Saturday, August 20, 2016

Tagged Under:

สนช.หนุนสว.ตัดหน้าสส. เสนอชื่อนายกฯ แก้วิกฤติเลือกผู้นำประเทศ ‘วิษณุ’ฟันธงไม่น่ามีปัญหา ชี้สภาสูงชุดพิเศษอยู่ยาว5ปี ‘สมชัย’อัดยูเอ็นอย่ามาจุ้น

By: news media On: 8:58 PM
  • Share The Gag
  • นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ถึงการเสนอให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ตามคำถามพ่วงที่ผ่านการประชามติว่า หลังจากคำถามพ่วงประชามติผ่านแล้วก็เป็นหน้าที่ของกรธ.ที่ต้องแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง จากนั้นก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

    ย้ำส.ว.ชงชื่อนายกฯทำได้

    โดยหลักการแล้วการเสนอชื่อนายกฯ เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ที่จะเสนอรายชื่อ จำนวน 3 คนให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่หากเกิดกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯได้นั้น ส.ว.ก็น่าจะมีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯได้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติไปแล้ว ซึ่งให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกฯนั้นเป็นก๊อกสองที่จะเกิดขึ้นโดยเป็นการแก้ปัญหาจากการที่ส.ส.ไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯได้

    โดย สนช.เห็นร่วมกันจึงเสนอไปยังกรธ.ทั้งนี้ การเสนอดังกล่าว ไม่ได้มีมีการขัดแย้งใดๆ แต่ในส่วนของกรธ.จะเขียนลงในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญอย่างไรนั้นก็อยู่กับดุลพินิจซึ่งสนช.ก็เคารพ เรายืนยันว่าส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯได้ จากที่กระบวนการปกติเสนอไม่ได้

    บอกเคยชี้แจงมาแล้วหลายเวที

    นายพีระศักดิ์ กล่าวอีกว่าส่วนเวทีชี้แจงประชาชนการลงประชามติของ สนช. ที่ชี้แจงว่าส.ว.มีหน้าที่โหวตเสนอชื่อนายกฯขณะที่อีกเวทีบอกว่า ส.ว.สามารถโหวตและเสนอชื่อได้นั้น การชี้แจงของ สนช.ในแต่ละกลุ่มไม่เคยมีการบอกว่าส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกได้ในครั้งแรก แต่ยอมรับว่ามีบางเวทีบอกว่า ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯได้ หากครั้งแรกไม่สามารถโหวตนายกฯได้ เพราะถือว่าเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาแต่ กรธ.จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของ กรธ. ซึ่งการชี้แจงในเวทีต่างๆ ไม่ได้เป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะไม่มีเวทีไหนที่บอกว่าเสนอชื่อไม่ได้

    ยันไม่ทำเกินหลักการ

    เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองมองว่า สนช.ได้คืบจะเอาศอก นายพีระศักดิ์กล่าวว่าเป็นการตีความกฏหมาย ซึ่งเราก็มีความเห็นแย้งกันแต่สุดท้ายก็ไปจบที่กรธ.ยืนยันว่าเราไม่ได้เพิ่มอะไรนอกจากคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติ และเราไม่ได้ทำเกินหลักการที่วางไว้ การให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯไม่ได้ทำขึ้นหลังประชามติแต่เกิดขึ้นก่อนในช่วงที่กรธ.ได้นำเสนอ ร่างแรกและให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปแก้ไข ซึ่งสิ่งที่ กรธ.ไม่ได้แก้ เราก็เสนอไปในคำถามพ่วงซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57ได้กำหนดให้สนช.สามารถเสนอคำถามพ่วงได้ พร้อมไม่มีความกังวล หากฝ่ายการเมือง จะนำประเด็นดังกล่าวไปฟ้องร้อง ถ้าเป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย สนช.ได้ใช้สิทธิ์อย่างสุจริต

    ปัดกรุยทางให้คสช.เป็นนายกฯ

    เมื่อถามย้ำว่าการให้ ส.ว.ชุดใหม่มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯเป็นการกรุยทางให้เสนอคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มาเป็นนายกฯหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่าเรื่องนายกฯคนนอก เป็นกระบวนการตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญหหลังผ่านประชามติ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่จะนำไปสู่สาระหลักสำคัญ ส่วนจะออกมาแบบไหนซึ่ง กรธ.ก็ยังไม่ได้ปฏิเสธ โดยจะรับไปหารือกัน

    ส่วนกรณีที่การผลักดัน ส.ว.ชุดใหม่เสนอชื่อนายกฯได้จะเป็นใบเบิกทางให้สนช.กับเข้ามาเป็น ส.ว.สมัยหน้าหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่าไม่ใช่เพราะเรายังไม่เห็นร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้มาซึ่ง ส.ว.ซึ่งอาจจะเขียนห้าม ไม่ให้ สนช.กลับมาเป็น ส.ว.ก็ได้

    คลายกฏเหล็กเมื่อเวลาเหมาะ

    ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ผ่อนปรนให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองได้ รองประธาน สนช.กล่าวว่า คสช.คงเป็นผู้ประเมินสถานะการณ์ทางการเมือง เชื่อว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมทางทางคสช.คงจะผ่อนปรนมาตรานี้ได้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.ได้พูดย้ำมาตลอดว่า ต้องทำหน้าที่ให้ประเทศชาติสงบถ้าไม่สงบก็ต้องมีมาตราควบคุม โดยทุกอย่างจะเดินไปตามโรดแม็ป หากบ้านเมืองสงบก็จะมีการเลือกตั้งแต่ถ้ายังไม่สงบกระบวนการตามปกติก็ต้องชะลอออกไป ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ ในส่วนของสนช.เองก็มีหน้าที่ในการเตรียมการที่จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ

    “วิษณุ”ฟันธงไร้ปัญหาสว.อยู่ยาว5ปี

    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับคำถามพ่วงที่ ส.ว.จะมีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรีได้ในขั้นตอนใดว่า ต้องปล่อยให้ กรธ.และสนช.ได้หารือกัน ซึ่งต้องเอาข้อมูลรายงานการประชุม การเดินสายชี้แจงกับประชาชนมาอธิบายให้ กรธ.ทราบ ส่วนกรธ.จะคิดเห็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ส.ว.ไม่ได้มีสิทธิเลือกนายกฯได้เพียงหนเดียว แต่สามารถร่วมโหวดได้หากยังอยู่ในช่วง 5 ปีตามบทเฉพาะกาล ด้วยเหตุนี้ จึงมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถึงอย่างไรการเลือกนายกฯ มีความจำเป็นต้องเลือกตาม 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ

    “ไม่คิดว่าจะมีปัญหาในการเลือกนายกฯตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ยกเว้น รายชื่อตามที่พรรคการเมืองเสนอนั้น จะไม่เอาด้วยซึ่งเป็นไปได้น้อย หากไม่มีคำถามพ่วง อาจจะมีปัญหาเรื่องของเสียงโหวต แต่เมื่อคำถามพ่วงผ่านประชามติ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของเสียงที่จะโหวต นอกจากรายชื่อทั้งหมดที่พรรคการเมืองเสนอจะไม่เอา”นายวิษณุ ย้ำ

    นายกฯคนนอกไม่ขัดเจตนารมณ์

    ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยืนยันว่าเจตนารมณ์คำถามพ่วงประชามติของคณะกรรมาธิการที่ส่งให้ กรธ.ไปพิจารณานั้น ไม่ได้ตีความเกินคำถามพ่วงทั้งการให้ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส.ตั้งแต่รอบแรกตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมา และการให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี นอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ หากส.ส.ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะคำถามพ่วงระบุชัดเจนว่าให้รัฐสภาซึ่งหมายถึงส.ส.และส.ว.พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นการทำตามประชาชน 15 ล้านเสียงที่ให้ความเห็นชอบมา

    ตอกย้ำเพื่อให้ประเทศมีทางออก

    “การที่ส.ว.จะร่วมโหวตเลือกนายกฯตั้งแต่แรก จึงไม่ขัดคำถามพ่วง เพียงแต่ต้องเลือกนายกฯจากบัญชี ที่พรรคการเมืองเสนอมาก่อน หากไม่สามารถเลือกได้ จึงเข้าสู่ขั้นตอนที่ให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง หรือไม่ก็ได้ เพื่อให้ประเทศมีทางออก โดยในขั้นตอนนี้ตามความเห็นของกมธ.ไม่จำเป็นต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภามาขออนุญาตยกเว้นการเลือกนายกฯนอกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง”นายทวีศักดิ์ ย้ำ

    รับมีเห็นต่างต้องถกก่อนส่งกรธ.

    ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กมธ.สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ สนช.กล่าวว่าข้อสรุปตามเจตนารมณ์คำถามพ่วงประชามติที่ กมธ.ส่งให้กรธ.คือการให้ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ตั้งแต่แรก แต่หากมีปัญหาติดขัด ไม่สามารถเลือกตัวนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้จึงเข้าสู่ขั้นตอนการให้ส.ส.และส.ว.สามารถเลือก นายกฯนอกเหนือจากบัญชีของพรรคการเมืองได้

    หลังจากนี้ กมธ.จะนัดประชุมอีก 1-2 นัดเพื่อสรุปเจตนารมณ์คำถามพ่วงในส่วนที่ยังมีข้อโต้แย้งอยู่กรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้ จำเป็นต้องใช้มติที่ประชุมรัฐสภา 2ใน3 ขอยกเว้นการเลือกนายกฯนอกบัญชีของพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของที่ประชุมรัฐสภาอีกแล้ว เพราะจะให้รัฐสภาใช้เสียง 2 ใน 3 มาขออนุญาตตัวเอง คงดูแปลกๆซึ่ง กมธ.จะนัดประชุมโดยเร็วที่สุด เพื่อส่งความเห็นเพิ่มเติมให้ กรธ.ไปพิจารณาต่อไป

    ครูหยุยชี้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯไม่ได้

    ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)กล่าวถึงกรณีที่ สนช.เสนอเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงประชามติต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)เพื่อปรับแก้บทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญว่า คำถามพ่วงที่ประชาชนเห็นชอบไปแล้วจะไปแตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ส่วนตัวมองว่าขนบธรรมเนียมประเพณีในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะใช้รูปแบบไม่ต่างกัน คือแต่เดิม เมื่อประชุมนัดแรกหลังจากได้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาแล้ว ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากเสนอ ชื่อ และพรรคฝ่ายค้านเสนอชื่อ แล้วก็โหวตเลือกกัน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปกติ

    “เมื่อมีคำถามพ่วงผ่านประชามติจากประชาชนซึ่งคำถามพ่วงเขียนไว้ชัดเจนว่าให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันเลือก ดังนั้น ต้องเปิดประชุมรัฐสภา แล้วให้พรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลเสนอตัวตามบัญชีรายชื่อ แล้วก็โหวตร่วมกัน ใครได้เสียงมากก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็เป็นหลักปฏิบัติทั่วไป แต่ก็เกิดคำถามว่า หากไม่ได้ตัวนายกรัฐมนตรีและรายชื่อ ก็หมดจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไว้แล้ว จะทำอย่างไร จึงเห็นว่าเป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อขึ้นมาอีกเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาและร่วมกันโหวต ขณะที่ส.ว.ก็ยังเสนอชื่อไม่ได้เพราะคำถามพ่วงกำหนดไว้ให้ร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ก็ไม่ได้มีคำว่าให้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ มีแต่คำว่า ให้ร่วมเลือกเท่านั้น”

    สว.ใหม่อยู่5ปีขับเคลื่อนปฎิรูป

    นายวัลลภ ยังมองว่าการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ของ สนช.นั้น คงไม่ถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นผู้ตีความ เมื่อศาลตีความอย่างไร ก็ยุติตรงนั้น ซึ่งเมื่อ กรธ.ปรับแก้เสร็จแล้ว และประชาชนไม่เห็นด้วย ก็สามารถเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้เสร็จสิ้นกระบวนการที่ กรธ.จะต้องยื่นร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส่วนที่มีการให้ ส.ว.มีอำนาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ถือว่ามีอำนาจมากเกินไปหรือไม่ นายวัลลภ กล่าวว่าตามเจตนารมณ์ที่ตนเข้าใจคือส.ว.ชุดแรกต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ให้ได้ โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรกแต่ไม่ได้ไปถึงขั้นให้ส.ว.ไปร่วมเสนอชื่อนายกฯได้ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบว่า สนช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเจตนารมณ์นี้หรือไม่

    ถาวรหนุนส.ว.ชงนายกฯคนนอก

    นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ แกนนำ กปปส. กล่าวถึงกรณีข้อเสนอของตัวแทน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อ กรธ. ที่ให้ ส.ว.แต่งตั้งสามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ในรอบแรก หากเลือกไม่ได้ในรอบสอง ส.ว.แต่งตั้งมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ คนนอก และสามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ว่า ตนยังคงยืนยันตามสาระของร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 272 ที่ระบุให้สิทธิ ส.ส.เลือกนายกฯ ได้ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อก่อน หากเลือกไม่ได้จึงเข้าสู่ขยักสองที่ให้ ส.ว.สามารถร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ หาก สนช.จะให้เพิ่มสิทธิเลือกนายกฯ ได้ในรอบแรก ก็จะเป็นการทำผิดเจตนารมณ์ของการผ่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

    ออกเตือนสนช.ควรสงวนท่าที

    แกนนำ กปปส.ยังเห็นว่า ทั้งนี้ ตามหลักของกฎหมายมหาชน หากสิ่งใดที่ไม่ได้บัญญัติไว้ก็ถือว่าทำไม่ได้ ดังนั้น การที่ระบุให้สิทธิ ส.ว.แต่งตั้งสามารถร่วมโหวตนายกฯ ได้ในรอบสอง ส่วนตัวเห็นว่า ส.ว.น่าจะมีสิทธิในการเสนอชื่อนายกฯ ได้ด้วย เพราะว่ากันตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้โดยตีความให้สิทธิ ส.ว. โดยขยายสิทธิให้ แต่อยากขอร้องต่อบรรดาสนช. ที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้ว่า ขอให้สงวนท่าทีต่อสังคมไว้บ้าง การแสดงออกอะไรอย่าให้มันมากจนเกินไป จะเอาอกเอาใจ หรือสนับสนุนก็เก็บๆ ไว้บ้าง เพราะบางอย่างเมื่อเกินพอดี ผลที่ออกมามันไม่งาม

    “สมชัย”โต้ตอบยูเอ็น

    นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่ โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ผ่านหน้าเฟซบุ๊ก UN Human Rights – Asia เรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการตั้งข้อหาดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง อันเนื่องมาจากการแสดงความเห็นต่างในกรณีการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ว่า ความผิดที่ทำผิดกฎหมายประชามติ กับความผิดความมั่นคง ซึ่งประเด็นที่เกี่ยวกับประชามติ คือ การเผยแพร่ข้อความเอกสารผ่านสื่อ ถ้าไม่มีผลกระทบก็ไม่ติดใจเอาความ ทั้งนี้ หากผู้กระทำผิดไม่เป็นคนที่ไม่มีบทบาทสำคัญทางหารเมือง หรือไม่เป็นที่สนใจ การเผยแพร่ข้อความก็ไม่เป็นที่สนใจก็ไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการลงคะแนน แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องอยู่ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ทาง กกต.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการดังกล่าวได้ ให้เป็นเรื่องของทางตำรวจและอัยการเป็นผู้ดำเนินการ และพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวมีผลต่อการลงประชามติหรือไม่ หากไม่รุ่นแรงก็ไม่ควรดำเนินการ แต่ต้องทำสำนวนส่งอัยการ ซึ่งอาจจะไม่ส่งฟ้องก็ได้

    อย่างไรก็ตาม ผู้กระทำผิดสามารถที่จะประกันตัวได้ แต่ถ้าไม่ใช้สิทธิประกันตัวก็อย่ามาบอกว่าฝ่ายบ้านเมืองกลั้นแกล้ง เพราะจะไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายบ้านเมืองเหมือนกัน

    เตือนกรธ.อย่าทำพลาด

    นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่าคำถามเพิ่มเติมที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอให้ส.ว.ชุดแรกมีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ว่า เป็นสิ่งที่กรธ.ต้องดำเนินการคือการแก้ไขกฎหมายบทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับผลประชามติในประเด็นที่เห็นชอบ และไม่ควรจะตีความหรือเขียนเกินไปกว่าผลประชามติ ถ้าเขียนเกินไปถ้าส่วไปศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาจจะตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ อาจจะส่งผลให้กรธ.ต้องกลับมาเขียนกฎหมายใหม่ และอาจจะทำให้กำหนดการตามโรดเมปเดิมล่าช้าไปอีก เมื่อกรธ.รู้ว่าการเขียนแก้ไขได้เท่าไหร่ก็ควรจะเขียนแค่นนั้น ถ้าเกิดเขียนพลาดไปกรธ.ก็ต้องรับผิดชอบ

     ที่มา: naewna

    0 comments:

    Post a Comment