คณะกรรมการบริหารกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 ว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวปี 2558 หลังจากชะลอลงในช่วงก่อนหน้าจากเหตุการณ์ทางการเมือง โดยขยายตัว 2.8% ส่วนเศรษฐกิจระยะข้างหน้า คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยขยายตัว 3% ในปี 2559 และ 3.2% ในปี 2560 ซึ่งยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน รวมทั้งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอดีต
อย่างไรก็ตามปัจจัยพื้นฐานที่เข้มแข็งช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกได้ โดยเงินสำรองระหว่างประเทศและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศมีสัดส่วนต่ำจะช่วยรองรับผลกระทบจากความอ่อนแอและความไม่แน่นอน ในภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก
นอกจากนี้ระดับหนี้สาธารณะที่ไม่สูง การมีฐานนักลงทุนที่หลากหลายและภาคการธนาคารที่มีฐานะเงินกองทุนในเกณฑ์ดี รวมถึงสถาบันที่ดูแลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยรักษาความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจไทย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันเริ่มปรับสูงขึ้นแต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากการบริโภคในประเทศยังอ่อนแอ สำหรับความท้าทายระยะต่อไปมาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย และข้อจำกัดของโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอุปสรรคต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย
ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบันมีความเหมาะสม โดยระยะต่อไปแม้จะยังสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้เพิ่ม แต่ควรคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการสนันสนุน การขยายตัวของเศรษฐกิจกับการดูแลเสถียรภาพการเงิน รวมถึงการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายในยามจำเป็น
พร้อมกันนี้คณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟชมเชยกรอบการดำเนินนโยบายการเงินของไทยที่มีมาตรฐานความโปร่งใสสูง และเสนอแนะให้ทางการสื่อสารถึงความตั้งใจที่จะดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายระยะปานกลาง ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพช่องทางการส่งผ่านนโยบายให้ดียิ่งขึ้น พร้อมแนะนำให้คงการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นเป็นปราการด่านแรก (first line of defense) เพื่อช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก
นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนไทยให้ใช้มาตรการ macroprudential ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งสนับสนุนความพยายามของภาครัฐในการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) รวมทั้งการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานกำกับต่างๆ ในการพัฒนากรอบการดำเนินมาตรการ macroprudential รวมถึงปรับปรุงกลไกป้องกันและแก้ไขวิกฤติ (crisis prevention and resolutionmechanisms) นอกจากนี้ คณะกรรมการฯเน้นย้ำให้ทางการเฝ้าดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risks) ที่อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงของกลุ่มธุรกิจการเงิน และหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตามทางการต้องร่วมกันดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเน้นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (structural transformation) การพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาการฝึกสอนอาชีวศึกษารวมทั้งการบรรเทาผลกระทบของปัญหาสังคมผู้สูงอายุด้วยการปฏิรูประบบบำนาญ ทั้งนี้ การยกระดับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ความคืบหน้าของการรวมตัวทางการค้าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าเป็นเรื่องดีที่ไทยกำลังประเมินผลกระทบของการเข้าร่วมความตกลง Trans-Pacific Partnership ในระยะต่อไป
ที่มา: naewna
0 comments:
Post a Comment