คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559 เวลากลางคืน จำเลยทั้งหมด ซึ่งมีนายณ.พงศ์ จำเลยที่ 1 และนายอดิสร จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทเมก้า แพลนเน็ต จำกัด มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานต่างๆของ บริษัทเมก้า แพลนเน็ต จำกัด และควบคุม สั่งการ และมอบนโยบายในการดำเนินงานแก่พนักงานของบริษัท โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 บริษัทเมก้า แพลนเน็ต จำกัด จำเลยที่ 9 ได้ทำสัญญากับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รับจ้างปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบ fire risk assessment โดยให้บริษัทเมก้าฯ ติดตั้งระบบดับเพลิงแบบไนโตรเจน จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนของบริษัทเมก้าฯ และโดยฐานะส่วนตัว ได้ให้พนักงานเข้าทำการติดตั้งระบบดับเพลิงแบบไนโตรเจนที่ห้องเอกสารสำคัญ ชั้นบี 2 (ใต้ดิน) ประตู 5 อาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่า เป็นสถานที่ที่มีการติดตั้งระบบดับเพลิงไพโรเจน โดยใช้สารเคมีแอโรซอล ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายอยู่ก่อนแล้ว โดยก่อนที่จำเลยทั้งสามจะให้พนักงานและบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสามได้ว่าจ้างให้มาทำงานเข้าทำงานนั้น จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัย โดยต้องแจ้งให้กับลูกจ้างและบุคคลอื่นที่เข้าทำงานในสถานที่นั้นทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน และก่อนจะเข้าทำงาน ต้องจัดให้มีการฝึกอบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานที่ทำ จัดและดูแลเตรียมอุปกรณ์ให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครอง ความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐาน และสั่งให้ลูกจ้างหยุดทำหากไม่สวมใส่อุปกรณ์ รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุเครื่องดับเพลิงระบบไพโรเจนทำงานขึ้น โดยปล่อยสารเคมีแอโรซอล ออกมา และจำเลยทั้งสามจะต้องทำหน้าที่ตามสัญญา โดยต้องไม่ว่าจ้างบุคคลนอกจากพนักงานของจำเลยทั้งสามเข้าทำงานในสถานที่ดังกล่าว และจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อครอบเครื่องตรวจจับควัน (SMOKE DETECTOR) เพื่อป้องกันมิให้ระบบดับเพลิงไพโรเจนทำงาน ในกรณีที่พนักงานของจำเลยทั้งสามใช้เครื่องสว่านไฟฟ้าทำการเจาะเพดานและกำแพงฝาผนัง ทำให้เกิดฝุ่นควันขึ้น ทั้งมิได้จัดเตรียมอุปกรณ์ให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย เช่น หน้ากากป้องกันควัน แว่นตาป้องกันแก๊ส ฝุ่นละออง และเมื่อลูกจ้างได้เข้าทำงานและได้ทำการใช้สว่านไฟฟ้าเจาะกำแพง เจาะเพดาน ภายในห้องดังกล่าว ซึ่งเป็นสถานที่ปิด ไม่มีประตูและหน้าต่างระบายอากาศ จึงทำให้เกิดควันและฝุ่นจำนวนมากสะสมอยู่ภายในห้อง ทำให้เครื่องตรวจจับควัน สามารถตรวจจับฝุ่นควันได้ ได้ทำให้ระบบดับเพลิงไพโรเจนทำงานและได้ปล่อยสารเคมีแอโรซอลออกมา ทำให้สารเคมีอันตราย แอโรซอลฟุ้งกระจายอยู่ในห้องที่เกิดเหตุ ทำให้พนักงานลูกจ้างและบุคคลอื่นที่จำเลยทั้งสามว่าจ้างมานั้นไม่สามารถมองเห็นและไม่มีเครื่องอุปกรณ์ป้องกันแก๊สและฝุ่นละอองสวมใส่ และไม่ทราบวิธีหลบหนีออกจากห้องที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถออกจากห้องดังกล่าวได้ จนสูดหายใจเอาสารเคมีอันตรายแอโรซอลเข้าไปในร่างกายจำนวนมาก เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 8 ราย เนื่องจากขาดอากาศหายใจ จากพิษคาร์บอนมอนออกไซด์ และทำให้นายฉัตรชัย ขันทอง ได้รับอันตรายสาหัส เหตุเกิดที่ แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กทม.
โดยวันนี้จำเลยที่ 1-10 และทนายความจำเลยเดินทางมาศาล โดยมีบุคคลใกล้ชิด รวมทั้งญาติของผู้เสียชีวิตมาร่วมฟังคำพิพากษา
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจนาย ณ.พงษ์ จำเลยที่ 1,นายอดิศร จำเลยที่ 2,นายจิระวัฒน์ จำเลยที่ 3,และ บริษัท เมก้าฯ จำเลยที่ 9 ได้ร่วมกันกระทำผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกจำเลยที่ 1,2,3 คนละ 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 9 ปรับเงิน 20,000 บาท
แต่จำเลยที่ 1,2,3 ไม่เคยต้องโทษมาก่อนอีกทั้งความประมาทที่เกิดขึ้นในการปิดระบบดับเพลิงเดิม ก็นอกเหนือจากความสามารถของจำเลย ดังนั้นจึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยโดยรอลงอาญาคนละ 2 ปีและให้ร่วมกันชดใช้เงินญาติผู้ตาย 3 รายที่เป็นโจทก์ร่วมด้วยรวม 2.1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีส่วนจำเลยที่ 4 - 8 และ 10 พิพากษายกฟ้อง
ที่มา: manager
0 comments:
Post a Comment