พล.ต.อ.วัชรพล ให้เหตุผลว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องจากได้รับคำร้องขอความเป็นธรรมจาก สมชาย พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ที่มีการอ้างถึงพยานหลักฐานใหม่ รวมทั้งคดีกระชับพื้นที่ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ปี 53 ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติยกฟ้องมาเป็นเหตุผลว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมและขอให้ ป.ป.ช.ถอนฟ้องในคดีนี้
ประเด็นดังกล่าว มิเพียงทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับการใช้อำนาจของ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดข้อสงสัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ.วัชรพล ด้วยว่าเป็นไปโดยสุจริต หรือมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ เนื่องจากมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นพี่ชายร่วมสายเลือดของ พล.ต.อ.พัชรวาท
ที่สำคัญคือนับตั้งแต่ ป.ป.ช.ก่อกำเนิดขึ้นยังไม่เคยมีคดีใดที่ ป.ป.ช.ถอนฟ้องคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลมาก่อน เนื่องจากยึดหลักว่าเมื่อคดีพ้นมือ ป.ป.ช.ไปแล้ว การต่อสู้ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณา และให้ความเป็นธรรม ไม่ใช่อำนาจของ ป.ป.ช.ที่จะไปดำเนินการใดๆ เนื่องจากยื่นฟ้องไปแล้ว หาก ป.ป.ช.ชุดที่ พล.ต.อ.วัชรพล เป็นประธาน จะอ้างว่ามีอำนาจตามกฎหมายกระทั่งสุดท้ายมีมติถอนฟ้องในคดีนี้ ก็จะเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่จะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในอนาคตหลายประเด็นด้วยกัน ดังนี้
1.ทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ว่าคดีที่ ป.ป.ช.มีมติยื่นฟ้องไปแล้ว ยังสามารถขอความเป็นธรรมได้ ทั้งที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลแล้ว
2.ทำให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ว่าคดีที่ ป.ป.ช.มีมติไปแล้ว สามารถออกมติใหม่เพิกถอนมติเดิมของตัวเองได้
3.ทำให้เกิดช่องทางที่ผู้ถูกกล่าวหาจะใช้เป็นเหตุผลในการฟ้องกลับ ป.ป.ช.ชุดที่มีมติยื่นฟ้องคดีได้ว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ
4.ทำให้การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ส่งผลให้เกิดคำถามว่าอาจมีการวิ่งเต้นได้เพื่อล้มมติเดิม
5.ทำให้เกิดปัญหาการวินิจฉัยคดีของ ป.ป.ช.แต่ละชุด หากมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลแล้วยกคดีที่ยื่นฟ้องไปแล้วกลับมาพิจารณาใหม่จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
6.ทำให้ผู้เสียหายที่แท้จริงถูกตัดสิทธิ์ ไม่สามารถฟ้องร้องคดีได้อีก เพราะกรณีนี้ ป.ป.ช.มิใช่ผู้เสียหายแต่กลับเป็นผู้ขอถอนฟ้องคดีโดยมิได้คำนึงถึงสิทธิของผู้เสียหายว่าต้องการยุติคดีหรือไม่
การใช้ดุลพินิจของ ป.ป.ช.ชุด พล.ต.อ.วัชรพล มิได้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่ยังคาบเกี่ยวไปถึงการละเมิดสิทธิประชาชนในการฟ้องคดีด้วย ที่สำคัญคือจะเกิดคำถามว่า ทำไมคดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีนามสกุลเดียวกับผู้มีอำนาจจึงดำเนินการได้อย่างยากเย็นเหลือเกิน เรากำลังย้อนไปสู่ยุคที่เคยมีบางตระกูลแตะต้องไม่ได้หรือเปล่า เพียงแต่ในปัจจุบันเปลี่ยนนามสกุลที่มีสิทธิพิเศษอยู่เหนือกฎหมายเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อ คสช. และยังเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ เนื่องจากเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก และพัวพันไปถึงสายสัมพันธ์ของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน กระทั่งอาจบานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาล คสช.กับประชาชนได้โดยง่าย หากไม่มีการทบทวน
จะว่าไปแล้วเรื่องที่เกี่ยวกับ พล.ต.อ.พัชรวาท มีประเด็นที่น่าศึกษา เพราะถือเป็นบุคคลหายากเนื่องจากเป็น ผบ.ตร.คนแรก ที่ได้คืนตำแหน่งถึงสองครั้งหลังจากถูกย้ายและปลดออกจากราชการ โดยมีข้อมูล ดังนี้
28 ก.พ.51 สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ ไปช่วยราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ มาเป็นรักษาการ ผบ.ตร.แทน ในวันเดียวกัน กตช.มีมติเป็นเอกฉันท์ แต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รักษาการ ผบ.ตร. เป็น ผบ.ตร.คนใหม่ แทน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
2 มิ.ย.51 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.51
28 พ.ย.51 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 305/2551 ให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ไปปฏิบัติงานสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนของสังกัดเดิมไปก่อนและให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน
21 ธันวาคม พ.ศ.2551 ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท กลับคืนสู่ตำแหน่งเดิม นับเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรืออธิบดีกรมตำรวจคนแรก ที่ถูกสั่งย้ายแล้วสามารถกลับคืนสู่ตำแหน่งได้
31 กรกฎาคม 2552 พล.ต.อ.พัชรวาท ลาราชการ หลังเกิดเหตุลอบสังหารสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่คดีเดินหน้าไม่ได้ โดย พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร.ที่รับผิดชอบคดี รายงานต่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้นว่า คดีมีอุปสรรคเจอตอ จนมีการเรียกร้องให้ปลด “พล.ต.อ.พัชรวาท” ออกจากตำแหน่ง แต่จบตรงที่ให้ลาราชการเปิดทางให้ พล.ต.อ.ธานี เดินหน้าสอบสวนอย่างเต็มที่
7 กันยายน พ.ศ.2552 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนักการเมืองและนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง รวม พล.ต.อ.พัชรวาท ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำผิดวินัยร้ายแรง และให้ดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 157 ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ต.ค.51
9 ก.ย.52 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีอาญาและวินัยร้ายแรงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม พ.ศ.2551 ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
19 ต.ค.52 อภิสิทธิ์ มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 228/2552 ลงโทษปลดพัชรวาท ออกจากราชการตาม มติ ป.ป.ช.ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง
5 พ.ย.52 พัชรวาท ยื่นอุทธรณ์ ต่อ ก.ตร. 30 ธ.ค.52 ก.ตร.มีมติให้สั่งยกโทษปลดออกจากราชการให้กับ พล.ต.อ.พัชรวาท จากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท ยังยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนมติ ป.ป.ช.แต่แพ้คดี
16 ก.ค.53 ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้อง กรณี พล.ต.อ.พัชรวาท ขอให้เพิกถอนมติ ป.ป.ช. โดยระบุว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่มีสิทธิ์ฟ้อง และ มติ ป.ป.ช.มีผลผูกพันให้ผู้บังคับบัญชาต้องลงโทษวินัยร้ายแรง พล.ต.อ.พัชรวาท
หลังจากนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท ยื่นฟ้องศาลปกครองใหม่ เปลี่ยนจากการฟ้อง ป.ป.ช.มาเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด หรือ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีไม่มีคำสั่งยกโทษปลดออกจากราชการตามมติ ก.ตร.
28 ก.พ.57 ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ได้รับแจ้งตามมติ ก.ตร. โดยในขณะนั้นมีความพยายามชี้นำว่านายกฯ ต้องปฏิบัติตามมติ ก.ตร.เท่านั้นไม่สามารถใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นได้ แต่มีคำอธิบาย
17 ก.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 93/2557 อ้างคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้ยกโทษปลดออกจากราชการ คืนตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท
พล.ต.อ.พัชรวาท จึงถือเป็น ผบ.คนแรก ที่ได้คืนตำแหน่งเดิมถึงสองครั้ง และเป็นคนแรกที่ทำให้ผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหาร มีคำสั่งยกโทษปลดออกจากราชการ มีผลทำให้ มติ ก.ตร.ใหญ่กว่ามติ ป.ป.ช.
ที่มา: banmuang
0 comments:
Post a Comment