Sunday, August 30, 2015

Tagged Under:

"โดมิโน" วิกฤตจีน ระส่ำทั่วโลก-ยักษ์น้ำมันอ่วม

By: news media On: 3:31 AM
  • Share The Gag

  • ปัญหาเศรษฐกิจในจีนส่งแรงสะเทือนไปยังทุกภาคส่วนของโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันทำให้ประเทศที่พึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกปิโตรเลียมระส่ำระสายกันไปหมด พร้อมกับคำถามว่าทำไมแดนมังกรที่เคยเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงกลายร่างเป็นตัวจักรสร้างความปั่นป่วนในเวลาอันรวดเร็ว
    ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์คาดว่า ช่วงกลางปี 2558 ราคาน้ำมันน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มกลับมามีเสถียรภาพหลังจากดิ่งลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มิถุนายนปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนว่ายังอีกไกลกว่าราคาจะถึงก้นเหว โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาซื้อขายในสหรัฐหลุด 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกรอบ 6 ปี
    แน่นอนว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีนไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กดดันราคาน้ำมัน ปริมาณซัพพลายที่พุ่งสูงจากผู้ผลิตเชลออยล์ ในสหรัฐมีส่วนไม่น้อย แต่ในขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัจจัยด้านดีมานด์ที่ลดลงมีอิทธิพลมากกว่าฝั่งซัพพลาย เพราะจีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่สุดของโลก
    ผู้ส่งออกน้ำมันในหลายภูมิภาคทั่วโลกตั้งแต่รัสเซียไนจีเรียไปจนถึงเวเนซุเอลา ต่างประสบปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลังเพราะเงินขาดมือ แม้แต่เศรษฐีแห่งตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย ยังต้องอาศัยเงินในทุนสำรองระหว่างประเทศมาประคองตัว
    ปูตินกุมขมับ
    ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ1 ปีเทียบกับดอลลาร์ หลังเหตุการณ์ "Black Monday" ในตลาดหุ้นจีน และขณะนี้มีมูลค่าเพียงครึ่งของช่วงเดียวกันในปี 2557 ราคาน้ำมันที่ดิ่งลึกบวกกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากตะวันตก ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล และยังสั่นสะเทือนบัลลังก์ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ด้วย
    "ปูตินคงไม่เต็มใจจะตัดผลประโยชน์ของผู้กินบำนาญ 45 ล้านคนในประเทศซึ่งเป็นฐานเสียงที่สำคัญ ด้วยการปรับลดรายจ่ายภาครัฐ" นายอเล็กซานเดอร์ คลิเมนต์ จากบริษัทที่ปรึกษายูเรเซีย กรุ๊ปให้ความเห็นนิตยสารฟอรีน โพลิซี ตั้งข้อสังเกตว่า ปีที่แล้วรัสเซียหันมาสนิทสนมกับเอเชียโดยเฉพาะจีน นอกจากแตกหักกับประเทศตะวันตกเรื่องเขตปกครองตนเองไครเมียแล้ว ยังมีสาเหตุจากนายปูตินมั่นใจว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะพุ่งขึ้นไม่หยุด ถือเป็นตลาดเปี่ยมศักยภาพสำหรับรัสเซียที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นสินค้าส่งออกหลัก แต่ราคาน้ำมันที่เป็นขาลงทำให้ "เมกะดีล" ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียกับจีนหลายฉบับต้องระงับหรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
    เวเนซุเอลาระส่ำ
    สถานการณ์ในเวเนซุเอลาเลวร้ายยิ่งกว่ารัสเซียหลายเท่าเพราะก่อนที่เจอมรสุมราคาน้ำมัน เศรษฐกิจประเทศดังกล่าวเจอพายุมาหลายลูกแล้ว ทั้งการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค รัฐบาลไร้เสถียรภาพ ขณะนี้มีความเสี่ยงสูงที่เวเนซุเอลาจะผิดนัดชำระหนี้และสังคมล่มสลาย
    เวเนซุเอลามีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก แต่กลับมีกำลังการผลิตเป็นรองซาอุฯเพราะขาดแคลนเทคโนโลยี เนื่องจากรัฐบาลยึดกิจการพลังงานจากเอกชนต่างประเทศมาเป็นของรัฐ ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นน้ำมันชนิดข้นเหนียว (Heavy Oil) ซึ่งมีต้นทุนในการกลั่นสูง
    ประเทศดังกล่าวใช้งบประมาณขาดดุล 10% ของจีดีพีมากตั้งแต่ปี 2553 ส่วนปีนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าตัวเลขขาดดุลอาจพุ่งสูงถึง 20% และเศรษฐกิจหดตัว 7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยานสูงกว่า 1,000% หรือราคาสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในปีเดียว
    ซาอุฯก็ไม่เว้น
    พฤศจิกายนปีที่แล้วซาอุฯหัวเรือใหญ่ของโอเปก หรือกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก ยืนกรานไม่ลดกำลังการผลิตน้ำมันของทั้งกลุ่ม แม้ราคาจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการบีบให้ผู้ผลิตเชลออยล์ในสหรัฐที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าสมาชิกโอเปกส่วนใหญ่ ออกจากตลาดไป อีกทั้งซาอุฯยังเชื่อมั่นว่าตนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะมีสายป่านยาว และราคาน้ำมันจะดีดกลับมาในไม่ช้าหลังผู้ผลิตเชลออยล์ม้วนเสื่อกลับบ้าน แต่เห็นได้ชัดว่าซาอุฯคาดการณ์ผิด
    แม้บริษัทเชลออยล์จะปิดกิจการไปบางส่วน แต่กำลังการผลิตโดยรวมไม่ได้ลดลงมากนัก บวกกับดีมานด์ที่แผ่วจากปัญหาเศรษฐกิจจีนทำให้ราคายังเป็นขาลง
    ไอเอ็มเอฟประเมินว่า ปีนี้ซาอุฯจะขาดดุลงบประมาณราว 14% ของจีดีพี ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลงรวมถึงภาวะการคลังที่ไม่มั่นคงทำให้เสี่ยงที่ถูกหั่นอันดับเครดิต บลูมเบิร์กระบุว่า ซาอุฯจำเป็นต้องตัดงบฯราว 10% เพื่อรับมือปัญหารายได้ภาครัฐหด
    ป่วนทั่วโลก
    ส่วนไนจีเรียที่เจอศึก 2 ด้าน ทั้งจากกลุ่มก่อการร้ายโบโกฮาราม และการรูดลงของราคาน้ำมัน อาจจำเป็นต้องลดค่าเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นการส่งออก แต่อาจส่งผลข้างเคียงให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศพุ่งกระฉูด เพิ่มต้นทุนค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งอาจเขย่าเก้าอี้ผู้นำประเทศได้
    อิรักตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างจากไนจีเรีย รายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลง ทำให้ขาดงบประมาณในการฟื้นฟูประเทศ และสู้รบกับกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม การลดลงของราคาน้ำมันยังทำให้เศรษฐกิจเม็กซิโกเติบโตในอัตราต่ำลง
    ผู้ผลิตทรายน้ำมันในแคนาดาต้องระงับโครงการและลอยแพพนักงานส่วนนอร์เวย์ประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่เว้นแม้แต่อังกฤษที่ต้องปลดคนงานหลายพันคนที่แท่นแหล่งขุดเจาะน้ำมันในทะเลเหนือ
    รัฐบาลจีนพยายามเต็มที่ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหากสำเร็จน่าจะช่วยให้ดีมานด์น้ำมันในตลาดโลกขยับขึ้น แต่บางมาตรการ เช่น การลดค่าเงินหยวนกลับส่งผลให้ราคาน้ำมันนำเข้าในจีนสูงขึ้น กดดันให้ดีมานด์ลดต่ำลงอีก
    ศึกเศรษฐกิจรอบนี้คงต้องยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เพราะแทบทุกประเทศอยู่ในภาวะลำบากไม่ต่างกัน

    ที่มา,http://www.prachachat.net/

    0 comments:

    Post a Comment