นายพีระ ลักษณา ภิรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การออกอากาศ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่และซีเจ โอ ช้อปปิ้ง ประเทศเกาหลี ดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง “โอ ช้อปปิ้ง” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ประเทศไทยมีโอกาสและศักยภาพในด้านการลงทุนธุรกิจโฮมช็อปปิ้งมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่
1. รายได้ต่อประชากรสูง และตลาดมีขนาดใหญ่มาก
2. มีระบบโลจิสติกส์ที่ดี
3. ระบบการส่งสัญญาณโทรทัศน์ ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น และยุโรปให้ความสนใจที่จะเข้ามาทำตลาดเพิ่มจากปัจจุบันที่มีกลุ่มทุนต่างๆ เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้ว 6 ราย ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และยุโรป
“เท่าที่ได้ข้อมูลมาพบว่ามีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านโฮมช็อปปิ้ง จากประเทศญี่ปุ่นและยุโรปสนใจเข้ามาศึกษาตลาดของไทยเพิ่มขึ้น เพื่อหาลู่ทางลงทุนธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง เพราะหากเปรียบเทียบประเทศไทยและเพื่อนบ้านในอาเซียน มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่มีศักยภาพและโอกาสทางการตลาดมากที่สุด แม้ว่าบางประเทศอาจจะมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย อย่างเวียดนามหรืออินโดนีเซีย แต่พบว่ามีข้อจำกัดในบางเรื่อง อย่างอินโดนีเซียประเทศเป็นเกาะจำนวนมาก จะลำบากในเรื่องของระบบโลจิสติกส์ หรือเวียดนามแม้มีขนาดตลาดใหญ่ แต่รายได้ต่อหัวก็ยังถือว่าตํ่ากว่าไทย หรือแม้แต่สิงคโปร์ที่รายได้ต่อหัวสูงมาก แต่ขนาดตลาดเล็กนิดเดียว เมียนมาเองเศรษฐกิจกำลังเติบโตขนาดตลาดใหญ่ แต่การเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์ก็ยังอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลที่คุมเข้ม”
สำหรับกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้งล่าสุด คือ กลุ่มทุนฮุนได หรือบริษัท ฮุนได โฮมช็อปปิ้ง เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากประเทศเกาหลี ที่ร่วมทุนกับบริษัท อินทัช มีเดีย จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท จัดตั้งบริษัท ไฮ ช้อปปิ้ง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง ชื่อ “ไฮ ช้อปปิ้ง” ในปีนี้ ส่วนกลุ่มทุนที่ยังไม่เข้ามาดำเนินธุรกิจส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเพิ่งเข้ามาศึกษาตลาด และอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรคนไทยเพื่อร่วมทุนเพราะการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จะต้องใช้ใบอนุญาตในการเผยแพร่กระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ
นายพีระกล่าวอีกว่าในปีที่ผ่านมาธุรกิจโฮมช็อปปิ้งมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.2% ของมูลค่าค้าปลีกประเทศ ไทยที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท ส่วนในปีนี้คาดว่ามูลค่าตลาดน่าจะเติบโตเป็น 8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.26% ของมูลค่าค้าปลีก หากธุรกิจโฮมช็อปปิ้งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ คาดว่าภายในระยะไม่เกิน 5 ปี มูลค่าตลาดจะขยายตัวได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1% ของมูลค่าค้าปลีกในประเทศเท่านั้น หากจะมีผู้ประกอบการเข้ามาทำตลาดเพิ่มอีก 4-5 ราย ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา เพราะตลาดมีขนาดใหญ่ที่มีโอกาสและศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก
“ส่วนแนวทางการทำตลาดให้ประสบความสำเร็จในธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง ผู้ประกอบการคงต้องมีเอกลักษณ์ของตนเอง มีสินค้าที่มีความแตกต่าง สร้างจุดแข็งของตนเอง สำหรับโอ ช้อปปิ้ง สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ จะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สินค้า การบริการ ที่ส่งฟรีทั่วประเทศและรับของก่อนชำระเงิน การออกอากาศ ส่วนกลยุทธ์ปีนี้ในด้านสินค้าจะหาสินค้าที่แตกต่าง โฟกัสสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโต ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแฟชั่น สินค้าอี-คอมเมิร์ซ สินค้าไลฟ์สไตล์ และเพิ่มจำนวนสินค้าให้มากขึ้นเป็น 1 พันรายการจากก่อนหน้ามี 600 รายการ รวมถึงปีนี้บริษัทได้ปรับการสื่อสารแบรนด์เป็น โอ ช้อปปิ้ง เพื่อนบ้านที่คุณไว้ใจ เพื่อสร้างการรับรู้ให้เพิ่มมากขึ้น”
นายทรงพล ชัญมาตรกิจ นายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโฮมช็อปปิ้งในประเทศไทย ที่เข้าร่วมกับสมาคมถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจค้าปลีกเพียง 8 พันล้านบาท ในปีนี้ ขณะที่มูลค่าค้าปลีกมีกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งคนไทยที่เคยซื้อสินค้าทางโทรทัศน์เพียง 13% ของประชากรที่มีรายได้จำนวน 45 ล้านคน หรือประมาณ 6 ล้านคนเท่านั้น ถือว่าตลาดโฮมช็อปปิ้งมีโอกาสขยายตัวอีกมากซึ่งแต่ละบริษัทก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไปโดยอาจจะแข่งขันกันเองบ้างแต่ที่สำคัญคือการเข้าไปดึงส่วนแบ่งการตลาดจากธุรกิจค้าปลีกเป็นหลัก
“สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ คือจะต้องรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มลูกค้าใหม่ ซึ่งธุรกิจโฮมช็อปปิ้งจะต้องทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อซํ้า ซึ่งบริษัทจะต้องพัฒนาระบบงานทั้งหมดมารองรับ โดยคาดว่าบริษัทในสมาคมทั้งหมดมีการลงทุนทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ไปแล้วไม่ตํ่ากว่า 1.7 พันล้านบาท สำหรับการดูแลลูกค้า ทั้งหมด ขณะที่มูลค่าทุนจดทะเบียนของบริษัทรวมกันมีถึง 2.66 พันล้านบาท”
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ทีวีไดเร็คได้ร่วมกับบริษัทโมโมดอทคอมอินคอร์ปอเรชั่นประเทศไต้หวันตั้งบริษัททีวีดีช้อปปิ้งจำกัดดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้งช่อง “ทีวีดีช้อป” ด้วย
ส่วนนายไพบูลย์ ผู้พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู จีเอส จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างเดอะ มอลล์ กรุ๊ป บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) และจีเอส ช้อป ประเทศเกาหลี ดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้งช่อง “ทรู ซีเล็คท์” กล่าวว่า จุดเด่นของสินค้าที่บริษัทนำมาทำตลาด คือสินค้าที่ใช้ในบ้าน สินค้าอุปโภคบริโภค ที่หาซื้อไม่ได้ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยมีสินค้าจำหน่ายกว่า 600 รายการ ซึ่งปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีผลประกอบการเติบโต 10% หรือมียอดขายกว่า 1.2 พันล้านบาท
ด้านนายณรงค์ เชาวราษฎร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์ และซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินธุรกิจโฮมช็อปปิ้งช่อง “ช้อป ชาแนล” กล่าวว่า ความแตกต่างของบริษัทกับช่องโฮมช็อปปิ้งอื่นๆ คือการนำสินค้าที่ขายดีจากประเทศญี่ปุ่นมาขายในประเทศไทย ไม่ตํ่ากว่า 3-5 พันรายการ ซึ่งสินค้าที่บริษัทนำเข้ามาจากญี่ปุ่นมีสัดส่วน 70% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้า กระเป๋า และ อัญมณี แต่ละสัปดาห์จะมีสินค้าใหม่เข้ามาประมาณ 30 รายการ
“จุดเด่นของช่องช้อปชาแนล คือ สินค้า โดยเฉพาะอัญมณี ที่ถือว่าขายดีที่สุดจากประเทศญี่ปุ่น เพราะใช้วัตถุดิบที่ดีทั้งจากสเปน อิตาลี และไทย มีระดับราคาตั้งแต่ 3 พัน-1.5 แสนบาท โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าซื้อสินค้ากลุ่มนี้ 200-300 ราย เฉลี่ยยอดซื้อต่อบิลประมาณ 1 แสนบาท สิ่งที่ทำให้สินค้าขายดีเป็นเพราะการนำเสนอสินค้าให้เห็นในรายละเอียด และคุณภาพของสินค้า เพราะการซื้อเครื่องประดับบางครั้งการไปซื้อที่ร้าน ลูกค้าเกิดความเกรงใจไม่กล้าดู ไม่กล้าถาม หรือต่อราคา แต่เมื่อเห็นการนำเสนอและราคาทำให้ตัดสินใจได้ง่าย”
ทั้งนี้เพื่อรองรับการเติบโตของบริษัทในอนาคตปีหน้าเตรียมเงินลงทุนอีก 40 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสตูดิโอถ่ายทำรายการ ซึ่งเป้าหมายบริษัทจะถ่ายทอดสดรายการโฮมช็อปปิ้งตลอด 24 ชั่วโมง จากปัจจุบันที่ถ่ายทอดสดวันละ 10 ชั่วโมง และมีเพียงสตูดิโอเดียว และการเพิ่มสตูดิโอปีหน้าในเบื้องต้นจะขยายเวลาถึง 18 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันถือว่าบริษัทเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่มีรายการถ่ายทอดสดมากที่สุด
ที่มา,http://www.thansettakij.com/ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2015
0 comments:
Post a Comment