รายงานของธนาคารโลกหรือ World Bank ฉบับล่าสุด ประจำปี 2559 รายงานว่า
1.เศรษฐกิจโลก จะโตเฉลี่ยรวมกันที่ 2.4%
2.ไทยจะมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ บวก 2.5%
3.ในอาเซียน จะไม่มีประเทศไหนเป็นบวกเลย ยกเว้น ไทย
4.ประเทศใหญ่ๆระดับโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น หรือกลุ่มยุโรปติดลบหมด มีเพียง จีน ที่บวก 6.9%
5.ทั้งหมดนี้สะท้อนภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจของโลกที่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป
“แนวโน้มสำหรับการฟื้นตัวยังไม่สดใส” คือสิ่งที่ World Bank ใช้เตือนถึงเศรษฐกิจโลก
“สถานการณ์สำหรับประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสิ่งที่ท้าทาย” คือสิ่งที่ World Bank พูดถึงประเทศอย่างไทยเรา
เรามาดูว่า World Bank พูดถึง กลุ่มลูกค้าสำคัญของไทยในอดีตกันบ้างครับ..
“สหรัฐ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องเผชิญกับการลงทุนที่ดิ่งเหวในภาคพลังงาน และการส่งออกก็ทำได้น้อยลง”
“ประเทศกลุ่มยุโรป กำลังต้องหามาตรการกระตุ้นทางการเงินครั้งใหญ่ และถึงแม้จะได้ประโยชน์จากราคาพลังงาน และราคาสินค้าต่ำลง แต่ก็ไม่ช่วยผลักดันการเติบโตเท่าไรนัก”
“ญี่ปุ่น เผชิญแรงกดดันจากเงินฝืดต่อไป หลังเรื้อรังมากว่า 10 ปี”
“และทั้งสามกลุ่มนี้การลงทุนจะยังคงซบเซาต่อไป”
ทั้งหมดนี้คือ คำพยากรณ์ของ World Bank ซึ่งเป็นคำพยากรณ์ที่มีหลักวิทยาศาสตร์ทางสถิติตัวเลขที่นำมาประมาณการเราบวกประเทศเดียวในอาเซียน ตามประมาณการก็มิใช่เวลาให้ผยอง ไทยเรายังคงต้องมุ่งหน้าต่อไปในการปฏิรูปรัฐ ปฏิรูประบบราชการที่ถ่วงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นอีกเรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องทำ ทั้งสิ้น ถึงตรงนี้มันสะท้อนแค่ว่า ...โชคดีมากที่บุญเก่าเรายังไม่หมดไปซะทีเดียว !
ถัดมา มาดูเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะเป็นหัวหอกหลักสำคัญในการชูโรงหารายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ที่ยังไม่ถึงจุดสูงสุดครับ นั่นคือ “การท่องเที่ยว” สาเหตุที่บอกว่า ยังไม่ถึงจุดสูงสุดเพราะ 1.พัฒนาได้มากกว่านี้ 2.ฝียังไม่แตก
สิ่งที่การท่องเที่ยวไทยเราพัฒนาได้มากกว่านี้ มีหลายปัจจัยบวกอีกมาก แหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่ถูกค้นพบ หรือแม้แต่ค้นพบแล้ว แต่ยังไม่ถูกโปรโมต ในแง่มุมหนึ่งดี ในแง่มุมหนึ่งไม่ดี ส่วนที่บอกว่า ฝียังไม่แตก นั่นก็เพราะว่า ประเด็นปัญหาหลักๆ เพิ่งจะปะทุบ้างไม่มากก็น้อยในปีนี้ ถึงความไม่พร้อมในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากกว่านี้ หรือการบริหารจัดการระบบการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยเป็นแบบ“คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ”
เรามาดูตัวเลขเกี่ยวกับ “การท่องเที่ยว” ของไทยกันครับ
เม็ดเงินการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว คนไทยเที่ยวไทยน้อยกว่า ต่างชาติเที่ยวไทย โดย ไทยเที่ยวไทย คิดเป็น 35% และต่างชาติเที่ยวไทย คิดเป็น 65% ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ
กรณีนี้ ต่างชาติเที่ยวไทย เม็ดเงินจะไหลเข้าไปในกลุ่มพื้นที่ชั้นนำ ชื่อดังอยู่แล้ว ได้แก่ กทม. เชียงใหม่ ภูเก็ต รวมไปถึงจังหวัดฝั่งอันดามัน และสถานที่สำคัญๆ ระดับชาติ
แต่ในกรณี ไทยเที่ยวไทย มีคุณูปการในเรื่องการกระจายเม็ดเงินไปทั่วมากกว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะคนไทย ท่องเที่ยวด้วยรถยนต์เป็นหลัก และสถานที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ไปกันมาหมดแล้ว เกิดการกระจายของเม็ดเงินสูงกว่าไปในจังหวัดเล็กๆ มาตรการให้คนไทยเที่ยวไทยจะมีผลบวกต่อประเด็นนี้ค่อนข้างมาก
มาตรการรัฐด้านการท่องเที่ยวที่ช่วยกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวไทยในปี 2559 ได้แก่ การสานต่อแคมเปญ ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ของ ททท.ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ไม่ว่าจะเป็น “12 เมืองต้องห้ามพลาด” และ “12 เมืองต้องห้ามพลาด PLUS” ครอบคลุมทั้งหมด 24 จังหวัดทั่วไทย ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ ไม่นับรวมกับจังหวัดที่พาดผ่านใน
เส้นทางการเดินทาง
ครึ่งปีแรกของตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยเองนั้น โตได้ดีจากมาตรการของกระทรวงการท่องเที่ยวฯร่วมกับ ททท. และมาตรการเฉพาะกิจของกระทรวงการคลัง ด้านภาษี
ลักษณะการท่องเที่ยวของแต่ละภูมิภาคตอนนี้ปรับเปลี่ยนไปตามกลไกตลาดทางเศรษฐศาสตร์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดภาคกลางตอนล่างอย่าง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และภาคตะวันออกอย่าง ชลบุรี ระยอง จะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ เป็นหลัก ซึ่งตอนนี้กลุ่มจังหวัดเหล่านี้ปรับเปลี่ยนลักษณะการท่องเที่ยวเป็นแบบ Water Sports หรือ Adventures มากขึ้น ส่วนในพื้นที่ชายฝั่งอันดามันยังคงเอกลักษณ์การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เกาะแก่งดำน้ำ และมีกระแสอนุรักษ์ ที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นตัวตั้งตัวตีเรื่อง รักษ์ทะเลไทย ก็ช่วยชูจุดเด่นในด้านนี้ได้อีกไม่น้อย
คาดการณ์เม็ดเงินในครึ่งปีหลังที่เหลือของไทย ไตรมาส 3 จัดเป็น Low Season ซึ่งจะมีโปรโมชั่นราคาถูกออกมามากมาย
เพื่อให้คนไทยเที่ยวไทยกันเองในช่วงนี้ เนื่องจาก ช่วงไตรมาส 3 นี้ในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ กำลังเป็นฤดูที่อากาศดี และจะกลับมาไทยอีกช่วงไตรมาส 4
ภาพรวมตลอดปี 2559 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ไว้ว่า จะมีคนไทยเดินทางเที่ยวไทย 146.5 ล้านคน(ครั้ง) แปลว่า
เฉลี่ยคนละสองครั้งต่อปีนี้ เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน เม็ดเงินสะพัด 8.35 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเมืองท่องเที่ยวแบบใหม่อย่าง “บุรีรัมย์” ที่เป็นจุดเด่นด้าน Sports Hub จนกระทั่งการท่าอากาศยานต้องทำการขยายสนามบินเป็นการด่วน จากจังหวัดที่เงียบเหงาไม่มีอะไร การเป็น Destination ด้านกีฬา ได้ภายในเวลาไม่กี่ปี
ปัจจัยหนึ่งสำคัญที่ภาคเอกชนคาดหวังให้ภาครัฐพัฒนาไปควบคู่กันกับทุกเรื่องคือ เรื่อง Digital Economy ทางการท่องเที่ยว ปัจจุบันนี้มีความเสรี อิสระ หลากหลายในเสาะแสวงหาที่เที่ยวใหม่ๆ ที่พักเก๋ๆ หรือแม้แต่บริการด้านการขนส่ง เดินทางที่สะดวกสบายเป็นระบบ รวมไปถึงระบบการชำระเงินที่ต่างชาติแน่นอน ให้ความเชื่อใจมากกว่าระบบแบบที่เป็นอยู่ทั่วไปเหล่านี้
เมื่อรัฐตามทันภาคเอกชน จะกลายเป็นโอกาสอีกมหาศาลครับ ในการดูดเม็ดเงินเข้าประเทศไทยของเรา
ที่มา: naewna
0 comments:
Post a Comment