Tuesday, March 31, 2015

Tagged Under:

คนไทยมีหนี้สูงที่สุดในโลก-เศรษฐกิจกระตุกไม่ฟื้น!?

By: news media On: 8:16 PM
  • Share The Gag
  • “ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงในขณะนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะไทยเพียงแห่งเดียว ซึ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของไทยไม่สามารถกระตุ้นด้วยการบริโภคได้ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในดับสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 80 มากสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการประชานิยมของรัฐบาลก่อนหน้านี้ได้สร้างหนี้ให้เพิ่มขึ้นมาก หากกระตุ้นด้วยการบริโภคก็จะเพิ่มหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้นอีกซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก”
         
           “การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยตอนนี้ต้องเลิกกระตุ้นการบริโภค ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลงทุน และดูแลการส่งออก ซึ่งการแก้ไขปัญหาทั้งหมดต้องใช้เวลา ไม่สามารถแก้ให้ได้ผลภายใน 3-6 เดือน” นายสมหมายกล่าว และว่าการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพราะรายได้ภาษีของไทยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 18 ของจีดีพี เมื่อรวมรายได้รัฐวิสาหกิจอยู่ที่ร้อยละ20 ของจีดีพี เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วมีรายได้จากการเก็บภาษีถึงร้อยละ 40 ของจีดีพี ซึ่งการเก็บภาษีของไทยถือว่ายังน้อยกว่ามาก ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจทำได้ช้า
         
           นั่นเป็นคำพูดที่เปิดเผยความจริงอย่างตรงไปตรงมาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมหมาย ภาษี ที่กล่าวออกมาให้คนไทยได้ยินทั่วกัน แม้ว่าจะเป็นความจริงที่สัมผัสกันอยู่ แต่นี่คือความจริงที่เจ็บปวด เพราะยังมีสิ่งที่เขาได้ยอมรับออกมาอีกว่าเวลานี้มีหน่วยบริษัทได้มีการทยอยปลดคนงานออกไป เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย หลังจากมีปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจและการส่งออกที่ไม่ขยายตัว
         
           ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ และต้องยอมรับความจริงเศรษฐกิจของเรากำลังมีปัญหาและต้องร่วมมือกันแก้ไข เพราะส่วนสำคัญที่เป็นต้นตอของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ล้วนหมักหมมมาจากรัฐบาลในอดีตทั้งสิ้น และมาแตกดังโพละเอาในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
         
           สิ่งที่ปรากฏเห็นชัดในเวลานี้ก็คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของคนไทยที่ตามตัวเลขที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนำมาอ้างอิง ซึ่งก็ตรงกับตัวเลขของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่มีการรายงานกันก่อนหน้านี้ว่าเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ตัวเลขที่บอกว่าสูงถึงร้อยละ 80 คือสูงที่สุดในโลกเป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างยิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายประชานิยมที่ส่งส่งให้เกิดการบริโภค ส่งสริมให้คนเป็นหนี้ เป็นเพื่อการใช้จ่ายสิ่งของฟุ่มเฟือย ไม่ใช่ก่อหนี้เพื่อการลงทุน
         
           ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีก่อนทางกลุ่มสหพัฒน์ได้เคยรายงานภาวะเศรษฐกิจว่าอยู่ในขั้นเลวร้ายที่สุด คนไทยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีเงินใช้จ่ายประจำวัน โดยสะท้อนออกมาเป็นดัชนี้ชี้วัดจากการขายสินค้าประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ว่ายอดขายตกฮวบ แบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นสินคืาที่โตสวนทางการวิกฤติเศรษฐกิจตลอด ตอนนั้นระดับผู้บริหารในเครือบริษัทดังกล่าวได้ชี้ว่าปัญหาหนี้ได้เริ่มรุนแรงมาตั้งแต่ช่วงนโยบายรถคันแรกเป็นต้นมา เพราะประชาชนไม่มีเงินเหลือใช้จ่ายประจำวัน แต่ตอนนั้นมีคนไม่น้อยไม่เชื่อ กล่าวหาเยาะเย้ยว่าที่ขายไม่ได้เพราะสินค้าไม่มีคุณภาพอะไรมั่ง คนหันไปกอนสินค้าอย่างอื่นกันแล้วสารพัด
         
           แต่มาวันนี้เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาเปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในโลก และยอมรับว่าการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลไม่ได้ผล เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ เพราะมีปัญหาหนี้สิน มีรายได้ไม่พอจ่ายนั่นเอง เป็นความจริงที่น่าเจ็บปวด
         
           อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเข้าใจถึงความตั้งใจดีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังพยายามแก้ปัญหากันอย่างหน้าดำคร่ำเครียด แต่ก็ยังมีข่าวร้ายประดังเข้ามาไม่ได้ขาดล่าสุดยังมาเจอสองเรื่องใหญ่เข้ามาอีก หากแก้ไขไม่ทันการณ์ ก็ยิ่งอ่วมอีก นั่นคือปัญหาที่องค์การการบินระหว่างประเทศลดเกรดมาตรฐานการบินของไทย ทำให้เวลานี้ ญี่ปุ่น ตามมาด้วยจีนและเกาหลีใต้ต่างระงับเที่ยวบินในประเภทเช่าเหมาลำ ห้ามการเพิ่มเที่ยวบิน เปลี่ยนเส้นทางบินใหม่ มีแนวโน้มต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัวไปได้ดี และเรื่องถูกขึ้นบัญชีเรื่อง “การค้ามนุษย์” ที่อาจกระทบต่อสินค้าส่งออกทั้งสินค้าประมงและสินค้าส่งออกประเภทอื่นตามมาอีก
         
            ถึงได้บอกว่าถึงเวลาที่จะต้องทำการปฏิรูปกันทุกด้านกันอย่างขนานใหญ่ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการสงฆ์ที่เน่าเฟะ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ เมื่อเรากำลังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ มีปัญหาเรื่องปากท้องเผชิญแบบหนักหน่วงกันอยู่แบบนี้ นี่คือตัวการสำคัญในการทำลายศรัทธาของผู้นำและรัฐบาล เพราะถ้าแก้ปัญหาไม่สำเร็จหรือไม่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกดีขึ้น เรื่องอื่นคงไม่ต้องไปพูดถึง สะดุดแน่นอน!!

    ที่มา,http://manager.co.th/

    0 comments:

    Post a Comment