“สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ทนแรงเสียดทานไม่ไหว ประกาศทางอินสตาแกรมเลิกจ้อหน้าจอช่อง 3 ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.เป็นต้นไป พร้อมขอบคุณแฟนคลับและผู้สนับสนุน ส่วนความเคลื่อนไหวก่อนพิธีกรชื่อดังตัดสินใจถอย ลูกค้าโฆษณารายใหญ่ เริ่มแห่ถอนการสนับสนุนอีก ทั้งบริษัทประกันฯ และโทรศัพท์มือถือ ส่วนวงเสวนาของสมาคมนักข่าวฯ วิทยากรหลายฝ่ายสับเละถามถึงจริยธรรม หนุนกดดันไม่ดูช่อง 3 ทุกรายการ กรรมการ กสทช.ประกาศเรียกผู้บริหารช่อง 3 สอบถามข้อเท็จจริง พร้อมเชิญผู้บริหารฟรีทีวี 26 ช่องหารือ กำหนดแนวบทลงโทษให้เป็นมาตรฐานกลางในอนาคต ด้าน “บิ๊กตู่” ไม่ห้าม ขรก. ออกรายการสรยุทธ แต่หวั่นประชาชนเข้าใจรัฐบาลผิด ส่วนวิป สปท.ดึงญัตติด่วน ปัญหามาตรฐานทางจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนเข้าพิจารณาด้วย
กรณีศาลอาญาตัดสินจำคุกนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรรายการข่าวชื่อดัง ฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทไร่ส้ม จำกัด เป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน คดีทุจริตค่าโฆษณาบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กว่า 138 ล้านบาท แต่พิธีกรชื่อดังยังคงจัดรายการข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ และเจาะข่าวเด่น ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อยู่ต่อไป จนกลายเป็นกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม จนสมาคมสื่อวิทยุโทรทัศน์หลายสำนักออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายสรยุทธหยุดจัดรายการไปก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด นอกจากนี้ บริษัทห้างร้านและหน่วยงานต่างๆที่ซื้อโฆษณาในรายการอยู่ เริ่มทยอยประกาศถอนโฆษณาออกจากรายการ
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 3 มี.ค. นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้ประกาศในอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “ตั้งแต่เย็นนี้ผมขอยุติการทำหน้าที่พิธีกร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่อง 3 เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ขอบคุณครอบครัวช่อง 3 ขอบคุณแฟนข่าว ขอบคุณทุกกำลังใจ จนกว่าเราจะพบกันใหม่ครับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา 3 มีนาคม 2559” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาผ่านไปแค่ไม่ถึง 1 ชั่วโมง ก็มีคนเข้าไปกดไลค์กว่า 1 หมื่นคน และมีกว่า 2 พันคอมเมนต์ ส่วนใหญ่จะเข้าไปเขียนให้กำลังใจนายสรยุทธ นอกจากนี้ นายกนก รัตน์วงศ์สกุล นักเล่าข่าวอดีตเพื่อนรักได้แคปชั่นเอาข้อความในอินสตาแกรมของนายสรยุทธมาโพสต์ในอินสตาแกรมของตัวเองด้วย เหมือนเป็นการช่วยเผยแพร่ข่าวสารอีกทางหนึ่ง ซึ่งมีคนเข้าไปกดไลค์และเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมากเช่นกัน
ส่วนความเคลื่อนไหวก่อนที่นายสรยุทธจะประกาศยุติการทำหน้าที่พิธีกร ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา “สื่อตรวจสอบสังคม สังคมตรวจสอบสื่อ ความท้าทายบนเส้นทางจริยธรรม” วิทยากรประกอบด้วย นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย น.ส.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้อำนวยการสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. และนายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ อสมท ถึงกรณีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดังถูกศาลสั่งจำคุกคดีทุจริตค่าโฆษณา 138 ล้านบาท และสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด
นายเทพชัย หย่อง กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่มีเรื่องความรับผิดชอบบนพื้นฐานจริยธรรมสื่อ ในสถานการณ์ที่คาดหวังให้มีการปฏิรูปสื่อ แต่กรณีนายสรยุทธเลยขั้นของจริยธรรมไปแล้ว แต่ผู้บริหารช่อง 3 กำลังบอกสังคมว่า ถ้าคุณคิดว่าเราไม่ดี ไม่มีจริยธรรมก็ไม่ต้องดูเรา และไม่มีการดำเนินการใดกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะเป็นเรื่องธุรกิจ มองว่านายสรยุทธยังเป็นตัวดึงความนิยมหรือโฆษณา เป็นความคิดที่ผิด ดังนั้น เป้าใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่นายสรยุทธเพราะปลายเหตุแล้ว แต่อยู่ที่ผู้บริหารช่อง 3 จะดำเนินการต่ออย่างไร เพราะทำให้องค์กรสื่อตกเป็นเป้าถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย ไม่แฟร์กับคนทำสื่อคนอื่นต้องมาตอบสังคมทั้งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ขณะที่ผู้ก่อกลับนั่งอ่านข่าวเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สังคมควรจะออกมาช่วยกันกดดันทั้งผู้บริหารช่อง 3 และตัวนายสรยุทธ ให้ยอมรับผิดในความเป็นจริยธรรมสื่อ
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า กรณีนายสรยุทธถือว่าเป็นความผิดของบุคคล กสทช.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ ทางกฎหมายต้องให้สื่อควบคุมดูแลกันเอง แต่วันที่ 7 มี.ค. ตนจะเรียกผู้บริหารช่อง 3 มาสอบถามถึงข้อเท็จจริง เพราะเข้าใจว่าบทลงโทษของแต่ละสำนักข่าวต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ จะเชิญผู้บริหารสถานี โทรทัศน์ฟรีทีวี 26 ช่อง มาหารือถึงกรณีของนายสรยุทธและช่อง 3 มีความผิดอย่างไรบ้าง จะให้ผู้บริหารฟรีทีวีเหล่านี้ กำหนดแนวบทลงโทษให้เป็นมาตรฐานกลางในอนาคต หากเกิดกรณีแบบนี้อีกในวันที่ 11 มี.ค.นี้
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นบทเรียนใหม่ และเป็นการพิสูจน์ถึงจริยธรรมการดูแลกันอย่างไร เป็นเรื่องความถูกต้องเหมาะสมของการทำหน้าที่สื่อ ไม่ใช่เรื่องของความสามารถที่ได้รับการยกเว้น คดียังไม่ถึงที่สุดก็จริง แต่ด้านจริยธรรมของวิชาชีพจะยกเว้นไม่ได้ ในกลุ่มความผิดของนักการเมืองเมื่อมีมูลความผิดการทุจริตคอร์รัปชันต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที หรือบางประเทศต้องยอมลาออก รวมถึงฆ่าตัวตาย เพราะทำให้เสื่อมเสียวงศ์ตระกูลการทำหน้าที่สื่อ หากทำผิดมีหลักฐานหนักแน่นต้องยอมรับ เพราะอาจทำให้เสื่อมเสียถึงความเชื่อมั่นวงการสื่อสารมวลชน สิ่งสำคัญเด็กเยาวชนจะเกิดสับสนความผิดชั่วดี ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ หากไม่ทำอะไร สังคมต้องช่วยกันสกัดกั้น
นางสุวรรณา จิตประภัสสร์ กล่าวว่า เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ประชุมระดับเครือข่ายทั่วประเทศ มีมติความเห็นร่วมกันต่อต้านไม่ยอมรับชมรายงานทุกรายการของช่อง 3 จนกว่าผู้บริหารช่อง 3 จะออกมาดำเนินการใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเรียกร้องให้ทุกคนกดดันบุคคลที่ให้การสนับสนุนเพื่อให้ถอนโฆษณาออก ส่วน น.ส.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ กล่าวว่า สังคมยอมรับเรื่องความเป็นสื่อไม่ยึดจริยธรรมไม่ได้ สังเกตในโลกออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านอย่างกว้างขวาง เรื่องนี้ทุกองค์กรต้องช่วยกัน โดยเฉพาะบริษัทโฆษณาให้หยุดการสนับสนุนช่อง 3 เพื่อให้สื่อใหญ่ยอมรับเรื่องจริยธรรมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสังคมไทยต้องการคนเล่าข่าวที่มีคุณภาพ ไม่ใช่นักเล่าข่าวที่ไร้จิตสำนึก
ขณะที่นายสุวิทย์ มิ่งมล กล่าวว่า ตนยอมรับว่าในองค์กร อสมท ยังมีบุคคลที่มีหลักฐานการทุจริตเรื่องนี้อีกมาก แต่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย ดังนั้นในฐานะประธานสหภาพแรงงานฯ อสมท จะดำเนินการหาหลักฐานเหล่านี้ และเรียกร้องให้องค์กรสื่อต่างๆตั้งสหภาพแรงงานฯ เพื่อตรวจสอบการคอร์รัปชันในบ้านตัวเอง และการดูแลควบคุมคนในองค์กรเดียวกันให้อยู่บนพื้นฐานจริยธรรม
ส่วนผลกระทบด้านโฆษณา นางพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเมืองไทย–ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เผยว่า เมืองไทย–ประกันชีวิตเริ่มถอนตัวจากการเป็นผู้สนับสนุนโฆษณารายการเรื่องเล่าเช้านี้ และเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ที่มีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.59 เป็นต้นไป เนื่องจากบริษัทเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จึงต้องการร่วมแสดงจุดยืนกับองค์กร ประกอบกับบริษัทมีนโยบายให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาล จึงพิจารณาการให้โฆษณาที่สอดคล้องกับนโยบายบริษัท หลังจากนี้หากมีการเข้าเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมหรือรายการใด จะพิจารณาเรื่องจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาลอย่างเข้มงวด
ขณะที่นางดวงเดือน คงคาสวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยประกันชีวิตได้ตัดสินใจถอดการเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาวีทีอาร์ ช่วงเจาะข่าวเด่น ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ของบริษัทไร่ส้มไปแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้สั่งระงับโฆษณาในรายการที่นายสรยุทธเป็นผู้ดำเนินรายการทั้งหมดมีผลทันที เนื่องจากดีแทคเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นสมาชิกภาคีเครือข่ายองค์กรต้านคอร์รัปชัน จึงจำเป็นต้องรักษาจุดยืนอย่างเคร่งครัด ส่วนหลังจากที่นายสรยุทธ ประกาศถอนตัวจากรายการทั้งหมดแล้ว ดีแทคจะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในเรื่องนี้ใหม่ในระยะต่อไป แต่ตอนนี้ยังระงับโฆษณาไว้ก่อน ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการสอบถามค่ายมือถืออีก 2 แห่งที่เหลือ ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พบว่า เอไอเอสกำลังอยู่ระหว่างรอการตัดสินใจ ส่วนทรูนั้นช่วงนี้ไม่มีโฆษณาในรายการนายสรยุทธอยู่แล้ว
ความคืบหน้าจากตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีข้าราชการไปออกรายการของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่า ไม่เคยห้าม แต่ให้พิจารณาเองว่า ควรหรือไม่ สิ่งที่อยากให้ทบทวนเพราะวันนั้นปรากฏเทปสัมภาษณ์อธิบดีกรมสรรพากรออกมา เอามาออกทำไม เมื่อมีเหตุการณ์หรือสถานการณ์เกิดขึ้นแล้วมีคำสั่งศาลออกมา ทำไมไม่เอาเทปอื่นมาออก แต่เทปนี้ออกอากาศไปแล้วเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนเอามาออกซ้ำ ทำให้สื่ออื่นออกมาโจมตี อธิบดีรายงานว่า ให้สัมภาษณ์มา 2-3 อาทิตย์แล้ว ให้ไปถามช่อง 3 เพื่อประโยชน์อะไรให้คนมาว่ารัฐบาลไม่สนใจ ทำให้มีการโจมตีรัฐบาลว่า เคยบอกให้ความสำคัญกับการปราบปรามการทุจริต แล้วทำไมถึงให้อธิบดีไปออกรายการที่มีปัญหา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่นายกฯกำชับข้าราชการ เจ้าหน้าที่ให้ระมัดระวังการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ภายหลังศาลตัดสินจำคุกนายสรยุทธว่า ตนได้ยินจากข่าว ไม่ทราบว่านายกฯเป็นคนสั่ง นายกฯไม่ได้พูดอะไร เมื่อถามว่า แนวคิดดังกล่าวเหมาะหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามว่า แต่หน่วยงานราชการจะต้องพึ่งสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วประเทศไทยมีกี่สื่อ พูดกับสื่อที่ทำเนียบรัฐบาลทุกวันนี้สบายใจจะตาย ต่อข้อถามว่า การที่คนซึ่งถูกศาลตัดสินยังออกพื้นที่สาธารณะควรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้คนอื่นพูดมากแล้ว ตนอย่าพูดเลย ยิ่งตนเป็นรองนายกฯที่กำกับดูแลอสมท ซึ่งเป็นเจ้าหนี้
ส่วนนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวธนาคารออมสินพิจารณาไม่ต่อสัญญาการซื้อโฆษณารายการเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ และเรื่องเล่าเช้านี้ของบริษัทไร่ส้ม จำกัดว่า ตามหลักการเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ใช่มาตรการของกระทรวง เป็นดุลยพินิจของผู้นำองค์กรต้องพิจารณาเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ต้องเป็นนโยบาย ไม่ต้องทำคำสั่งใดๆไปยังหน่วยงานต่างๆสังกัดกระทรวงการคลัง ถือเป็นอำนาจของแต่ละหน่วยงานพิจารณาความเหมาะสม เมื่อถามว่า กระทรวงการคลังพิจารณาการให้เจ้าหน้าที่ไปออกรายการของนายสรยุทธหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า ต้องงดการให้สัมภาษณ์เพื่อความเหมาะสม หากเชิญมาต้องปฏิเสธด้วยความสุภาพ
ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) แถลงหลังประชุมว่า ที่ประชุมพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้ที่ประชุมสปท.พิจารณากรณีปัญหามาตรฐานทางจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ตามที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ โฆษกวิป สปท.และคณะเสนอ ที่ประชุมวิป สปท.ให้ความสำคัญและใช้เวลาในการพิจารณาญัตติดังกล่าวเป็นเวลานาน กระทั่งมีมติมอบหมายให้คณะ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน และคณะ กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นำญัตติไปศึกษาก่อนนำกลับมาให้วิป สปท.พิจารณาอีกครั้ง ก่อนบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมเพื่ออภิปรายต่อไป คาดว่าใช้เวลาศึกษา 30 วัน ส่วนจะนานเกินไปหรือไม่ คิดว่าการทำงานของ สปท.มุ่งสร้างมาตรฐานโดยรวม ไม่ได้มุ่งไปที่กรณีใดกรณีหนึ่ง เน้นภาพรวมทำงานเชิงวิชาการมากกว่าทำงานเชิงประเด็น ดังนั้นก่อนนำเรื่องนี้บรรจุเข้าสู่ที่ประชุมต้องมีทางออก มิได้พุ่งเป้าไปที่การอภิปรายโดยไม่มีทางออก ซึ่ง พญ.คุณหญิงพรทิพย์เห็นด้วยตามมติของที่ประชุมวิป สปท.
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องการให้สื่อมีองค์กรวิชาชีพสามารถกำกับดูแลกันเอง จากเหตุการณ์นี้ มีกลุ่ม องค์กรและสมาคมออกมาแสดงท่าที แต่มีประเด็นที่น่าคิดคือบอกว่าไม่ได้มีผลผูกพัน จะเห็นด้วยจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ จะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ กำลังจะบอกว่าต้นสังกัดก็ดี ผู้เกี่ยวข้องก็ดี หรือแม้แต่คนที่จะตัดสินใจไปร่วมรายการก็ดี วันนี้คงจะต้องจับตาดูวัดกันว่า ตกลงเราคิดว่าบรรทัดฐานควรจะเป็นอย่างไรถ้าต่างฝ่ายต่างคิดถึงประโยชน์ คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องบุคคล เรื่องอะไรไม่ได้เกี่ยวกับเรา จะซื้อโฆษณาก็ได้อะไรก็ได้ ในที่สุดต้องบอกว่า ความคาดหวังที่จะเห็นการวางบรรทัดฐานต่างๆคงไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นบททดสอบสำคัญกับทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อถามถึงท่าทีของช่อง 3 ที่ให้นายสรยุทธดำเนินรายการได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่านายสรยุทธและทางช่อง 3 มีระบบการจ้างสัญญาอย่างไร ขณะเดียวกันต้องให้ความเป็นธรรมกับเขาระดับหนึ่ง ในแง่ที่ว่าคดียังไม่ได้ถึงที่สุด
นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัทบางกอก เอ็นเตอร์– เทนเม้นต์ จำกัด เจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เผยว่า นายสรยุทธเข้ามาหารือกับผู้บริหาร ก่อนที่จะตัดสินใจขอยุติการทำหน้าที่พิธีกรทั้งหมด ตามที่นายสรยุทธได้แจ้งต่อสาธารณชนผ่านสื่อโซเชียลมีเดียส่วนตัว ซึ่งผู้บริหารช่อง 3 ก็น้อมรับและเคารพการตัดสินใจของนายสรยุทธ ซึ่งระบุไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อช่อง เรายอมให้เขาออกและทำได้เพียงให้กำลังใจ เขาทำรายการกับเรามาเกือบ 13 ปี คิดว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้เขามีเวลาเตรียมข้อมูลเพื่อต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป นี่เป็นการตัดสินใจของนายสรยุทธเอง ไม่มีการบีบ เขาเข้ามาพบผู้บริหาร คุยกันและได้ข้อสรุปแบบนั้น
นายสุรินทร์ยังกล่าวถึงการหาคนมาแทนนายสรยุทธว่า เป็นเรื่องกะทันหันมากและมีหลายอย่างต้องเตรียมตัว เบื้องต้นเรายังคงใช้ทีมเดิมอยู่ แต่มองคนที่จะมาแทนไว้บ้างแล้ว ต้องรอดูว่าทีมโปรดิวเซอร์จะตัดสินใจอย่างไร ทั้งในส่วนของรายการเรื่องเล่าเช้านี้และเรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ ส่วนช่วงเจาะประเด็น ที่นายสรยุทธเป็นผู้ดำเนินรายการในข่าวช่วงเย็น “เรื่องเด่นเย็นนี้” นั้น เบื้องต้นน่าจะยุบไปเลย เพราะเป็นช่วงเวลาเพียง 15 นาที ความจริงข่าวที่จะนำเสนอมีเหลือเฟืออยู่แล้ว จึงน่าจะยุบเป็นเวลาของข่าวเย็นไป
ที่มา:thairath
0 comments:
Post a Comment