วันที่ 5 สิงหาคม เวลา 08.40 น. ที่ประตูมณีนพรัตน์มูลนิธิโครงการหลวง นำโดยนางพรนันท์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และการท่องเที่ยว มูลนิธิโครงการหลวง นำคณะชาวเขาเผ่าต่างๆ อาทิ ชนเผ่า คะฉิ่น ม้ง กะเหรี่ยง อาข่า และปะหล่อง พร้อมเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างมูลนิธิโครงการหลวงใน จ.เชียงใหม่ จำนวน 9 แห่ง ประมาณ 800 คน เดินทางมาเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
โดย นางพรนันท์ เปิดเผยว่า ตนเคยนำคณะชาวเขาเผ่าต่าง ๆ พร้อมเจ้าหน้าที่ และลูกจ้างของมูลนิธิโครงการหลวง จากภาคเหนือ ประมาณ 1,200 คน มากราบสักการะพระบรมศพครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2559 แต่ยังมีชาวเขากลุ่มอื่น ๆที่ยังไม่ได้เดินทางมาและอยากมาสักการะพระบรมศพด้วย จึงได้เดินทางมาในวันนี้อีก 1 ชุด ประมาณ 800 คน ที่โดยสารรถบัสมาจำนวน 15 คัน และรถตู้อีก 7 คัน ซึ่งทุกคนช่วยกันออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยตนเอง โดยทางมูลนิธิโครงการหลวง รับหน้าที่ประสานงานกับทางสำนักพระราชวัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้
“ชาวเขาทุกคนอยากเดินทางมาเพราะรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อก่อนชาวเขาจะปลูกฝิ่นกันมาก และต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะทำผิดกฎหมาย แต่พระองค์ทรงนำโครงการหลวงเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น ทำให้ชาวเขามีรายได้ที่แน่นอนและมั่นคง ลูกหลานได้เรียนหนังสือ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชาวเขาทุกคนจะเรียกในหลวง รัชกาลที่ 9 ว่า “พ่อหลวง” ซึ่งหลังจากที่พระองค์สวรรคต ชาวเขาก็เสียใจและพูดเสมอว่าคิดถึง “พ่อหลวง”มาก บางคนที่ไม่ได้มากราบสักการะพระบรมศพก็จะทำพิธีกรรมของแต่ละชนเผ่าอยู่ที่บ้าน เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศล” นางพรนันทน์ กล่าว
ด้านนาย เอกสิทธิ์ แสงเดือน อายุ 64 ปี อดีตผู้นำชนเผ้าคะฉิ่น หมู่บ้านใหม่สามัคคี ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ดีใจที่สุดจนพูดไม่ออกที่ตนและตัวแทนชาวคะฉิ่น รวม 18 คน ได้มีโอกาสเดินทางมากราบถวายบังคมพระบรมศพ “พ่อหลวง”ในวันนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2527 ตนในฐานะผู้นำชนเผ่าคะฉิ่นหมู่บ้านใหม่สามัคคี เคยได้เฝ้ารับเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการเสด็จเปิดโครงการหลวง บ้านหนองเขียว ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้มีโอกาสรับเสด็จฯอย่างใกล้ชิด รู้สึกภาคภูมิใจอย่างมาก ก่อนนี้ชาวชนเผ่าคะฉิ่นมีความเป็นอยู่อย่างลำบากต้องอยู่อย่างหลบซ่อนๆทำไร่เลื่อนลอยอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ต้องคอยหลบหนีทั้งทางการไทยและทหารพม่า แต่หลังจากที่ พระองค์ท่านเสด็จฯในพื้นที่แล้วทรงพระราชทานที่อยู่อาศัย ให้ความปลอดภัย และให้วิธีการทำมาหากินและให้อาชีพ เช่น ปลูกอโวคาโด้ และพืชผักส่งขายให้กับโครงการหลวง ทำให้ชนเผ่ามีรายได้ที่แน่นอน เด็กๆก็มีการศึกษาดีขึ้น
ด้านนางเสาวนีย์ เตชะเลิศพนา อายุ 35 ปี ชาวเขาเผ่าม้ง โครงการหลวงหนองหอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวหลังเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ “พ่อหลวง” ว่า เป็นความตั้งใจของชาวเขาทุกคนที่อยากจะมากราบพระองค์ และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ตนและคนในหมู่บ้านรวม 50 คน ได้เดินทางมา ถึงแม้ว่าอากาศจะร้อนหรือชุดที่ใส่อยู่จะค่อนข้างหนัก แต่ไม่รู้สึกเหนื่อยเพราะเป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราได้ทำเพื่อพระองค์ท่าน ทั้งนี้ พวกเราชาวเขาแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า ซึ่งบางคนอาจจะไม่เข้าใจเพราะชุดอาจจะมีสีฉูดฉาด แต่ชุดนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจ เป็นงานฝีมือกว่าจะตัดเย็บออกมาใช้เวลาหลายปี ซึ่งชาวเขาอาจจะเลือกใส่ชุดดำธรรมดาทั่วไปได้ แต่การได้ใส่ชุดประจำเผ่าของตนเองถือเป็นการแสดงความเคารพระองค์ท่านด้วยในแบบของชาวเขา
วันเดียวกัน สำนักพระราชวัง ได้สรุปยอดรวมประชาชนที่เดินทางมาเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น.ของวันที่ 4 ส.ค.ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 31,762 คน รวม 275 วัน มีจำนวน 9,011,972 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศล จำนวน 1,642,891 บาท รวม 275 วัน เป็นเงินจำนวน 685,382,964.51 บาท
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต 297 วัน (13 ต.ค.59) มีการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล 296 วัน (14 ต.ค.59) เปิดให้ลงนามถวายความอาลัย ณ ศาลาสหทัยสมาคมฯ(ระหว่าง 15-28 ต.ค.59 รวม 14 วัน) และเปิดให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ตั้งแต่ 29 ต.ค.59) รวม 276 วัน (งดกราบถวายบังคมพระบรมศพ 1-2 ธ .ค.59, 1 ม.ค.60, 20-21 ม.ค.60)
ที่มา: naewna
0 comments:
Post a Comment