไทยที่ต้องการความช่วยเหลือ ทั้งที่ยังมีสามีและหย่าร้าง เมื่อต้องกระเสือกกระสน ชีวิตต่างแดนยากลำบาก ทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด ผู้หญิงไทยที่จะมาใช้ชีวิตต้องเตรียมตัวให้พร้อมใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งพาตัวเอง
“การใช้ชีวิตต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องพึ่งตัวเอง ต้องทำงานเพื่อลดความตึงเครียด ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า มีเงินใช้จ่ายส่วนตัวโดยไม่ต้องร้องขอตลอดเวลา และยังช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่างๆ ในครอบครัว ไม่ให้คนใกล้ตัวต้องเหนื่อยเกินไป มีเงินเก็บไว้ในอนาคต เพราะชีวิตคนเราไม่แน่นอน หากวันหนึ่งเราต้องอยู่คนเดียวขึ้นมาในต่างแดน เราจะเอาตัวรอดอย่างไร หากต้องพึ่งคนข้างตัวตลอดเวลา”
หลายคนอาจจะเคยมีภาพวาดว่า การมีคนรักหรือแต่งงานกับชาวต่างชาตินั้น จะทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะเขาร่ำรวย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฝรั่งก็เป็นมนุษย์เดินดินธรรมดา ที่ต้องทำงานหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพียงแต่เมื่อเขาเดินทางมาประเทศเรา ค่าเงินของเขาจะสูงกว่าค่าเงินของเรา การจับจ่ายใช้สอยก็จะเป็นไปอย่างคล่องมือ แตกต่างจากตอนที่พวกเขาอยู่ประเทศของตนเองที่จะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ หาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงทอง ไม่ได้ต่างอะไรจากคนไทยเลย
“ตอนนี้ชีวิตมีความสุข อาจจะมีทุกข์บ้าง เหนื่อยกายเหนื่อยใจตามอัตภาพ เราสองคนก็ยังคงสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ครอบครัว ยังใช้เวลาเรียนรู้กัน รักและให้อภัยกัน หวังว่าอนาคตเมื่อแก่ตัว พวกเราจะเดินทางกลับไปอยู่เมืองไทย มีชีวิตที่เรียบง่ายด้วยกัน”
ที่มา,www.komchadluek
0 comments:
Post a Comment