Sunday, December 25, 2016

Tagged Under:

ผสมโรงต้านพ.ร.บ.คอมพ์ ล้ม"ประยุทธ์"เหลวเพราะหางการเมืองโผล่ !!

By: news media On: 6:07 PM
  • Share The Gag
  • เมืองไทย 360 องศา
         
           จะเรียกว่าเป็นความล้มเหลวอีกรอบ สำหรับเครือข่ายการเมืองที่ต้องการโค่นล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยคราวนี้ "ผสมโรง" มากับการคัดค้านพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ 2559 ที่บอกว่า "ผสมโรง" เข้ามาก็เพราะได้กลิ่น ได้เห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างเข้ามา จนทำให้ "จุดกระแส" ต้านไม่ขึ้นต้องฝ่อลงไปในเวลาอันรวดเร็ว
         
           ขณะเดียวกันหากกล่าวให้กระชับเข้ามาก็ต้องจำกัดวงเข้ามาว่า กลุ่มการเมืองที่ผสมโรงเข้ามาคราวนี้ก็ไม่ต้องอ้อมค้อมก็คือ การเมืองในกลุ่ม ทักษิณ ชินวัตร ในกลุ่มพรรคเพื่อไทย และมวลชนของพวกเขานั่นแหละ แม้ว่ายังมีกลุ่มการเมืองกลุ่มอื่น เช่น พวกประชาธิปัตย์ แต่เมื่อเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในบั้นปลายต่างกัน กลุ่มหลังจึงไม่มีนัยสำคัญ ไม่เหมือนกับกลุ่มแรกที่เป็นกลุ่มการเมืองในขั้วตรงข้ามที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นขึ้นทุกที
         
           แม้ว่าการออกมาเคลื่อนไหวคราวนี้จะไม่อาจเปิดเผยหลักฐานแบบจะแจ้ง ว่ากลุ่มการเมืองกลุ่มนี้ผสมโรงเข้ามาเพื่อเป้าหมายโค่นล้ม หรืออย่างน้อยก็ "บ่อนเซาะ" ให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อ่อนกำลังลง แต่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบ การออกมาแสดงความเห็นของบางคน บางกลุ่ม ที่เห็นมันไม่เนียน รวมไปถึงได้เห็นการเคลื่อนไหวของเด็กๆ หลายคน มันก็ล้วนเป็นกลุ่มเดิมที่เคยเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวกันมานาน มันก็กลายเป็นว่าไป "จำกัดพลัง" ในตัวของมันเองอย่างรวดเร็ว
         
           แน่นอนว่าแนวทางการเคลื่อนไหวในตอนแรกที่พวกเขาพยายามพ่วงมาพร้อมกับกฎหมาย "ซิงเกิลเกตเวย์" เข้ากับพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ ปี 59 ที่เพิ่งผ่านมติวาระสาม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.ซิงเกิลเกตเวย์ ที่มีความหมายทำนองว่า การเชื่อมต่ออินเตอร์เนตต้องผ่านช่องทางหรือประตูเดียว ถูกสังคมรวมพลังต้านจนรัฐต้องถอย คราวนี้จึงมีความพยายามเชื่อมโยงให้เห็นเป็นเรื่องเดียวกัน
         
           อย่างไรก็ดี อาจจะเป็นเพราะยุทธวิธีผิดพลาดที่พวกเขาเข้าไปแฮกเกอร์ และโจมตีเว็บไซต์ของทางการ ไม่ว่าจะเป็นของกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศมาจนถึงเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จนทำให้กระแสตีกลับ เพราะนี่ถือว่า "เล่นแรง" สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ยังถูกมองว่าเป็นการ "ชักศึกเข้าบ้าน" เป็นการทำลายความมั่นคงเข้าไปอีก
         
           อีกทั้งเมื่อเห็นแนวร่วมที่ออกมาเคลื่อนไหวและให้ความคิดเห็นโจมตีรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล มันก็เห็นภาพชัดว่า งานนี้ "ไม่ปกติ"แน่
         
           นี่ว่ากันในเชิงการเมือง และยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว ยิ่งไม่ต้องมาพูดถึงเรื่องเนื้อหาของ ร่างพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2559 ฉบับที่มีการแก้ไขเพื่อทดแทนพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ว่ากันว่า มีเนื้อหาชัดเจนกว่า เปรียบเทียบมาตรา14 ของฉบับปี 50 ที่ระบุความผิดฐานเผยแพร่ "ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ" ซึ่งเดิมมาตราดังกล่าวจะถูกนำไปพ่วงกับคดีหมิ่นประมาท ก็จะถูกฟ้องฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ มาตรานี้ไปด้วย แต่ฉบับแก้ไข พ.ศ. 59 เขียนไว้ว่า "ต้องเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา"
         

           ต่อมาก็คือ มาตรา 20 ที่ห่วงใยกันคือ การเพิ่มข้อความว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งมีการตั้งคำถามว่า ศีลธรรมอันดี คืออะไร มีบรรทัดฐานอย่างไร
         
           อย่างไรก็ดี คำตอบของมาตรานี้ก็คือ ให้ตั้งคณะกรรมการจำนวนเก้าคน ซึ่งสามในเก้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง ขึ้นมาพิจารณา แล้วส่งข้อความนั้นไปให้ศาลพิจารณา จากกฎหมายเดิมในปี 2550 แม้จะยังไม่มีความผิดต่อศีลธรรม แต่คนที่พิจารณาก็คือ "พนักงานเจ้าหน้าที่"
         
           นั่นเป็นตัวอย่างบางตอนของเนื่อหาในกฎหมายคอมพิวเตอร์ที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านกัน ซึ่งหากพิจารณาโดยรวมแล้วก็ต้องบอกว่า พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับปี 2559 มีความชัดเจน และดีกว่าฉบับปี 2550 และคนละเรื่องกับ ร่าง พระราชบัญญัติซิงเกิลเกตเวย์ ที่เคยถูกฮือต้านจนรัฐต้องถอยไปแล้ว
         
           ดังนั้นหากพิจารณาจากเนื้อหามันก็ต้องบอกว่า มีความชัดเจนมากว่าความคลุมเครือตามที่มีการกล่าวหากัน ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณากันถึงวิธีการต่อต้านด้วยการให้มีการกระหน่ำเว็บของทางการเพื่อให้ "ล่ม" หรือใช้การไม่ได้ จนทำให้เกิดความเสียหายซึ่งในที่สุดฝ่ายที่เสียหายก็คือประชาชนนั่นเอง ไม่ต่างจากการทำลายความมั่นคงของรัฐไปด้วย
         
           ขณะเดียวกันจากความเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าว ทำให้เป็นการเคลื่อนไหวที่ขาดน้ำหนัก ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคม และยิ่งเห็นการแสดงความเห็นผสมโรงของพวกเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร มันก็ทำให้สังคมยิ่งได้คิดว่ามันมีกลิ่นการเมืองแฝงเข้ามา ทุกอย่างจึงฝ่อลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะชาวบ้านมองออกมามีเจตนาโค่นล้มรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นเป้าหมาย"ซ่อนเร้นอำพราง" มากับการต้าน พ.ร.บ.คอมพ์ โดยมั่วว่านี่คือร่างกฎหมายซิงเกิลเกตเวย์ ที่เคยได้พลังแนวร่วมจากคนหนุ่มสาว แต่คราวนี้ออกตัวแรงไป มันเลยล้มคว่ำไม่เป็นท่า !!


    ที่มา: manager

    0 comments:

    Post a Comment