Sunday, August 30, 2015

Tagged Under:

ใช้เสียงสมาชิกพรรคคว่ำร่างรธน.ผ่านผลประชามติ

By: news media On: 6:23 PM
  • Share The Gag

  • ใช้เสียงสมาชิกพรรคคว่ำร่างรธน.ผ่านผลประชามติ : ขยายปมร้อนสำนักข่าวเนชั่น โดย ประพันธ์ จินดาเลิศอุดมดี
               ข้อถกเถียงที่กำลังฮือฮาที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้นร่างรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า มีข้อบกพร่องและขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว แต่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกลับยืนกระต่ายขาเดียวว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด

               รวมถึงการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การทำหน้าที่ของ คปป.ซ้ำซ้อนกับการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

               กลายเป็นว่ารัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาเองนั้น ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของคปป. และต้องทำตามข้อเสนอของ คปป.ด้วยกฎเหล็กใช้เสียง 3 ใน 4 บีบให้รัฐบาลต้องทำตาม

               เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนออกมาแบบนี้ ย่อมแสดงว่า ความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทยกำลังจะกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน เพราะ คสช.ยังมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติผ่านนอมินีที่เรียกว่า ส.ว.แต่งตั้งชุดใหม่

               ขณะที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ก็เข้ามาควบคุมทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

               เรียกว่า ครม.ทั้งคณะถูกควบคุมโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ อีกที ดังนั้นอำนาจของแต่ละฝ่ายที่ทับซ้อนกันนั้น ย่อมต้องฟาดฟันกันจนเละตุ้มเป๊ะเป็นธรรมดา

               เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ทำท่าว่าจะถูกผลักดันให้ออกมามีผลบังคับใช้จริง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยย่อมต้องหาวิธีการเพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลงให้ได้

               ทุกสายตาจึงโฟกัสไปที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย เพราะเกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่ 2 พรรคคนละขั้วนี้กลับเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีรัฐธรรมนูญมา

               ฟากพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า ให้ความร่วมมือกับ คสช.และรัฐบาลมาโดยตลอด ในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

               แต่เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการออกมา แล้วพรรคเพื่อไทยเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ก็รีบทำความเห็นเป็นข้อวิพากษ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เห็นถึงจุดยืนของพรรค

               โดยหวังว่า การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 6 กันยายน เพื่อลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น สปช.จะรับข้อคิดเห็นและข้อวิพากษ์ของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นห่วงว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศได้อย่างไรไว้พิจารณาด้วย

               แต่เมื่อข้อเสนอแนะและความเห็นของพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนจะถูกเพิกเฉยจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ท่าทีและความเคลื่อนไหวพร้อมคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจึงเริ่มชัดเจนขึ้น

               นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ดูจะพูดได้เห็นภาพชัดมากที่สุดว่า “หาก สปช.ลงมติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยก็พร้อมจะรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เชื่อว่าหากประชาชนรับรู้จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญนี้จะไม่รับร่างฯ แน่นอน เพราะขณะนี้ทุกพรรคการเมืองก็ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากประชาชนเห็นด้วยกับการทำประชามติ ก็พร้อมที่จะยอมรับเสียงของประชาชน”

               ตบท้ายแบบแกมขู่ด้วยว่า พรรคเพื่อไทยจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือบอยคอตการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ขอรอดูและตัดสินใจต่อสถานการณ์ไปทีละขั้นตอนก่อน

               ขณะที่ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญกว่า 10 ล้านเล่ม แจกจ่ายให้ประชาชนได้ศึกษา ก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้เราได้ทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย

               ยืนยันว่าจะไม่มีการปลุกระดมหรือไปทำความวุ่นวายใดๆ ให้บ้านเมืองอย่างแน่นอน เพียงแต่จะสื่อสารกับประชาชนว่า ร่างรัฐธรรมนูญนั้นหากมีผลบังคับใช้จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง”

               ในวันที่ 6 กันยายน จึงถือเป็นดุลพินิจแรกโดย สปช.ว่าจะมีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ถ้าเห็นชอบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของประชาชนที่จะต้องไปลงประชามติ

               ห้วงเวลานี้เอง พรรคเพื่อไทยคงจะดูว่า กฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ นั้น มีช่องทางใดบ้างที่จะสามารถสื่อสารเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนได้ และสามารถที่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

               จับสัญญาณดูแล้วเชื่อว่า วันนี้พรรคเพื่อไทยพูดคุยกันบ้างแล้วว่า จะมีช่องทางอย่างไรที่จะสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ได้บ้าง เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคงปิดกั้นไม่ได้ เพราะขนาด 2 พรรคการเมืองใหญ่ก็ยังเห็นตรงกันในขณะนี้

               ที่แน่ๆ วิธีการหนึ่งที่จะถูกงัดออกมาใช้คือ การสื่อสารกับชาวบ้านผ่านหัวคะแนนต่างๆ ของตัวเอง เนื่องจากพรรคและอดีตส.ส.ของพรรค หากเคลื่อนไหวครึกโครมก็เสี่ยงที่จะถูกจับตาเปล่าๆ

               อย่าลืมว่า พรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งนั้น มีสมาชิกพรรคอยู่ในมือไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ขณะที่อดีต ส.ส.เองก็มีทีมงานที่คอยลงไปให้ความรู้ประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนอยู่แล้ว

               เมื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญในชั้น สปช.ไม่ได้ การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญผ่านเสียงประชามติ จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

               เพียงแต่เวลานี้ยังเป็นขั้นตอนของการพยายามสื่อสารก่อนว่า ค่อยๆ ทำ คิดให้ดี อย่าใช้อารมณ์จนกลายเป็นตราบาปไปชั่วชีวิต เพราะอะไรที่ยิ่งกด ก็จะยิ่งมีแรงดัน

               อย่าทำให้ท้ายที่สุดแล้ว การปฏิรูปต้องกลายเป็นเพียงแค่ข้ออ้างของการสืบทอดอำนาจ

    ที่มา,komchadluek.net

    0 comments:

    Post a Comment